ทั้งนี้ การคิดสั้นนำสู่การ “สูญเสียหลายมิติ” ทั้ง สูญเสียชีวิต เกิดการ สูญเสียระดับครอบครัว และก็ยังส่งผลให้เกิดการ สูญเสียในมิติด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมในภาพรวมด้วย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสำคัญ พยายามแก้ไข รวมถึงป้องกัน แต่ที่ผ่านมา เรื่องน่าเศร้าเรื่องนี้มักถูกมองเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือไม่เช่นนั้นก็มองเป็นเรื่องทางจิตเวช ซึ่งถึงยุคโควิด-19 ที่คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น…

ก็ทำให้ “ต้องหันมาคิดทบทวนปัจจัย”

ปัจจัยคิดสั้น “อาจจะมีอยู่หลายปัจจัย”

ทั้งนี้ กับ “แนวทาง-วิธีการ” เพื่อที่จะ “ลดปัญหาฆ่าตัวตายในคนไทย” นั้น วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อนต่ออีกส่วน-อีกมุม ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีแค่หน่วยงานด้านสุขภาพจิตโดยตรงที่พยายามหากระบวนการป้องกัน แต่กับ “มุมวิทยาศาสตร์-นวัตกรรม” นั้น ก็มีภาคส่วนที่พยายามผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อศึกษาค้นคว้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ด้วย อย่างการสนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ที่มองว่า…ไทยสามารถ “นำองค์ความรู้ทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ป้องกันการฆ่าตัวตาย” ได้ จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนการจัดทำโครงการต่าง ๆ ทางด้านนี้ โดยมี ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยการแก้ปัญหา…

สำหรับรายละเอียด…เรื่องนี้เกิดขึ้นภายใต้ โครงการวิจัย “การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19” เนื่องจากในช่วงการระบาดหนักของโควิดที่ผ่านมานั้น มีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยที่ได้รับผลกระทบซ้ำเติม ทั้งจากปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม จน “เกิดแรงกดดันในชีวิตสูง” และสุดท้ายก็มีส่วนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายหนีปัญหา ทั้งนี้ สถิติฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า…แต่ละปีทั่วโลกมีผู้ที่คิดฆ่าตัวตายมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และก็มีอัตราเฉลี่ยของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที

ขณะที่ใน ประเทศไทย เดิมอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6-6.5 ต่อประชากร 1 แสนคน แต่ปัจจุบันตัวเลขนี้มีอัตรา เพิ่มขึ้นเป็น 7-7.5 ต่อประชากร 1 แสนคน …นี่เป็น “สถิติที่มีนัยสำคัญ” ซึ่ง สะท้อนให้เห็นแนวโน้มฆ่าตัวตาย…

อีกกรณีปัญหาที่ “สังคมนิ่งเฉยไม่ได้!!”

อนึ่ง เกี่ยวกับโครงการศึกษาวิจัยข้างต้น ที่ดำเนินการโดยศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ โครงการนี้จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อ พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับนำมาใช้แก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายของประเทศไทย โดย นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ให้ข้อมูลไว้ว่า…ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายของคนไทย มักจะมีการมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาแค่เพียงมิติเดียว…นั่นคือด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ โรคเรื้อรัง และโรคจิตเวช ซึ่งทุกวันนี้จิตแพทย์เองส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจว่าการฆ่าตัวตายต้องมาจากโรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวช ทำให้แนวทางในการดูแลแก้ไขและป้องกัน จึงตกอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสุขภาพจิต และกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น…

ส่งผลให้ “การแก้ปัญหาทำได้ไม่ทั่วถึง”        

ทั้งนี้ การฆ่าตัวตายมิได้เกิดจากปัจจัยข้างต้นเพียงอย่างเดียว แต่อาจ “มีองค์ประกอบอื่น” ที่เป็น “ปัจจัยกระตุ้น” นี่จึงทำให้เกิดมุมมองใหม่ว่า…สาเหตุการฆ่าตัวตายนั้น นอกจากปัญหาส่วนบุคคล ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมก็สามารถเป็นแรงผลักเช่นกัน ดังนั้น ความรับผิดชอบในการดูแลแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของบุคลากรหรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ควรร่วมมือกัน นี่จึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อพัฒนารูปแบบและความร่วมมือที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การป้องกันกรณีการฆ่าตัวตาย

งานศึกษาวิจัยภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ ทาง นพ.ณัฐกร จำปาทอง ให้ข้อมูลไว้ว่า…ประกอบด้วย 5 โครงการย่อย ๆ ได้แก่ โครงการที่ 1 การออกแบบระบบความร่วมมือ เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา, โครงการที่ 2 การพัฒนาระบบโฟกัส เพื่อให้ฝ่ายสาธารณสุขค้นพบเครื่องมือและวิธีการที่จะรับมือกับปัญหาการฆ่าตัวตายในแต่ละพื้นที่ รวมถึงพัฒนาระบบคัดกรองเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย, โครงการที่ 3 การสร้างระบบเสริมสร้างพลังใจและพลังความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อเป็นวัคซีนทางใจสร้างภูมิต้านทานในระดับชุมชน ที่จะช่วยส่งเสริมการ “ป้องกันการฆ่าตัวตาย”

โครงการที่ 4 การพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล อาทิ การปรับปรุงระบบรวบรวมข้อมูลและสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด เพื่อจะได้นำมาใช้ออกแบบนโยบายได้อย่างเหมาะสม และโครงการที่ 5 การประเมินผล ของ 4 โครงการที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อประเมินว่า ยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่นั้น สามารถใช้ได้ผลกับประชาชนจริง ๆ หรือไม่ …เหล่านี้เป็นหลักใหญ่ใจความของหนึ่งในความพยายามผ่านมุมวิจัย เพื่อ “ค้นหานวัตกรรม-เครื่องมือ” เพื่อใช้ “รับมือ-ป้องกัน”…

ยุคนี้ “ชีวิตคนไทยมีแรงกดดันมากขึ้น” 

“แนวโน้มฆ่าตัวตาย” ยุคนี้ “พุ่งสูงขึ้น”

“นวัตกรรมสกัดคิดสั้น…น่ามี-น่าใช้”.