จาก “โฆษณาชวนเชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งทางออนไลน์ รวมไปถึงป้ายโฆษณา โดยสถิตินี้สะท้อนถึง “พิษภัย-อันตราย” จากการ “โฆษณาเกินจริง” ซึ่งสังคมไทย-คนไทยยังคงจำเป็นต้อง “เฝ้าระวัง-ระมัดระวัง”…

ระวัง “ตกเป็นเหยื่อโฆษณาลวง”…

ที่ “อวดอ้างแอบอ้างสรรพคุณเกินจริง”

ประชาชน “จำเป็นต้องรู้ให้เท่าทันเล่ห์”

เกี่ยวกับ“ปัญหาโฆษณาเกินจริง” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนในวันนี้ นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่สังคมไทยต้องใส่ใจสนใจ โดยเฉพาะเกี่ยวกับ “ผลิตภัณฑ์เสริม-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ที่ทางหน่วยงาน อย. ได้มีการตรวจสอบพบกว่า 2,500 คดีในปีที่แล้ว ซึ่ง ผู้หลงเชื่อไม่เพียงจะเสียเงินโดยไม่ได้รับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจริงหรือตรงกับที่อวดอ้าง กรณีนี้ยังอาจจะทำให้เกิด “อันตรายต่อสุขภาพ” อีกด้วย!! โดยปัจจุบันพบแนวโน้มกรณีการ “โฆษณาเกินจริง” แบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้หลาย ๆ หน่วยงานจำเป็นต้องออกมา “กวดขัน-คุมเข้ม” เพิ่มขึ้น และก็รวมถึงการ…

“ให้คำแนะนำ-ให้ข้อมูล” กับประชาชน

สำหรับ “คำแนะนำ” เพื่อ “ป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ” จาก “โฆษณาเกินจริง” นั้น กรณีนี้ กสทช. หรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ก็ได้มีการจัดทำแนวทางเรื่องนี้เผยแพร่เพื่อให้ประชาชนได้นำไปใช้เป็น “หลักป้องกันตัว” ผ่านบทความชื่อ “อย่าหลงเชื่อจะตกเป็นเหยื่อโฆษณาเกินจริง” ซึ่งได้มีการระบุถึงสถานการณ์ดังกล่าวนี้ไว้ โดยเน้นโฟกัสไปที่ “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” และ “ยา” ที่มีการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่ง…สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ และยานั้น การที่จะทำการโฆษณาสู่สาธารณะได้ ต้องได้รับอนุญาต จาก อย.เสียก่อน…

หาก “ไม่มีการยืนยันแน่ชัด” กรณีนี้…

ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ไม่ปลอดภัย”

ทั้งนี้ จากแนวทางดังกล่าวก็ยังได้มีการ “แนะนำวิธีสังเกตข้อความโฆษณา” ไว้ด้วยว่า…หากประชาชนพบข้อความที่มีลักษณะเหมือน หรือใกล้เคียงกับลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ตั้งสมมุติฐานเอาไว้ก่อนเลยว่า…เป็น โฆษณาที่หลอกลวง หรืออวดอ้างเกินจริง นั่นคือ… “รักษาได้หายขาด-ยอดเยี่ยม-หายแน่-พิชิตโรคร้าย” โดยข้อความในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นถ้อยคำที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาทุกชนิด และนอกจากนี้ กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ยานั้น หากพบว่า…ในการโฆษณามีรูปแบบของการเชิญชวนให้ซื้อด้วยวิธี ลด-แลก-แจก-แถม หรือ มีการออกสลากรางวัล กรณีเช่นนี้…

ให้ประชาชนตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า…

อาจ “เป็นการโฆษณาที่ไม่ถูกกฎหมาย”

นอกจากนี้ กับกลุ่ม “ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ” หากมีการโฆษณาในรูปแบบที่พยายามชี้ให้เห็นถึง “สรรพคุณที่มีมากกว่าอาหาร” เช่น โฆษณาด้วยข้อความอย่าง… “รักษา-บำบัด-บรรเทา-ป้องกัน” โรคต่าง ๆ ได้ กรณีนี้ก็เช่นกัน ให้ตั้งข้อสังเกตว่าผลิตภัณฑ์นั้น อาจเข้าข่าย “โฆษณาชวนเชื่อเกินจริง” ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะดังกล่าวมักพบว่ามีการนำบุคคลที่มีชื่อเสียง บุคลากรการแพทย์ มาใช้อ้างอิง เพื่อที่จะทำให้ดูน่าเชื่อถือ …นี่ก็เป็น “หลักสังเกต” ที่ได้มีการแนะนำไว้

ขณะที่ทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ก็มีการให้คำแนะนำกับผู้บริโภคในเรื่องนี้ไว้เช่นกัน ผ่านบทความที่จัดทำโดย จิรัชญา หล่ายสอง นักวิชาการ สคบ. ที่ระบุไว้ในบทความนี้ว่า… การพิจารณาในการตัดสินใจซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่าง ๆ ถือเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคโดยตรง ที่จะต้องพยายามใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจด้วยความละเอียดรอบคอบ รวมถึงพิสูจน์ว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ “เป็นจริงหรือไม่??” ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการจะพิสูจน์นั้นถือเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้บริโภค แต่กระนั้นก็ยังมี “หลักการ-วิธีสังเกต” อยู่เช่นกัน เพื่อใช้ในการ “คัดกรองโฆษณา” ที่พบ โดย…

เน้นหนักที่ “หลักของความชัดเจน”

ทั้งนี้ “หลักความชัดเจน” ต่าง ๆ นั้นมีดังต่อไปนี้คือ… ต้องมีข้อความที่สามารถเห็น ฟัง หรืออ่าน ได้ชัดเจน, ต้องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ, ต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับไว้ด้วย หากข้อความโฆษณาดังกล่าวเป็นภาษาต่างประเทศ, ต้องยึดถือความเข้าใจของผู้บริโภคเป็นสำคัญ, ต้องแสดงปริมาณ ปริมาตร ขนาด จำนวน ส่วนประกอบสินค้า ให้ครบถ้วน และในกรณีที่มีการโฆษณาด้วยการอ้างอิงผลทดสอบหรือผลการทดลอง ต้องระบุชื่อสถาบันหรือหน่วยงานที่เป็นผู้ทดสอบ-ทดลองให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถสืบค้นได้ เป็นต้น

เหล่านี้ก็เป็น “คำแนะนำ-หลักสังเกต”

เพื่อ “ป้องกันตัว-ปกป้องคนใกล้ตัว”

มิให้ตกเป็นเหยื่อ “โฆษณาลวง”…

ที่ “เสียเงินแล้วยังอาจถึงตาย!!”.