สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปัญหาฝุ่นพิษที่เกินค่ามาตรฐานที่ปกคลุมยังคงต้องเฝ้าติดตาม ทั้งนี้ ฝุ่นละอองที่ลอยในอากาศวายร้ายฝุ่นจิ๋ว ส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และผิวหนัง…

สืบเนื่องจากงานวิจัยพันธุ์พืชลดมลพิษ ซึ่งพบว่าพืชจำนวนมากสามารถช่วยบำบัดฝุ่นและมลพิษ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เล็งเห็นถึงปัญหาฝุ่น มลพิษทางอากาศ โดยที่ผ่านมา สนับสนุนทุนวิจัยนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบจากฝุ่นพิษ ชูโมเดล สวนลดฝุ่น PM2.5 และเฝ้าระวัง PM2.5 “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” ซึ่งประกอบด้วยต้นไม้ 3 ระดับ คือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทั้งนี้ ชวนรู้จักกับพืชพันธุ์ไม้ที่มีศักยภาพดักจับฝุ่น และกลไกการบำบัดฝุ่นด้วยพืช ศึกษาการจัดสวนภูมิทัศน์พรรณไม้ ลดฝุ่น PM2.5 

รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี และหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัย Remediation สถาบันพัฒนาฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งศึกษาวิจัยร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความรู้เล่าถึงงานวิจัยว่า ส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจกันว่าปลูกต้นไม้เยอะ ๆ จะช่วยลดฝุ่น แต่ในงานวิจัยครั้งนี้ ทีมวิจัยจากทั้งสองมหาวิทยาลัย เราตั้งใจศึกษา ทำอย่างไร ให้ปลูกอย่างเหมาะสม ไม่เยอะหรือน้อยกว่าเกินไป แต่มีประสิทธิภาพในการลดฝุ่นได้ดี

อีกทั้งมีงานวิจัยพบว่า การปลูกต้นไม้เยอะ ๆ จะเป็นการบล็อกทิศทางลม จะทำให้ฝุ่นสะสมในเรือนยอดต้นไม้ แต่ทั้งนี้การบำบัดมลพิษใด ๆ ก็ตาม การบำบัดจะมีอยู่ 3 ส่วนคือ บำบัดนับจากต้นตอที่เกิดขึ้น บำบัดระหว่างทางผ่านของมลพิษ และส่วนสุดท้ายคือ บำบัดเมื่อมลพิษเกิดขึ้น ทั้งนี้การแก้ปัญหา PM2.5 คงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นต้นไม้เท่านั้น คงต้องเริ่มจากต้นทาง ลดการเผา ลดควัน และความร่วมมือร่วมกันในการลดมลพิษ

รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร

อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ รศ.ดร.ชัยรัตน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า สำหรับต้นไม้มีข้อดีหลายประการ คงไม่ได้บอกว่าต้นไม้เป็นเทคโนโลยีที่รวดเร็วที่จะนำมาบำบัดฝุ่น แต่ต้องบอกว่า ต้นไม้เป็นเทคโนโลยีที่มีความยั่งยืน ด้วยที่ไม่ต้องใช้พลังงานใด ๆ ดังนั้นจึงเกิดโครงการศึกษาวิจัยฯ โดยศึกษานับแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ต้นไม้

“ในเรื่องของสายพันธุ์ต้นไม้จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก ต้นไม้ยืนต้น อย่างเช่น ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นจามจุรี ต้นชงโค ต้นสัก จะมีประสิทธิภาพที่ดี ต่อมาเป็น ไม้พุ่ม พบว่า ไทรเกาหลี  ต้นโมก เป็นไม้ที่มีใบขนาดเล็กและมีใบจำนวนมาก มีความเหมาะสมสำหรับการปลูก และกลุ่ม ไม้ประดับ โดยกลุ่มนี้จะมีทั้ง ต้นเฟิร์น โดยแทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น เฟิร์นบอสตัน เฟิร์นขนนก ต้นพรมต่าง ๆ เช่น พรมกำมะหยี่ พรมญี่ปุ่น พรมออสเตรเลีย โดยไม้เหล่านี้จะมีขนใบ และยังมี กลุ่มต้นไม้ที่มีใบขรุขระ อย่างเช่น ต้นพลูปีกนก ต้นคล้าแววมยุรา ต้นคล้ากาเหว่าลาย ฯลฯ เป็นพืชที่ช่วยลดมลพิษ”

