เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 ต.ค. 67 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ “เดลินิวส์” ได้จัดงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” ในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน มีนางประพิณ รุจิรวงศ์ นายปารเมศ เหตระกูล นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร และน.ส.นลิน รุจิรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (EVP) ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและการตลาด เดลินิวส์ ร่วมให้การต้อนรับ
นอกจากนี้ยังมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครและกรรมการ บริษัท บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด และนายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร เข้าร่วมเสวนา
นายปารเมศ กล่าวเปิดงานว่า การจัดงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” (Dailynews Talk 2024) ในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” ถือเป็นเวทีเสวนา ครั้งที่ 4 ของปีนี้ ที่เดลินิวส์จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 60 ปี ในปี 67 โดยเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย ให้กับคนไทย ขณะที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นนโยบายหลักเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ
ทั้งนี้การนำเสนอข้อมูลของการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ทั้งในแง่ของนโยบายของรัฐบาล และในมุมมองของภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้อง บนเวทีนี้ จะได้ส่งต่อไปยังทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไป
นายปารเมศ กล่าวอีกว่า เดลินิวส์ขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำหน้าที่เป็นสถาบันสื่อมวลชนหลักของประเทศยึดถือหลักการ “เชื่อมั่น ยั่งยืน เคียงข้างคนไทย” และพร้อมเชื่อมโยง ส่งต่อนโยบายของภาครัฐ ภาคเอกชน ทำให้สังคมทุกภาคส่วนได้รับรู้และเข้าถึง ภายใต้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของเดลินิวส์
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีมุมมองให้ซอฟต์พาวเวอร์ สร้างโอกาสให้ไทย ซึ่งประเทศไทยติดอยู่กับดักรายได้ปานกลางมาหลายสิบปี ยอมรับว่าการจะยกระดับให้เป็นประเทศรายได้สูงไม่ใช่เรื่องง่าย
ด้วยปัจจัยเรื่องความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพของการศึกษา และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่ง 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ‘ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์’
รัฐบาลเชื่อมั่นว่าซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้พุ่งทะยานภายในทศวรรษหน้า และจะเป็นนโยบายที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้หลาย 10 ล้านคน
“ซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทย มีทุนวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ เช่น ในเรื่องอาหารไทย ที่ดึงดูดคนทั่วโลกให้มาลิ้มลอง ซึ่งคนไทยมีศักยภาพ แค่รอโอกาสการมีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนั้น หัวใจสำคัญของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์คือ การพัฒนาแรงงานทักษะต่ำ ให้เป็นแรงงานทักษะสูง แล้วเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการจากทักษะสูง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดด้วยนวัตกรรม สร้างแบรนด์ดิ้งที่มีเรื่องเล่า”
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า การทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ครั้งนี้ภายใต้โครงการ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ OFOS – One Family One Soft Power เราจะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันขับเคลื่อน ออกแบบหลักสูตรการอบรมที่ใช้ประกอบอาชีพได้จริง
เป้าหมายของเรา คือ ทำให้คนไทยสามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ทุกสาขาได้ ยกระดับสินค้าและบริการจากวัฒนธรรมไทย ให้มีคุณภาพมากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น มีเสน่ห์มากขึ้น ทำให้ไม่ต้องกังวลในการแข่งขันเรื่องราคากับผู้ผลิตสินค้าที่มีข้อได้เปรียบในการผลิตจำนวนมาก หรือ Economy of scale
“ทั้งหมดนี้คือโอกาสของประเทศไทยในกรอบของคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เราจะยกระดับชีวิตของพี่น้องประชาชนตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ให้เป็นประเทศพัฒนาที่มีรายได้สูง และคนไทยทุกคนไม่ยากจนอีกต่อไป ด้วยการให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น รัฐเก็บภาษีไปพัฒนา กลับสู่มือประชาชนอีกครั้ง และที่สำคัญคืออยากให้คนไทย มีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีไปพร้อมกัน”
ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ร่วมปาฐกถาว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจะทำให้ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์นำไปสู่ประโยชน์ ต้องทำให้ไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง สร้างไม่ให้คนไทยถูกทอดทิ้ง และทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านความร่วมมือกับต่างประเทศหรือแม้แต่กับประเทศไทย หรือทั้งภาครัฐและเอกชน
การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์สร้างความร่วมมือครั้งใหญ่ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และทุกองค์กร โดยคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์มาร่วมกันผลักดัน เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมผลักดัน เราจะต้องให้ซอฟต์พาวเวอร์เอกชนเป็นพระเอก มีปัญหาอุปสรรคภาครัฐต้องแก้ไขให้หมด และมีคนเก่งอีกมากมาย เช่น อัญมณี มีช่างน้อยมาก ไทยยังขาดแรงงานอัญมณี ขาดแรงงานทักษะสูง
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ที่ผ่านมามีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ซึ่งมีความล่าช้าและไม่ได้งบตามเป้าหมาย แต่ที่ผ่านมาต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดขึ้น เช่น หนึ่งโครงการหนึ่งเชฟอาหารไทย มีโค้ชมวยไทย สร้างเทศกาลเฟสติวัล เทศกาลดนตรี เทศกาลภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมเกม เป็นต้น
นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ในปี 68 มีโอกาสเป็นคนจัดอีเวนต์เกมระดับโลก และในงบประมาณปี 68 จะดำเนินการโครงการอบรม 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย, โครงการพัฒนาบุคลากรครูด้านศิลปะ และโครงการอบรมหลักสูตรภาพยนตร์ ฟิล์มแคมป์ และค่ายผลิตภาพยนตร์สั้น รวมทั้งสนับสนุนและสร้างอีโคซิสเต็ม
นอกจากนี้ ในวันที่ 29 ต.ค. วินเทอร์เฟสติวัล มีความแตกต่างจากปีอื่นๆ และให้เกิดความเชื่อมั่น ให้ทั่วโลกรู้ว่าประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และอยากให้มี พ.ร.บ. THACCA ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ คาดจะเข้า ครม.และสภาต่อไป คงจะเกิดขึ้นปี 68
นพ.สุรพงษ์ สรุปทิ้งท้ายว่า “เชื่อว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นเครื่องมือให้ไทยเป็นประเทศรายได้สูงและพ้นความยากจนต่อไป”