เมื่อเวลา 21.10 น. วันที่ 18 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน ปปง. โดยส่วนประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวแจกสื่อมวลชน ระบุใจความว่า ตามที่เลขาธิการ ปปง. มีคำสั่งที่ ย.214/2567 และคณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งที่ ย.222/2567 ให้อายัดทรัพย์สินของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก พร้อมดอกผลไว้ชั่วคราว จำนวน 12 รายการ รวมทั้งสิ้น 127,086,381.51 บาทนั้น เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานอันมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า อาจมีการโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีดังกล่าว และกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน เลขาธิการ ปปง. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 48 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ออกคำสั่งที่ ย.223/2567 ลงวันที่ 18 ต.ค.67 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินในคดีนี้เพิ่มเติม ซึ่งเป็นทรัพย์สินประเภทหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เงินในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และเงินในบัญชีเงินฝาก จำนวน 40 รายการ รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 48,958,234.26 บาท พร้อมดอกผลไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน
สำนักงาน ปปง. ระบุอีกว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการโอนคริปโทเคอร์เรนซี (USTD) มูลค่ากว่าแปดพันล้านบาท ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานในคดีนี้นั้น สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างการตรวจสอบความมีอยู่จริงของธุรกรรมดังกล่าว และหากพบการทำธุรกรรมนั้นจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำนักงาน ปปง. ขอเน้นย้ำว่าทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนั้น หากผู้ใดโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือได้มาครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินโดยรู้ในขณะที่ได้มาครอบครองหรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อาจมีความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคำสั่ง ย.223/2567 ลงวันที่ 18 ต.ค.67 ที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินในคดีเพิ่มเติม โดยอำนาจของอำนาจเลขาธิการ ปปง. ในครั้งนี้ จำนวน 48 ล้านบาทนั้น คือ การอายัดทรัพย์สินของ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมิน รวมกับนายกันต์ กันตถาวร หรือบอสกันต์ จึงถือเป็นการอายัดทรัพย์ในส่วนของนักแสดงสาว “มิน พีชญา” เป็นครั้งแรก ส่วนกรณีมีผู้ต้องหา 1 ราย มีการโอนคริปโทเคอร์เรนซี (USTD) มูลค่ากว่าแปดพันล้านบาท ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. เข้าจับกุม 1 ชม. นั้น คือ กรณีของ “โค้ชแล็ป” หรือนายจีระวัฒน์ แสงภักดี ซึ่งปรากฏรายงานข่าวและเบาะแสดังกล่าวโดยนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย และในฐานะผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด .