นั่นคือกรณีที่โรงเรียนเอกชนหลายแห่งออกมาระบุทำนองว่า กำลังเกิดปัญหาสภาพคล่อง??… ทั้งนี้ ประเด็นที่ยิ่งน่าพินิจก็คือ… พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยตัดสินใจให้ลูกหลานออกจากโรงเรียนเอกชนเพราะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว!! โดยการตัดสินใจเช่นนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ หรือนับแต่มี “วิกฤติโควิด-19 ระบาด” จนทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากเกิดภาวะ “งานหาย-รายได้หด” จนต้อง “ให้ลูกหลานย้ายโรงเรียน” จากเดิมที่เรียนโรงเรียนเอกชน ก็ “ให้เปลี่ยนเป็นเรียนโรงเรียนรัฐ” ซึ่งกับเรื่องนี้นั้น…

ก็ “ฉายภาพ” ให้เห็น “ปัญหาใหญ่”…

ปัญหา “เหลื่อมล้ำ” ที่ “มีอยู่หลายมิติ”

ที่ “มีผลกระทบกับชีวิตเด็กไทย” ด้วย!!

กับ “ปรากฏการณ์” ดังกล่าวข้างต้น…แม้แต่ผู้บริหารหน่วยงานด้านการศึกษาของไทยอย่าเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ก็ได้ระบุไว้ว่า…ในปี 2566 นี้ จากปัจจัยเศรษฐกิจ ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เด็ก ๆ หลายคนจำต้องย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมของตนเองตามพ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ ครอบครัวที่ต้องตัดสินใจกลับถิ่นฐานเดิมเนื่องจากเกิดปัญหาเกี่ยวกับสภาพทางการเงิน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องย้ายที่เรียนของลูกหลาน โดยมีทั้งการให้ย้ายไปเรียนใกล้บ้าน รวมถึง ให้ลูกหลานลาออกจากโรงเรียนเอกชนแล้วสมัครเข้าเรียนโรงเรียนรัฐ…

ทั้งนี้ กับปรากฏการณ์เรื่องนี้ กับกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้ลูกหลานลาออกจากสถานศึกษาเอกชนเดิมแล้วเข้าเรียนโรงเรียนในท้องถิ่น หรือเรียนโรงเรียนรัฐแทนโรงเรียนเอกชนนั้น ทาง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ได้วิเคราะห์และสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึง “การปรับตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองในยุคนี้” ที่จำเป็นต้อง “รัดเข็มขัด-ลดค่าใช้จ่าย” ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดได้ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนใหญ่ก็มักเลือกตัดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่เลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกหลาน

“ปกติ ยุคที่การเงินฝืดเคือง พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะรัดเข็มขัดกับเรื่องอื่นแทน ไม่ค่อยมาปรับลดเงินด้านการศึกษาของลูกหลาน เพราะมองเป็นอนาคตของลูกหลาน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า…พ่อแม่ผู้ปกครองยุคนี้ต้องตัดใจให้ลูกหลานลาออกจากโรงเรียนเอกชนมาเรียนโรงเรียนรัฐแทน โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน แม้เกรดจะรองลงมาก็ต้องยอม เพราะสู้ไม่ไหว!!” …นี่เป็นภาพ “ปรากฏการณ์” ที่ทาง รศ.ดร.สมชาย สะท้อนมา ซึ่งเรื่องนี้…

นับว่า… “เป็นเรื่องปกติที่ไม่ธรรมดา!!”

นอกจากนี้ นักวิชาการท่านเดิมยังสะท้อนมาอีกว่า… ปัจจัยสำคัญของเรื่องนี้ คือปัจจัยที่เกิดจาก “ปัจจัยเศรษฐกิจ” ที่ถึงแม้ว่าปัจจุบันกำลังกลับมาเริ่มฟื้นตัว แต่กับคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับอานิสงส์หรือผลของการฟื้นตัวนี้ โดย คนไทยจำนวนมากยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากกันอยู่ สังเกตได้จาก “ตัวเลขหนี้ครัวเรือน” ที่ตีคู่ “พุ่งสูงขึ้น” พร้อม “ค่าครองชีพ” ซึ่งในมุมมองตนเองนั้น สาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตอนนี้…

“เป็นเพราะเป็นการฟื้นตัวแบบช้า ๆ…

แถมฟื้นตัวเป็นกระจุก…ไม่ได้ฟื้นทั่วถึง”

ทั้งนี้ รศ.ดร.สมชาย ยังระบุอีกว่า… เศรษฐกิจไทยตอนนี้ เป็นการฟื้นตัวในลักษณะที่ “ช่องว่างความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันมาก” และไม่ได้ฟื้นตัวกระจายไปในทุก ๆ ภาคส่วน ฉะนั้น ประชาชนระดับล่าง รวมถึงระดับกลาง ยังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากเหมือนเช่นเดิม แม้มีการระบุว่า เศรษฐกิจไทยดีขึ้นแล้ว ซึ่งก็ดีขึ้นจริง แต่แค่บางจุด แถมยังเป็นการฟื้นตัวแบบช้า ๆ และกับคำถามที่ว่า…จะฟื้นตัวดีต่อไปอีกหรือไม่นั้น?? เรื่องนี้คงต้องติดตามดูต่อไปในช่วงครึ่งปีหลังปี 2566 ซึ่งถึงดีขึ้น ก็คงไม่เท่าเมื่อ 4 ปีก่อนแน่นอน ดังนั้น “คนไทยก็ยังคงต้องทำใจและอดทน”

และจาก “ผลพวงปัจจัยเศรษฐกิจ” ที่ขณะนี้ยังมีปัญหาทั้งเรื่องของการ “ฟื้นตัวช้า” และ “ฟื้นตัวกระจุก” ด้วยปัจจัยนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ เกิดวิกฤติชีวิตขึ้นในประชาชนระดับล่างและระดับกลางเพิ่มมากขึ้น จนไปกระทบกับอนาคตการศึกษาของเด็ก เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านี้จำใจต้องเซฟเงินโดยตัดสินใจ “ลดเกรดที่เรียนของลูกหลานลง” ด้วยการให้ลาออกจากโรงเรียนเอกชนที่เคยเรียนและไปสมัครเรียนในโรงเรียนรัฐที่มองว่ามีมาตรฐานใกล้เคียงกันแทน หรือเน้น ให้ลูกหลานเรียนโรงเรียนรัฐใกล้บ้านเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเรื่องนี้ก็ย่อมจะมีผลกระทบกับเด็ก ๆ…

“ที่ผ่านมา คนชั้นกลางมักจะยอมเหนื่อยเพื่อที่จะส่งลูกให้ได้เรียนโรงเรียนเอกชน แต่พอเจอเศรษฐกิจแบบนี้ ก็มีส่วนที่ ต้องส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนรัฐด้วยความจำใจ… นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมผู้ปกครองชนชั้นกลางยอมเซฟค่าใช้จ่ายโดยเลือกให้ลูกย้ายออกจากโรงเรียนเอกชนแล้วเรียนโรงเรียนรัฐแทน” …ทาง รศ.ดร.สมชาย ระบุทิ้งท้าย

นี่ “ฉายภาพ” มิติ “เหลื่อมล้ำที่ซ้ำซ้อน”

จนมี “ปรากฏการณ์ปกติที่ไม่ธรรมดา”

“กระทบทั้งผู้ใหญ่-เด็กไทยวัยเรียน!!”.