ช่วงราวๆ ตีสี่กว่าๆ เกือบๆ ตีห้าของวันที่ 1 ส.ค. เฟซบุ๊กส่งสัญญาณเด้งเตือน..จากการที่ตามเพจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม. ขวัญใจชาวกรุง บอกว่า เวลาดังกล่าว อ.ทริป ออกไปวิ่งและไลฟ์สดอีกแล้ว ซึ่งก็นับเป็นตัวอย่างที่ดี อ.ทริปก็อายุเกือบ 60 ปีแล้ว การรักษาสุขภาพร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสิ่งที่ อ.ทริปพูดตลอด คือ ต้องแข็งแรงเพื่อแก่ตัวไป ไม่เป็นภาระกับลูกชายคนเดียวคือ “แสนดี แสนปิติ สิทธิพันธุ์” ..เอาจริงเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพของคนวัยห้าสิบกว่าก็เป็นเรื่องที่น่ารณรงค์ให้เห็นความจำเป็น เพื่อแก่ตัวลงจะลดภาระการที่ประชากรวัยแรงงานต้องดูแล ( เราพูดกันด้วยมิติเศรษฐกิจ ไม่ดราม่ากันเรื่องตอบแทนบุญคุณ ) ลดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ
อ.ทริปเป็นผู้ว่าฯ ขวัญใจคนกรุงเทพฯ เพราะนโยบายอะไรหลายๆ อย่าง มีสีสัน คือพูดง่ายๆ ว่า ทำให้เมืองเป็นสีพาสเทลสวยๆ ด้วยนโยบายด้านความบันเทิงแบบเข้าถึงได้ทุกชนชั้น ตั้งแต่เรื่องดนตรีในสวน มาถึงหนังกลางแปลง ที่ฮือฮากันว่าดึงบรรยากาศแบบหวนระลึกอดีต ( nostalgia ) แต่บางคนออกจะงงๆ เพราะเป็นชาวกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้โตทันยุคหนังกลางแปลง หนังขายยา ก็เอาเป็นว่า แทนที่จะระลึกมาเรียนรู้บรรยากาศความบันเทิงแบบอดีตแล้วกัน
ผลงานที่ชัดที่สุดของ อ.ทริปตอนนี้ กลายเป็นเรื่องการจัดการเทศกาล 12 เดือน 12 เทศกาล ผ่านไปสองเทศกาลแรกแล้ว เดือนสิงหาคมนี้ข่าวว่าเป็นเทศกาล “บางกอกวิทยา” ที่จะเน้นเรื่องการนำเสนอความรู้ นวัตกรรมอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าจับตามองว่าจะได้รับความสนใจแค่ไหน เอาการเรียนรู้กับความสนุกสนานมารวมกันให้ได้ และงานจะออกมาในรูปแบบอย่างไร ที่คาดหวังคือการที่งานนี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในการเรียน ส่งเสริมให้สนใจในสาขาวิชาที่ประเทศไทยต้องการ ผลิตคนเข้าสายอาชีพที่ขาดแคลน
คนชอบ อ.ทริปเยอะ แต่คนที่วิจารณ์การทำงานก็มี ซึ่งหลายคนเขาก็บ่นๆ ว่า ไม่อยากไปวิจารณ์ในอินเทอร์เนตเท่าไรเพราะกลัวแฟนคลับรุม ซึ่งเขามองว่า“ระวังรักเกินรักมักทำลาย” ติ่งแรงไปก็เกิดกระแสหมั่นไส้ตาม หรือกลายเป็นการที่ปัญหาต่างๆ ถูกบรรดาแฟนคลับหรือติ่งพยายามเบี่ยงให้มันเป็นสีพาสเทล เบี่ยงเป็นเรื่องที่อย่าหวังพึ่งผู้ว่าฯ ทั้งที่ผู้ว่าฯ มีอำนาจเต็มในการสั่งงาน .. มีเสียงจิกกัดมาเรื่อยๆ ว่า ตั้งแต่ อ.ทริปมาเป็นผู้ว่าฯ นี่ คนกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งดูมีความ“เข้าใจโลก”มากขึ้น เช่นว่า เมื่อก่อนฝนตกหนัก น้ำท่วมระบายไม่ค่อยจะทัน ก็ด่าผู้ว่าฯ ไปมุดหัวอยู่ไหน
เจ้าประคุณเอ๋ย พอ อ.ทริปเป็นผู้ว่าฯเข้าใจกันขึ้นมาเชียวว่า “สาเหตุที่น้ำท่วมในกรุงเทพฯ แล้วระบายได้ช้า เป็นเพราะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และคนไม่มีวินัย ทิ้งขยะไปอุดตันทางระบายน้ำ เราต้องช่วยกันเพราะผู้ว่าฯ ทำงานคนเดียวไม่ไหว อีกทั้งผังเมืองของกรุงเทพฯ ก็วางไม่ดี ไปสร้างอาคารขวางทางระบายน้ำ มันเป็นปัญหาเรื้อรังจึงอย่าโทษผู้ว่าฯ” ฟังแล้วอยากอนุโมทนาสาธุนัก..เข้าใจอะไรกันง่ายทันทีที่เป็น อ.ทริป ..แต่ถามว่า แล้วจะเอาอย่างไรกับหาบเร่แผงลอย ร้านอาหารรถเข็นข้างทางที่ทิ้งอะไรลงท่อระบายน้ำ ? เห็นยุคผู้ว่าฯ อัศวินนี่ด่ากันจังว่าพวกนี้สร้างปัญหาเรื่องการสัญจรทางเท้า สร้างปัญหาทัศนวิสัย มายุค อ.ทริปกลายเป็นเข้าใจว่า “คือการส่งเสริมเศรษฐกิจคนตัวเล็กตัวน้อย”
พวกรถเข็นร้านอาหารข้างทางนี่ตัวร้าย หลายร้านเอาโต๊ะเก้าอี้วางตามฟุตบาธให้คนลงไปเดินถนนหลบเอาเอง ปรากฏเจอมอเตอร์ไซด์วิ่งสวนเลนเสี่ยงชีวิตเข้าไปอีก เรื่องนี้นายสกลธี ภัททิยกุล พยายามแก้ไขเรื่องมอเตอร์ไซด์วิ่งทางเท้ากับสวนเลนในช่วงเป็นรองผู้ว่าฯ .. ถ้าต้องการจัดระเบียบไม่ให้กีดขวางคน ไม่ให้ทิ้งเศษอาหารจนกลายเป็นก้อนไขมันอุดตันท่อ ก็ต้องโซนนิ่งเหมือนสิงคโปร์ ที่จัดเป็น Hawker Center ไปเลย เก็บค่าแผง มีระบบจัดการขยะ ห้องน้ำ ครบวงจร
สายประชาธิปไตยสามกีบ ตอนนี้ก็แบบว่า…เหมือนกับไม่ค่อยพอใจ อ.ทริปเท่าไร เห็นคอมเมนท์ในอินเทอร์เนตบ่อยๆ ไป ทำนองว่า ผู้ว่าฯ มัวแต่ประโลมโลกย์ให้กรุงเทพฯ ทำให้คนกรุงเทพฯ ชักจะไม่ค่อยสนใจปัญหาเรื่องเยาวชนต้องโทษคดี 112 ที่ยังถูกจับกุมคุมขังทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษา หรือแกนนำม็อบคนอื่นที่โดนคดีก่อนหน้านี้ ไอ้จะนัดกันไปแสดงพลังในงานบันเทิงที่เขามีความสุขกัน เห็นจะโดนโห่ไล่ว่าเสร่อ ก็ขนาดนายจตุพร พรหมพันธุ์ กับทนายนกเขา นิติธร ล้ำเหลือ จัดงานเรื่องเรียกร้องพลังงานราคาถูกที่ลานคนเมือง โผล่ไปรณรงค์ยกเลิก 112 ยังโดนไล่ออกมา
แต่เมื่อ อ.ทริปกำหนดพื้นที่โซนนิ่งให้มีการชุมนุม ก็ควรจะต้องขออนุญาตให้เรียบร้อย เพื่อการอำนวยความสะดวกและการรักษาความปลอดภัย และที่สำคัญคือไม่รบกวนผู้อื่น ..นโยบายโซนนิ่งการชุมนุมนี้ อ.ทริปเขาเสนอมาตั้งแต่ก่อนลงสมัครผู้ว่าฯ ..เชื่อว่าหลายคนโดยเฉพาะย่านดินแดงเบื่อเต็มทีแล้วกับม็อบใช้ความรุนแรงบนถนน หรือปิดถนน …ถ้าบอกว่าการโซนนิ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินไป ก็ต้องบอกว่า ถ้าปล่อยเพ่นพ่านเกินไปก็ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ถ้าอยากให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นข่าว ก็เห็นมี“นักข่าวภาคพลเมือง”ช่วยรายงานผ่านโซเชี่ยลมีเดีย
