วิกฤติโควิด-19 ระลอกนี้หนักหนาสาหัสสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาด…
สะท้อนชัดเจนจากภาพการเสียชีวิต“นอกโรงพยาบาล” “นอกสถานที่รักษา” กลายเป็นการเสียชีวิตในบ้าน เสียชีวิตตามริมถนน หนทาง หรือในที่สาธารณะ
นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา จากเหตุผู้ป่วยติดเชื้อนอนเสียชีวิตกลางซอย ใจกลางเมืองหลวง ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีรายงานกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อที่เข้าไม่ถึงการรักษา เสียชีวิตอยู่ภายในบ้าน และริมทางสาธารณะรายวัน
“กลุ่มเปราะบาง”อย่างคนจน คนป่วย คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน เป็นกลุ่มเสี่ยงหลักที่น่ากังวล เนื่องจากลำพังใช้ชีวิตปกติก็ยากลำบากอยู่แล้ว เมื่อเจอวิกฤติกลุ่มเปราะบางจึงแทบแตกสลาย โดยเฉพาะคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ยิ่งวิกฤติ ซ้ำๆ ยิ่งตกอยู่ในภาวะอันตราย
จำนวนคนไร้บ้านมีเท่าไหร่ ระบุไม่ได้แน่ชัด แต่ก่อนหน้าการเกิดโรคระบาดโควิด-19 เคยมีโครงการสำรวจแจงนับคนไร้บ้านทั้งประเทศ ปี 2562 โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายอีกจำนวนมาก ใช้วิธีการสำรวจแบบแจงนับแต่ละพื้นที่ในคืนเดียว ( One Night Count หรือ The Point-in-Time ) เพื่อลดความเสี่ยงการนับซ้ำ เก็บข้อมูลในเขตเทศบาลเล็กและขนาดกลางในแต่ละจังหวัด
พบว่าระหว่างเดือนเม.ย.-พ.ค.2562 ทั่วประเทศมีคนไร้บ้าน 2,719 คน ส่วนใหญ่กระจุกตัวในเมืองหลวง พื้นที่กรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 38 รองมาคือเมืองใหญ่อย่างนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละ 5 ตามด้วยเชียงใหม่ สงขลา เป็นต้น
แม้ไม่ใช่ตัวเลขที่พูดได้ว่าครอบคลุมคนไร้บ้านทุกคน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามเก็บสถิติสถานการณ์ที่ชัดเจนขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต…
หลังผลกระทบหนักเป็นปีที่ 2 ล่าสุดเริ่มเห็นภาพการขยับเข้าไปจัดการคนไร้บ้านมากขึ้น ยกตัวอย่าง การรับวัคซีน พาส่งกลับภูมิลำเนา ออกชวนเข้าอยู่บ้านพักแบบไม่บังคับ และการลงพื้นที่สำรวจช่วยเหลือโดยหน่วยเคลื่อนที่เร็วทั่วประเทศเพื่อดำเนินการ
1.แจ้งสิทธิที่พึงได้รับ และการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ 2.ชวนคนไร้บ้านเข้ารับการคุ้มครองในสถานที่รัฐจัดให้ พร้อมบริการปัจจัย 4 การรักษาพยาบาล จัดหางาน เพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 3.มาตรการดูแลคนไข้ในรูปแบบศูนย์พักพิงชั่วคราว เขตพื้นที่กทม. ได้แก่ บ้านปันสุข(ธนบุรี) บ้านมิตรไมตรีกรุงเทพ ส่วนต่างจังหวัดจะมีสถานที่รัฐจัดไว้ให้
4.เครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(อพม.) ลงพื้นที่ชี้เป้า ประสานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมระดับพื้นที่ 5.จัดตั้งจุดประสานงานคนไร้บ้านเคลื่อนที่ในพื้นที่มีจำนวนคนไร้บ้านอาศัยอยู่จำนวนมาก เพื่อเป็นจุดให้บริการอุปกรณ์จำเป็นอย่างหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรค พร้อมลงทะเบียนให้ผู้ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด
ต้องยอมรับว่าด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตอิสระการดึงคนเหล่านี้เข้าระบบอย่างสมัครใจไม่ง่าย ขณะที่การทำจริงจังทั่วถึงก็เป็นไปได้ยาก เพราะคนไร้บ้านไม่มีหลักแหล่ง จำนวนไม่น้อยกระจัดกระจายไปตามซอก หลืบ บางรายไม่อยู่นิ่งที่ใดที่หนึ่ง
เหล่านี้คือโจทย์กลุ่มเปราะบาง คนไร้บ้าน “หน้าเดิม”ที่ยังแก้ไม่ได้เบ็ดเสร็จ ขณะที่ปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้กลุ่มเปราะบาง คนไร้บ้าน“หน้าใหม่”ตามมาอีกแน่นอน
“คนตกงาน”จากการปิดกิจการของสถานประกอบการหลายแห่ง ลูกจ้างรายวัน ไปจนถึงรายเดือนที่จู่ๆต้องสูญรายได้ ไร้ความมั่นคง คือกลุ่มคนที่เคยประเมินกันว่ามีแนวโน้มกลายเป็นคนไร้บ้าน แต่สถานการณ์ปัจจุบันอาจต้องประเมินใหม่เมื่อในจำนวนผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิต หลายคนคือผู้นำครอบครัว เป็นกำลังหลักที่หารายได้เลี้ยงชีพ
เพียงหนึ่งคนที่เจ็บป่วยล้มตาย จึงหมายถึงอีกหลายชีวิตอาจล้มตามไปด้วย โจทย์กลุ่มเปราะบางหลังจากนี้จึงน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่กว่าแผนที่มีอยู่.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน