อย่างไรก็ตาม กับการโกหกแบบ “กุเรื่อง” หรือการ “แต่งเรื่องมาโกหกเป็นเรื่องเป็นราวเป็นตุเป็นตะ” ถ้าแบบนี้ล่ะก็ ยังไงก็ต้องถือว่า “ไม่ธรรมดา!!” ขณะที่ในไทยกรณีทำนองนี้ก็เกิดขึ้นอื้ออึงเป็นระยะ ๆ ซึ่งบางกรณีก็มีรายงานข่าวว่าเป็นการ กุเรื่องโกหกกรณีการหายตัวไปอย่างเป็นปริศนาของเด็ก?? ซึ่งเป็นการกุเรื่องโกหกโดยคนใกล้ชิดใกล้ตัวเด็กเอง??…

“กุเรื่องโกหก” แบบนี้ยิ่งไม่ธรรมดา…

ถ้าคดีไม่พลิก “ไฉนเป็นไปได้ขนาดนี้?”

โดยกรณี“วุฒิภาวะ” ก็ “น่าจะเกี่ยวโยง”

ทั้งนี้ กับการ “กุเรื่องโกหก” ที่ก็ครึกโครมในไทยหลาย ๆ กรณี และตอนนี้ก็มีกรณีเกี่ยวกับเด็กหายที่อื้ออึงครึกโครมอยู่ นั่นก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม พลิกแฟ้มดูกันในภาพรวม โดยโฟกัสที่เรื่องการ “โกหก” เพื่อที่จะ “ปกปิดความจริง” เรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยนำเสนอ “มุมวิเคราะห์” ของผู้เชี่ยวชาญ “จิตวิทยา” ไว้ เมื่อครั้งที่ในไทยมีโควิด-19 ระบาดรุนแรงในช่วงแรก ๆ ที่ก็เกิด “ปรากฏการณ์โกหกอื้ออึง!!” หลังมีคนไทยไม่น้อยปิดบังข้อมูลการติดเชื้อ โกหกปกปิดความจริง จนส่งผลให้คนอื่น ๆ ตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายไปด้วย …และมาถึงตอนนี้…กับ “ปรากฏการณ์โกหก” นี่ก็ “ยังคงร่วมสมัย”…

“จิตวิทยากับการโกหก” นั้น “ยังน่าพินิจ”

ยังน่าสนใจ “คำอธิบายฉายภาพทางจิต”

แล้วเกี่ยวกับกรณี “โกหกในเชิงจิตวิทยา” นั้น… ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน รองหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยา และหัวหน้าสาขาจิตวิทยาคลินิก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เคยสะท้อนแง่มุมสู่สังคมผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… การพูดโกหกคือการ “ปั้นเรื่องขึ้นมา” โดยไม่พูดความจริงซึ่ง… การที่บุคคลใดบุคลหนึ่งจะโกหกนั้นก็มีปัจจัยได้จากหลาย ๆ กรณี โดยก็ต้องพิจารณาว่า… การโกหกที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบกับใคร??…กับอะไร??…มากน้อยแค่ไหน??  ต้องมองที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมโกหกประกอบด้วย …นี่เป็นคำอธิบายถึงนิยาม “โกหก” โดยสังเขป

กับ “หลักจิตวิทยาว่าด้วยการโกหก”…

“รูปแบบการโกหก” นั้น…ผศ.ดร.อรพินระบุไว้ว่า… สามารถจะมีได้หลากหลาย และอาจต้องขึ้นกับสถานการณ์เป็นหลัก แต่ก็พอจะจำแนกอย่างกว้าง ๆ ได้ อาทิ… การโกหกเพื่อเอาตัวรอด, การโกหกเพื่อกลบเกลื่อน, การโกหกเพื่อหวังผลประโยชน์, การโกหกเพื่อให้ถูกยอมรับ, การโกหกเพื่อรักษาน้ำใจ …นี่เป็นรูปแบบการโกหกที่มักพบได้ทั่ว ๆ ไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญท่านเดิมเน้นย้ำเรื่องนี้ไว้ว่า… การ “โกหก” นั้นส่วนใหญ่ “มักต้องมีเหตุผลบางอย่าง” ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็น “ต้องดูเจตนา” ที่ทำให้คน ๆ นั้นเลือกตัดสินใจโกหก ว่า… “เพราะอะไร??” และก็ “ต้องวิเคราะห์” ว่า… “ทำไมต้องโกหก??” ซึ่ง… การโกหกนั้นต้องใช้พลังงานชีวิตระดับสูงมาก!! นั่นก็เพราะจะต้องสร้างภาพ หรือจะต้องแต่งเรื่องขึ้นมา เพราะการพูดโกหกแต่ละครั้งต้องทำให้เรื่องราวเหมือนเดิม เพื่อที่จะทำให้เรื่องที่โกหกนั้นแนบเนียนมากที่สุด…

เพื่อจะให้ “คำโกหก” ฟังดู “น่าเชื่อถือ”

ขณะที่กรณี “จงใจปิดบังซ่อนเร้นความจริง” นั้น ทาง ผศ.ดร.อรพิน ก็อธิบายไว้ว่า… บางครั้งเบื้องหลังการโกหกนั้น อาจมาจากปัจจัยทางสังคม ที่ส่งผลทำให้จำเป็นจะต้องปิดบังความจริง อาทิ กลัวได้รับผลกระทบ กลัวความผิดทางกฎหมาย กลัวผู้คนรังเกียจ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยทางสังคมต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะเป็น “ตัวกระตุ้น” ทำให้บางคนตัดสินใจโกหกปกปิดความจริง อย่างไรก็ตาม…แต่ก็มีคนบางกลุ่ม มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่แม้จะไม่ได้มีตัวกระตุ้นจากปัจจัยทางสังคม แต่ก็เลือกที่จะ “โกหกเป็นนิสัย” มิหนำซ้ำเมื่อโกหกแล้วกลับไม่รู้สึกผิด หรือไม่เคยคิดถึงผลกระทบที่จะตามมา แบบนี้ก็มีเช่นกัน…

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาท่านเดิมยังมีการระบุไว้ว่า… “พฤติกรรมโกหกของคน” สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ-หลายสถานการณ์ เช่น หากเป็นกรณี “โกหกเพื่อเอาตัวรอด” ก็อาทิ… เพื่อให้พ้นผิด เพื่อกลบเกลื่อนความผิด ซึ่งบางคนก็เกิดนิสัยการโกหกจากการที่เคยโกหกสำเร็จ เมื่อเกิดกรณีในลักษณะใกล้เคียงอีกครั้ง จึงตัดสินใจโกหกอีก เพราะมั่นใจว่าจะสามารถโกหกได้สำเร็จ, “โกหกเพื่อให้ได้ประโยชน์” นี่เป็นการโกหกเพื่อให้ตัวเองเกิดความได้เปรียบมากกว่าคนอื่น

และยังมีรูปแบบอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น… “โกหกเพื่อให้ได้การยอมรับ” เพื่อให้ดูดีในสายตาคนรอบข้าง หรืออีกรูปแบบ…“โกหกเพื่อรักษาน้ำใจ” เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เป็นต้น ทั้งนี้ ผศ.ดร.อรพิน ยังสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ด้วยว่า…คนที่โกหกจนติดเป็นนิสัยก็อาจเป็นเพราะถูกสภาพแวดล้อมทางสังคมหล่อหลอมมา ซึ่งถ้าเป็นการโกหกที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ก็มักเป็นเพียงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และไม่ถึงขึ้นมีปัญหาทางจิต แต่ก็จะมีคนบางจำพวกที่ ติดนิสัยโกหกหาผลประโยชน์โดยขาดความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นพวกที่ “มีสำนึกทางสังคมในระดับต่ำ!!”…

“โกหก” บางเคสก็อาจมีปัจจัยน่าเห็นใจ

แต่ “โกหกหาประโยชน์” นี่ “น่ารังเกียจ”

อย่างหลังนี่ “ไทยช่วงนี้เริ่มอื้ออึงอีก??”.