จากนั้นเมื่อเราทราบชนิดของสายพันธุ์ต้นไม้ ในงานวิจัยศึกษาต่ออีกว่า ในภูมิภาคอื่น ๆ ภาคเหนือ ภาคใต้ ฯลฯ หากไม่มีต้นไม้เหมือนกรุงเทพฯ จะสามารถนำต้นไม้ที่มีลักษณะใกล้เคียงมาใช้แทนได้หรือไม่ ซึ่งก็พบว่า สามารถใช้ได้ โดยเลือกต้นไม้ที่มีใบขนาดเล็ก ลักษณะเป็นเรือนพุ่ม เลือกพืชที่มีไขมันเคลือบบนใบค่อนข้างหนามีใบขรุขระหรือใบมีขน นำมาใช้แทนต้นไม้ที่มีรายชื่อที่กล่าวมาได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่าในเมือง ได้มีการศึกษาวิจัยและเห็นภาพของการนำต้นไม้หลายพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์ในการสร้างระบบนิเวศในป่าเมือง ทำให้ทราบชนิดพืชที่มีศักยภาพในการลดฝุ่น PM2.5 และกลไกการบำบัดฝุ่นด้วยพืช เกิดเป็นแนวคิดการสร้างแบบจำลองระดับเมืองหรือระดับถนน โดยอ้างอิงจากข้อมูลอัตราการไหลและทิศทางการไหลของอากาศในพื้นที่จริง เพื่อให้เห็นรูปแบบการไหลเวียนอากาศตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ทีมวิจัยศึกษาถึงลักษณะการปลูกเพื่อให้มีประสิทธิภาพ การปลูกจะออกแบบเป็น 3 ชั้น แต่ทั้งนี้ก็พิจารณาบริบทของพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมในการปลูกลักษณะนี้หรือไม่ และจากการสนับสนุนจาก วช. ในการนำเสนองานวิจัยได้ออกแบบจัดสวน ปลูกพืชตามข้อมูลวิจัยจัด “สวนภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” บริเวณด้านหน้าสำนักงานฯ เพื่อทดสอบและติดตามผล โดยสวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” ประกอบด้วยต้นไม้ 3 ระดับ ได้แก่ ไม้ขนาดใหญ่เป็นต้นไม้เดิมจะปกคลุมชั้นเรือนยอด เช่น ราชพฤกษ์ ประดู่บ้าน และ พิกุล โดยไม้ที่นำมาปลูกเพิ่มจะเป็นไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก

โดยทั่วไปฝุ่นละอองเล็ก PM2.5 จะถูกพัดพาไปตามกระแสอากาศ สวนแห่งนี้จึงออกแบบให้กระแสอากาศที่มาจากถนนไหลไปตามแนวพื้นที่ว่าง เกิดจากการปลูกต้นไม้ที่มีใบขนาดเล็กทรงโปร่งเป็นแนวดักลมเมื่ออากาศเคลื่อนที่ช้าลงทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกดักจับด้วยใบพืชที่มีประสิทธิภาพในการลด PM2.5 ส่วนความชื้นจากการคายน้ำของพืช จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับฝุ่นละอองขนาดเล็กให้เคลื่อนที่ลดลง เพิ่มเวลาให้พืชช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้

นอกจากนี้ภายในสวนยังมีโซนจัดวางต้นไม้กันฝุ่นได้แก่ โซนลิ้นมังกรสู้กลิ่น พันธุ์ไม้อวบน้ำ อาทิ ต้นลิ้นมังกร ต้นสับปะรดสี ที่มีสรรพคุณช่วยลดสารระเหย กลิ่นเหม็นและฝุ่นได้ดี และยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางคืน ทั้งนี้ จากงานวิจัยเรามีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง

หากให้แนะนำต้นไม้ที่มีคุณสมบัติดักจับฝุ่นที่ดีควรมีใบขนาดเล็กมีความละเอียดของใบสูง เลือกสายพันธุ์พืชที่มีขนใบ ทั้งพิจารณาพื้นที่ปลูกถ้ามีพื้นที่จำกัดบริเวณหน้าต่างหากพอมีพื้นที่สามารถเสริมต้นไม้ได้ ปลูกต้นพรมกำมะหยี่ พลูต่าง ๆ นำไปแขวนหรือห้อยไว้ก็เป็นอีกทางเลือกช่วยลดฝุ่น โดยสามารถทำได้เองที่บ้าน ฯลฯ

