ข้อมูล “ภัยพิษงู!!” นี่ยุคนี้ก็ยังเป็นข้อมูลที่คนไทยน่าจะได้ตระหนัก ต่อให้อยู่ในเขตเมือง หรือในกรุงเทพฯ และโดยเฉพาะพื้นที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งภัยพิษงูนี่ข่าว “งูพ่นพิษใส่ตาคน” วันก่อน “ก็สยอง!!” 

“ภัยพิษงู” เป็นอีก “ภัยใกล้ตัวคนไทย”

ภัยนี้ “เกิดขึ้นได้แม้แต่ขณะอยู่ในบ้าน”

โดยที่ “ที่ชายแดนใต้มีการทำวิจัยภัยนี้”

ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติการณ์ “ภัยงู” ดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งจากที่มีการระบุไว้ในชุดข้อมูลการวิจัย “โครงการวิจัยการพัฒนาแนวทางการรักษาและดูแลผู้ถูกงูกัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ได้มีการสะท้อนผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยโครงการนี้เป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่าง 2 สถาบันการศึกษาด้านแพทย์ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งที่ปรึกษาโครงการคือ พันโท รศ.ดร.เจนยุทธ ไชยสกุล ภาควิชาเภสัชวิทยา หัวหน้าโครงการคือ พันโท ดร.นพ.วิทวัส จันทน์คราญ ภาควิชาพยาธิวิทยา ในสังกัด วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และมีผู้ร่วมวิจัยคือ นพ.ภาณุวัฎ พรหมศร โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ กับ ดร.มุสลีฮา เจ๊ะซอ ในสังกัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส

อันเนื่องจากการวิจัยโครงการนี้ ได้มีการระบุว่า… จากข้อมูลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 ต่อประชากร 1 แสนคน ในประเทศไทยมีผู้ “เสียชีวิตจากการถูกงูพิษกัด!!” เฉลี่ย 8 รายต่อปี อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ที่ถูกงูพิษกัดที่มีการรายงานนั้นอาจมีการคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจาก ปัญหาด้านการคมนาคม และระบบสาธารณสุขในพื้นที่ทุรกันดาร เหล่านี้มีผลทำให้ขาดการบันทึกข้อมูลของผู้เสียชีวิตก่อนถึงสถานพยาบาลหลังถูกงูพิษกัด

สำหรับ “งูพิษที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่พบบ่อยในระบบสาธารณสุขไทย” นั้น… “มี 2 ประเภทใหญ่ ๆ” คือ… “งูที่มีพิษต่อระบบประสาท” ได้แก่ งูเห่าไทย, งูจงอาง, งูสามเหลี่ยม, งูทับสมิงคลา โดยพิษจะเข้ากระแสเลือดรวดเร็ว และจับกับตัวรับที่บริเวณรอยต่อปลายประสาทกับกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก และ เสียชีวิตจากระบบหายใจล้มเหลว

อีกประเภทคือ… “งูที่มีพิษต่อระบบไหลเวียนโลหิต” ได้แก่ งูแมวเซา, งูกะปะ, งูเขียวหางไหม้ โดยพิษมีผลต่อระบบโลหิตจะกระตุ้นสารเคมีในร่างกายที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด ซึ่งผู้ที่ถูกงูในกลุ่มงูที่มีพิษต่อระบบไหลเวียนโลหิตนี้กัดจะมีอาการ เลือดออกตามเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ เช่น เหงือก เยื่อบุในช่องปาก ช่องคลอด เป็นต้น

และนอกจากนี้ยังมี “งูที่มีพิษทำให้เกิดการทำลายต่อเนื้อเยื่อรุนแรง” พิษมีฤทธิ์ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อโดยตรง ทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย ซึ่งหากอาการรุนแรงมากอาจ ทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อลึกจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ จนถึงขั้นต้องตัดอวัยวะส่วนนั้น โดยที่ปัจจุบัน ยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาแผนปัจจุบันใด ๆ ให้ผลการรักษาที่น่าพอใจ ยังถือเป็นสิ่งท้าทายนักพิษวิทยาทั่วโลกในการหาวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการ สูญเสียอวัยวะหลังการถูกงูพิษกัด

ขณะที่ “การรักษาผู้ที่ถูกงูพิษกัด” ที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน ได้แก่ การฉีดเซรุ่ม โดย “เซรุ่มแบ่งออกเป็น 2 ชนิด” คือ… เซรุ่มต้านพิษงูเฉพาะชนิด และ เซรุ่มต้านพิษงูชนิดรวม ที่จะใช้ในกรณีที่ระบุชนิดของงูพิษที่กัดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ก็พบว่า ยังมีข้อจำกัดในการฉีดเซรุ่มต้านพิษงู เช่น เซรุ่มไม่เพียงพอต่อการรักษา เซรุ่มไม่ตรงกับชนิดของงูที่กัด การใช้เซรุ่มมากเกินไปจนทำให้มีการแพ้เซรุ่ม ซึ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษาไม่เต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ โฟกัสที่ “พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มีการวิจัย “การพัฒนาแนวทางการรักษาและดูแลผู้ถูกงูกัด” ในชุดข้อมูลที่สะท้อนผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ระบุว่า… การวิจัยเริ่มที่ จ.นราธิวาส ซึ่งมีจำนวนผู้ถูกงูกัดสูงแห่งหนึ่งในประเทศไทย จากการสำรวจข้อมูล 5 ปีย้อนหลังจากโรงพยาบาลใน จ.นราธิวาส 5 แห่ง พบว่า มีผู้เข้ารับการรักษาจากการถูกงูกัดมากกว่า 800 ราย ซึ่งงูกะปะเป็นสาเหตุสูงสุด รองลงมาคืองูเห่า งูเขียวหางไหม้ และงูที่ไม่สามารถระบุชนิดได้

“คณะผู้วิจัยได้สำรวจข้อมูลการรักษาผู้ป่วย ทั้งในส่วนอาการแสดงที่สำคัญ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ปริมาณการใช้เซรุ่ม โดยเบื้องต้นพบว่า การขาดแคลนเซรุ่มต้านพิษงู การระบุชนิดของงูพิษที่คลาดเคลื่อน ความเข้าใจผิดในการปฐมพยาบาลผู้ถูกงูกัด และระยะเวลาการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ล่าช้า ยังเป็นปัญหาที่พบได้ในการรักษาพยาบาลผู้ถูกงูกัด ในพื้นที่ดังกล่าว” …ข้อมูลโครงการวิจัยฯ นี้ระบุ และรวมถึงยังมีส่วนที่ระบุด้วยว่า… เมื่อโครงการวิจัยฯ นี้สำเร็จสมบูรณ์ก็หวังว่าข้อมูลที่ได้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ “ถูกงูพิษกัด” ทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงพื้นที่อื่นที่อยู่ห่างไกลระบบบริการสาธารณสุข ช่วยลดอัตราการ “บาดเจ็บ-เสียชีวิต” ของประชาชน …ขณะที่การมีโครงการวิจัยการรักษาผู้ป่วยจากงูพิษนี้ก็ตอกย้ำว่า…

งูไทย!!” นี่ “ใช่แค่เลื้อยสยองต้องหวีด”

ที่ถึงขั้นเป็น “ภัยพิษงู” นั้นก็ “ยังเยอะ!!”

แรงสุดถึง “สู่ขิต-ตาย” จึง “ต้องกลัว!!” .