การสื่อสารด้วยภาพที่เขียนขึ้น เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้อื่นได้รับรู้ โดยมีจุดหมายให้สอดคล้องกับเรื่องราวนั้น ๆ “ภาพประกอบ” นอกจากโดดเด่นด้วยลายเส้น สีสันสดใสมีเอกลักษณ์ ในปัจจุบันยังมากด้วยเทคนิค หลากหลายรูปแบบ …

เมื่อภาพประกอบและงานศิลปะร่วมสมัยไม่อาจแยกจากกัน และด้วยเทคนิคสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ โดยนอกจากภาพเพนท์ ยังมีงานปักผ้า ลูกปัด เซรามิก ฯลฯ บอกเล่าเรื่องราวที่หลากหลายผ่านงานภาพประกอบ ทั้งนี้ชวนอัพเดท มองการทำงานศิลปะภาพประกอบ ผ่านสองศิลปินนักสร้างสรรค์ที่ร่วมแสดงผลงานใน Here Comes the Common Ground นิทรรศการที่ขยายความหมายของผลงานภาพประกอบหรือศิลปะร่วมสมัย แสดงในพื้นที่ศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา

พิชชากร ชวนรุ่งเรือง หนึ่งในนักสร้างสรรค์ ศิลปินนำการเพนท์ลายครามสร้างสรรค์ผลงานภาพประกอบในงานเซรามิก ให้มุมมองปันประสบการณ์การทำงานศิลปะแขนงนี้ว่า คำว่าภาพประกอบในความหมายบอกเล่าไว้อย่างตรงตัว แต่ละผลงานภาพประกอบ ไม่ว่าจะจัดแสดงในนิทรรศการฯหรือปรากฏอยู่ในหนังสือ ตามบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ จะเห็นถึงการเล่าเรื่อง สื่อสาร โดยไม่ต้องใช้การตีความใด ๆ ที่ซับซ้อน หรือเข้าถึงยาก ทั้งนี้ ภาพประกอบเป็นการสื่อสาร ส่งสาร บอกเล่าเรื่องผ่านภาพ โดยถ้ามองบทบาทหน้าที่ในปัจจุบันยังคงเป็นเช่นนี้ ยังคงเล่าเรื่องต่าง ๆ สะท้อนสิ่งที่ศิลปินตั้งใจสื่อสารส่งไปยังผู้รับสาร แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ การนำภาพประกอบไปใช้ ช่องทางเผยแพร่มีมากขึ้น รวมถึงในด้านเทคนิค ฯลฯ

ศิลปินภาพประกอบ พิชชากร เล่าประสบการณ์การทำงานศิลปะภาพประกอบ โดยเริ่มจากการทำงานเซรามิกในสไตล์การเพนท์ลายคราม งานบลูแอนด์ไวท์ นำหลักการจากสิ่งที่ถนัด ประยุกต์สร้างสรรค์งานภาพประกอบเพื่อสื่อสารกับคนในยุคสมัยปัจจุบัน ทั้งนี้งานเพนท์ลายครามนั้น อิงตามขนบประเพณี คติต่าง ๆ ฯลฯ นำสิ่งเหล่านี้ นำลวดลายสัญลักษณ์ที่มีความหมายมงคล นำมาปรับใช้เล่าเรื่อง สื่อสาร

“ภาพประกอบเล่าเรื่องความงามของย่านการค้า ย่านเก่าในเมือง ผ่านงานเพนท์ลายครามลงบนกระเบื้อง อย่างเช่น ศิลปะปีนักษัตรเสือ การทำงานครั้งนั้นตรงกับช่วงสถานการณ์โควิดกำลังแรง ภาพเล่าเรื่องด้วยเทคนิคการเพนท์ลายครามบนงานเซรามิก นำลวดลายสัญลักษณ์ที่เป็นมงคล มาสื่อสารเล่าถึงการผ่านพ้นอุปสรรค

อีกผลงาน ดีไซน์ชิ้นงานรูปทรงหกเหลี่ยม โดยแนวคิดนี้สามารถสร้างสรรค์ภาพประกอบเชื่อมร้อย เล่าเรื่องต่อเนื่องไปอีกได้เรื่อย ๆ จากที่กล่าว ด้วยความชอบเดินสำรวจเมือง เดินย่านเก่า จึงวาดสถานที่เหล่านั้น อาทิ สำเพ็ง เยาวราช ฯลฯ ใช้การเขียนลายครามนำมาสื่อสาร เล่าเรื่องบรรยากาศของย่าน ให้ความสำคัญกับแสงที่นำมาสื่อสาร โดยภาพที่มีสีขาวอยู่มาก จะเห็นถึงความสว่าง สดใส มีชีวิตชีวา มีความหวัง เป็นต้น”

ขณะที่ หัวลำโพง เป็นการจัดวางองค์ประกอบใหม่เพื่อสื่อสารความหมาย ให้เห็นบรรยากาศ สถานที่ ไม่ใช่การวาดบันทึกในเชิงประวัติศาสตร์ ภาพจะบอกเล่าเรื่องบริเวณด้านหน้าหัวลำโพง ด้านในหัวลำโพง มีชานชาลา และเส้นทางสุดชานชาลา ฯลฯ เล่าเป็นภาพประกอบ โดยดีไซน์รูปทรงหกเหลี่ยมเพื่อเรียงร้อยเล่าเรื่องต่อไปได้อีก และที่วาดหัวลำโพง ก็ด้วยความหมายการเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางต่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยเน้นเรื่องแสง โดย แสงคือความหวังและกำลังใจ นำมาเล่าผ่านภาพประกอบ 

จากที่กล่าวในด้านเทคนิคมีความหลากหลาย อีกมุมมองสร้างสรรค์ภาพประกอบจาก นพพร ทรัพย์เย็น ศิลปินภาพประกอบอิสระที่มีลายเส้น ผลงานเป็นเอกลักษณ์ให้มุมมอง เล่าถึงบทบาทภาพประกอบว่า ภาพประกอบสามารถนำไปใช้ได้หลากหลายช่องทางมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งโซเชียลมีเดีย คอนเทนต์ส่วนใหญ่จะใช้ภาพเล่าเรื่องหรือจากที่คุ้นเคยกันดี อย่างในหนังสือนิทานก็ใช้ภาพประกอบสื่อสารเนื้อหา การ์ตูนญี่ปุ่นที่มีภาพเล่าเรื่องหลายภาพรวมกันในหนึ่งหน้ากระดาษก็คือภาพประกอบ ฯลฯ บอกเล่าเรื่อง เล่าเนื้อหา เป็นต้น

“ภาพประกอบในมุมมองเป็นงานศิลปะที่นำมาสื่อสารแทนคำพูด ในภาพวาดของตนเองซึ่งวาดแลนด์สเคป ก็ถือเป็นการทำงานภาพประกอบได้เช่นกัน สามารถลงรายละเอียดสิ่งที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นความผุพัง สภาพความจริงของที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิตของผู้คน หรือแม่นํ้าคูคลอง ร้านค้าต่าง ๆ บอกเล่าผ่านภาพวาด ฯลฯ”

ภาพประกอบแต่ละผลงานมีลายเส้น มีเทคนิควิธีการเล่าเรื่องต่างกันไป ซึ่งเป็นอีกความน่าสนใจที่ศึกษาได้จากงานภาพประกอบ นักวาดภาพประกอบเจ้าของผลงานหลงรักรกร้าง และเป็นอยู่คือ นพพรเล่าเพิ่มอีกว่า ภาพประกอบที่วาดไว้เป็นคอนเซปต์ที่ค่อนข้างเรียบง่าย เกิดจากความชอบเดินของตนเอง เดินเล่นตามพื้นที่ชุมชน เดินตรอกซอกซอย การเดินทำให้เห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เห็นพื้นที่ใช้ชีวิตอย่างที่เขาอยู่ อย่างที่เขาเป็น ซึ่งมีความน่าสนใจจึงเก็บภาพเหล่านั้นนำมาวาด

“วาดภาพทัศนียภาพตึกเก่า บ้านเก่าพื้นที่ชุมชน ฯลฯ วาดถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ โดยในภาพออกแบบตัวละครที่มีคาแรกเตอร์ประกอบเข้าไปในภาพที่ฉากหลังซึ่งเป็นสถานที่จริงเสนอ บอกเล่าอารมณ์ ความรู้สึก ภาพประกอบจึงเป็นทั้งการสื่อสารและภาพสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดี 

ภาพประกอบบอกเล่าพื้นที่ภายนอกอาคารบ้านเรือน คูคลองเก่า ถนนหนทาง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งภาพบอกเล่าความเป็นอยู่ โดยทั้งสองส่วนสื่อสารผ่านภาพวาด ใช้ลายเส้นที่มีความเคลียร์ มีตัวละครที่ออกแบบขึ้นร่วม บอกเล่าความเป็นภาพประกอบที่สร้างสรรค์ขึ้น” 

ภาพประกอบในปัจจุบัน จากที่กล่าวมีหลายมุมมองชวนศึกษา มีเทคนิควิธีสร้างสรรค์หลากหลาย ทั้งมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจชวนติดตาม นักสร้างสรรค์ นพพร ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า ภาพประกอบยังคงก้าวต่อไปอีกกว้างไกล จากที่กล่าวภาพประกอบคือการสื่อสาร ถ้ายังคงมีการสื่อสาร ภาพประกอบก็จะคงอยู่คู่ไปกับการสื่อสาร ยังคงใช้ภาพบอกเล่าเรื่อง

จากที่ติดตามนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ ๆ จะเห็นถึง การนำสิ่งใกล้ตัว เรื่องที่สนใจ เรื่องจากตนเอง หรือสิ่งที่เป็นปัญหา ฯลฯ นำมาเล่าผ่านภาพ ใช้สีสื่อสารแทนอารมณ์ความรู้อย่างชัดเจน อย่างเช่น ความเศร้า ผิดหวังสะเทือนใจ สีที่ใช้มีความหม่น ไม่สดใส ตัวละคร บรรยากาศภาพจะสื่อสารเล่าเรื่องชัด ขณะที่ ความจริงจัง จะใช้สีให้มีความเกิน ๆ เพื่อบอกเล่าเมสเสจที่ต้องการสื่อสาร สื่อข้อความที่ส่งออกไปจากภาพชัดเจนเช่นกัน เป็นจุดนำ

“ภาพประกอบใช้การวาด ซึ่งแน่นอนว่ามีความต่างไปจากการถ่ายภาพ รูปวาดจะใช้เวลาจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นค่อนข้างนาน การสื่อสารถ่ายทอดอารมณ์ภาพจึงไม่เหมือนกัน มีความพิเศษที่แตกต่างกัน อย่างภาพวาดตัดทอนบางส่วน หรือเติมเมสเสจที่ต้องการเพิ่มได้ ซึ่งภาพประกอบสามารถทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ดีและโดดเด่น

อีกทั้งยุคดิจิทัลยังสามารถสร้างสรรค์ได้หลากหลายเทคนิค ใช้ลายเส้น สีอะคริลิก การปักผ้า หรือเพนท์ในคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นไปได้ แต่อย่างไรแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับงานภาพประกอบคือการสื่อสาร เล่าเรื่องด้วยภาพ

ส่วนถ้ามองบทบาทหน้าที่ภาพประกอบ ในปัจจุบันถือได้ว่ามีความแพร่หลาย นำมาใช้ตกแต่งร้านค้า ผลิตภัณฑ์ ฯลฯ อย่างเช่น ร้านอาหาร ร้านขนมใช้ภาพประกอบ ใช้ภาพลายเส้น มีตัวละครเล็ก ๆ ร่วมเล่าเรื่อง ตกแต่งเติมบรรยากาศให้ร้านได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเล่าเอกลักษณ์ของร้านได้ชัดเจน จากภาพประกอบยังนำมาสร้างสรรค์เป็นสติกเกอร์ นำมาตกแต่ง นำมาเติมสีสันเป็นความโดดเด่นอีกด้านหนึ่งของงานภาพประกอบในยุคสมัยปัจจุบัน …

บอกเล่าศิลปะภาพประกอบ ภาพเล่าเรื่องที่มีมนต์เสน่ห์ มีสีสันที่น่าศึกษาติดตาม.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