“ต้นไม้เหล่านี้นอกจากให้ความเขียวให้ความสดชื่นสบายตา หลายชนิดมีดอกให้ชม อย่างพรมกำมะหยี่ ก็มีดอกสีสันสวย เป็นดอกเล็ก ๆ แต่อย่างไรแล้ว ต้นไม้ที่กล่าวมา ไม่ได้ลดแค่ฝุ่นแต่ช่วยลดสารเคมีอื่น ๆ ได้ด้วย อย่าง ต้นเดหลี กวักมรกต เป็นต้นไม้ที่มีประสิทธิภาพดีสามารถบำบัดสารพิษในบ้าน ส่วน การจัดสวนลดฝุ่นในภาพรวม จากที่กล่าวใช้พันธุ์ไม้ได้หลากหลายชนิดที่มีคุณสมบัติดักจับฝุ่นและกรองอากาศ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ มีไม้ประดับ จากนั้นห่างออกมาปลูกไม้พุ่มและไม้ใหญ่ หันไปทางทิศทางลมที่ลมพัดนำฝุ่นเข้ามาในพื้นที่ซึ่งก็จะช่วยลดฝุ่นได้”

จากที่แนะนำ ต้นโมก ต้นไทรเกาหลี ต้นชาดัด สามารถปลูกเป็นแนวรั้วช่วยลดฝุ่นได้นั้น อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ รศ.ดร.ชัยรัตน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า สำหรับกลไกการบำบัดฝุ่นของต้นไม้ บนใบไม้จะมีเมือกมีไข อีกทั้งยังมีความชื้นจากใบ โดยใบไม้หลายชนิด ถ้าสังเกตในช่วงเวลาเช้า จะเห็นน้ำค้างที่ใบไม้

“ใบไม้หลายชนิดสามารถจะปล่อยหยดน้ำขนาด เล็กซึ่งสามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ในอากาศได้ ก็เป็นอีกกลไก ดังนั้นต้นไม้ที่มีใบเล็ก ๆ และมีใบจำนวนมากจะมีกลไกหลายชนิด เป็นข้อได้เปรียบ อีกทั้งยังมีคำถามที่น่าสนใจว่า การจัดสวนธรรมดากับจัดสวนลดฝุ่นมีความต่างกันหรือไม่ ทั้งนี้การจัดสวนลดฝุ่นอาจต้องมองถึงเรื่องทิศทางลม จัดวางต้นไม้ให้เหมาะสมกับทิศทางลมในช่วงฤดูกาล แต่อย่างไรแล้ว การจัดสวนลดฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นสวนในบ้าน หรือสวนในเมืองก็สามารถเติมความสวยงามให้กับพื้นที่นั้น ๆ ได้

จากที่กล่าวการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ เรามีความร่วมมือกับหลายภาคส่วน และดำเนินงานมายาวนานกว่า 10 ปี ทั้งมีผู้สนับสนุนอีกหลายหน่วยงาน เป็นความร่วมมือร่วมกันทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เห็นถึงความสำคัญ ร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด นอกจากนี้จากงานวิจัยที่ศึกษาต่อเนื่องมายังได้ขยายผล เกิดนวัตกรรมที่ตามมาอย่างเช่น กำแพงต้นไม้ลดมลพิษ ซึ่งเป็นการผสมผสานงานทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน ฯลฯ โดยทั้งหมดอยู่ในกรอบของงานวิจัย ที่นำต้นไม้มาใช้เพื่อสร้างความสมดุล

หลังจากนี้ จะเป็นงานวิจัยในกลุ่มการดูแลรักษาและกระตุ้นประสิทธิภาพ อย่างเช่น สวนลดฝุ่นที่เป็นต้นแบบจะศึกษาถึงการดูแลรักษาอย่างไร กระตุ้นประสิทธิภาพอย่างไร ซึ่งจะมีการศึกษาต่อเนื่องไป เป็นอีกส่วนหนึ่งร่วมลดฝุ่นพิษ ทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ความสดชื่น.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