ทั้งนี้ กับอุบัติเหตุทางถนน หรือ “อุบัติเหตุทางรถ” แม้ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดได้จากเหตุสุดวิสัย และในไทยก็ยังมีประเด็นชวนสงสัยว่า “ถนนไม่ปลอดภัย” เป็นปัจจัยเสริมเรื่องร้ายเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน?? แต่อย่างไรก็ตาม…การ “ประมาท” ในรูปแบบต่าง ๆ ก็ยังเป็น “ปัจจัยสำคัญ”

“ผู้ใช้รถใช้ถนน” ก็ “ต้องไม่ละเลย”…

ไม่ละเลยการ “เลือกที่จะไม่ประมาท”…

สืบเนื่องจากความร่วมมือระหว่างกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ บช.น. กับ ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) หรือ DMHT เกี่ยวกับการรณรงค์ลดอุบัติทางถนน ดื่มไม่ขับ ตามโครงการ Wrong Side of the Road ที่รวมถึงมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยนั้น วันก่อนทาง พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า… การป้องกัน “อุบัติเหตุทางถนน” จะมีประสิทธิภาพหากตระหนักรู้ถึงอันตรายและความเสียหายจากอุบัติเหตุ โดยที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่มีการสร้างความเข้าใจร่วมกัน และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด …ซึ่งการระบุดังกล่าวนี้จริงแท้ เช่นเดียวกับการระบุโดย ชัชฎา จันทรางศุ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร DMHT ที่ว่า… การสูญเสียจากการดื่มแล้วขับไม่ได้มีเพียงแค่ทางกายภาพหรือทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยัง สร้างความเสียหายทางจิตใจ อาชีพ ครอบครัว และสังคม อีกด้วย

และก็สืบเนื่องจากความร่วมมือดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน ก็ได้มีการจัดทำสื่อรณรงค์รูปแบบต่าง ๆ รวมถึงสื่อรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นป้ายข้อความ ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เห็นว่า “น่าสนใจ-ใช่เลย” โดยเฉพาะป้ายข้อความที่ว่า…

“อย่าเลือกทางผิด”

ทั้งนี้ กับความร่วมมือ 2 ฝ่ายข้างต้นนั่นก็ส่วนหนึ่ง ขณะที่ประเด็น “อย่าเลือกทางผิด” นี่ก็น่าจะยึดถือเพื่อปรับปฏิบัติกรณี “ไม่ประมาท” ในหลาย ๆ ส่วน รวมถึงตามที่ กรมการขนส่งทางบก มีข้อมูลคำแนะนำสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนในการเดินทางไกล โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล รวมถึงช่วง “เทศกาลสงกรานต์” ซึ่งการ “ไม่เลือกทางผิดโดยการประมาท” ก็เช่น…

ไม่ประมาทในการ เตรียมความพร้อมของรถ ที่ต้องตรวจเช็กทั้งระบบเครื่องยนต์ ระบบเบรก ระบบไฟ ระบบบังคับเลี้ยว เนื่องจากการใช้งานรถ ไม่ว่าจะ 2 ล้อ 4 ล้อ หรือมากกว่านี้ หากรถมีสภาพไม่พร้อม ผิดปกติ จะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกส่วนคือไม่ประมาทในการ ศึกษาเส้นทางก่อนเดินทาง ก่อนเดินทางควรมีการวางแผนล่วงหน้าในการเลือกใช้เส้นทางหลักหรือเส้นทางรองอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเส้นทางที่ไม่เคยผ่านจะต้องศึกษาว่ามีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน มีจุดอันตรายที่ต้องระวังในการใช้รถใช้ถนนอย่างไร และนอกจากนี้ ไม่ประมาทอีกส่วนที่จะชวนดูกันต่อไปนี่ก็ยิ่งสำคัญ คือ…

เตรียมความพร้อมของผู้ที่เป็นคนขับขี่

สำหรับในส่วนการเตรียมความพร้อมของคนขับขี่รถ นอกเหนือจาก ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และ เพิ่มความระวังเมื่อต้องขับขี่ในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย และในเวลากลางคืน แล้ว การ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อต้องขับขี่รถทางไกล ควรจะต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง และหากมีอาการเหนื่อยล้า หรือง่วงระหว่างขับขี่ ควรหยุดพักในจุดที่ปลอดภัย ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการ “หลับใน” ได้

กรณีนี้ก็ไม่ควรละเลย เพราะอันตรายเกิดได้รวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว การหลับใน หรือวูบหลับเพียง 3-5 วินาที รถจะวิ่งโดยปราศจากการควบคุมได้กว่า 100 เมตร ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้  ซึ่งหน่วยงานที่ให้ข้อมูลคำแนะนำก็ได้มีการแนะนำ “เคล็ดไม่ลับ ขับรถไม่หลับใน” ไว้ว่า…ก่อนเดินทาง 2-3 วัน ให้งดดื่มกาแฟ ชา โกโก้ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับ และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอนั้นก็ควรนอนให้เป็นเวลาสม่ำเสมอก่อนเดินทาง 2-3 วัน

การ “ไม่เลือกทางผิดโดยการประมาท” ในส่วน “ผู้ขับขี่รถ”ยังมีคำแนะนำเพิ่มอีก คือ… หลีกเลี่ยงยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ยาที่กดประสาท จิบน้ำบ่อย ๆ เตรียมของกินแก้ง่วง เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว ขณะขับขี่ต้องใช้ท่านั่งให้ถูกต้อง กรณีรถยนต์ต้องไม่เอนเบาะมากเกินไปเพราะจะเร่งให้ง่วงนอนง่ายขึ้น และการขับขี่ทางไกลควรหยุดพักรถทุกระยะ 150 กม. หรือทุก 2 ชม.

และ “ดวงตา-การมอง” ก็สำคัญ ตาแห้ง ตาล้า ตาแสบ ตาปวด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งนอกจากการพักสายตาเมื่อหยุดพักรถ หากขับขี่ตอนแดดแรงควรสวมแว่นกันแดด ผู้ขับขี่ต้องไม่ทำกิจกรรมที่ต้องละสายตาจากเส้นทาง เช่น เล่นโทรศัพท์มือถือ ดูโทรทัศน์ ส่วนผู้มีปัญหาสายตา ผู้สูงอายุ ไม่ควรขับขี่รถด้วยตนเอง โดยเฉพาะช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดี

ทั้งนี้ ปิดท้าย “อย่าเลือกทางผิด” ในส่วน “ผู้ขับขี่รถต้องไม่เลือกทางผิดโดยการประมาท” กับประเด็นที่ “ยิ่งต้องเน้นย้ำ” กับเรื่องที่ผู้ขับขี่รถไม่ควรทำดังที่ก็รู้ ๆ กันดี เพราะทั้งผิดกฎหมายและทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีผู้เลือกผิด ประมาท คือ “ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่รถ” ซึ่งที่ถูกต้อง “ไม่เพียงเมาไม่ขับ…ต้องดื่มไม่ขับ” โดย “สงกรานต์-เทศกาลสุข” ก็ต้องใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก ไม่เช่นนั้น “แทนที่จะสุข…ก็จะซวย” อาจ “ซี้” อาจ “ซวยเพราะทำผู้อื่นซี้-เสียหาย”

ดังนั้น ยัง “เลือกได้” ก็ต้อง “เลือกให้ถูก”

ทั้ง “ช่วงสงกรานต์” และ “ทุก ๆ ช่วง”

“อย่าเลือกทางผิด-อย่าเลือกซวย!!”.