เรื่องการไลฟ์บ่อยๆ อ.ทริปอธิบายทำนองว่า มันเป็นเรื่องที่น่าจะทำ เพราะจะได้เห็นว่า ผู้ว่าฯ กทม.ทำงานได้คุ้มกับภาษีประชาชนหรือไม่ แต่บางที อ.ทริปอาจต้องกลับมาคิดถึงเรื่อง “เนื้อหาที่ละเอียดอ่อนในการไลฟ์” เพราะบางครั้งมันกลายเป็นการเปิดข้อมูลแบบผิดๆ ถูกๆ ต่อสาธารณชน และทำให้ข้าราชการประจำโดนด่า ..ซึ่งบางเรื่องที่มีปัญหา ไม่ต้องรีบออกแอคชั่นในไลฟ์ก็ได้ จะคุยกันก่อนไลฟ์ก็ได้ ให้ข้อมูลมันถูกต้องครบถ้วนที่สุด
อย่างกรณีช่วง อ.ทริปรับตำแหน่งใหม่ๆ ก็ไปดูเรื่องการระบายน้ำในช่วงฝนตกหนัก แล้วบังเอิญข้าราชการรายงานไปผิดๆ ถูกๆ ว่า มีการขุดลอกคลองในกรุงเทพฯ ไป 2 คลอง เล่นเอา อ.ทริปออกแอคชั่นตกใจใหญ่ ไปๆ มา ๆการขุดลอกคลองมันมีมาก่อนหน้านั้น และทำไปหลายสายแล้ว กลายเป็นว่า คนรับสารจากการดูไลฟ์ครั้งนั้นไปแล้ว จะมาทำความเข้าใจต่อหรือไม่ว่า เป็นการรายงานที่ผิดพลาด จะเพราะความตื่นเต้นหรือความไม่รู้ก็แล้วแต่
แล้วยังมีกรณีที่วิ่งๆ แถวอารีย์ ไปพบพนักงานกวาดขยะมารายงานว่า ท่อมันระบายน้ำไม่ได้ อ.ทริปก็หันไปพูดกับกล้องว่า นอกจากกรุงเทพฯ จะมีกล้องดัมมี่แล้วยังมีท่อดัมมี่อีก พอเขตพญาไทลงไปตรวจสอบมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรขนาดนั้น เป็นเรื่องที่ท่ออยู่สูงกว่าระดับถนนจึงระบายน้ำลำบากบ้าง ก็ต้องแก้ไข แต่ก็เช่นกันคือ ข้าราชการโดนด่าไปเรียบร้อย จนกรณีนี้คุณทริปต้องไปเดินหาตัวพนักงานกวาดขยะมาคุยอีกรอบ ไม่ให้มีปัญหากับ ผอ.เขต
ต่อมา มีกรณีไปตรวจสถานีระบายน้ำที่บางซื่อ อ.ทริปได้พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าแถวนั้น ซึ่งเป็นจุดผ่อนผันให้ค้าขายได้ แต่ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้เทศกิจ ( เพื่อรักษาความสะอาดหรือจัดระเบียบก็แล้วแต่ ) มีแม่ค้ามาฟ้องว่า เทศกิจมาเก็บเงินแต่ไม่มีใบเสร็จ เจ้าหน้าที่เทศกิจที่อยู่ที่นั่นจึงเข้ามาชี้แจงว่าไม่มีกรณีดังกล่าว…แต่ลองคิดดูแล้วกันว่าจะเหมือนสองกรณีก่อนหรือไม่ที่ทำข้าราชการถูกด่าไปเรียบร้อยแล้ว บางทีเจ้าหน้าที่คนนั้นอาจตอบสั้นๆ แต่จริงๆ ต้องไปหาต้นขั้วใบเสร็จมายืนยัน ..อย่าให้ถึงขนาดต่อไป มีแม่ค้ามีเรื่องกับเทศกิจ หรือใครมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่ ข้าราชการของ กทม. ก็ทำตัวแบบฉลาดแกมโกง อาศัยฟ้องกันระหว่างไลฟ์สดซะเลย
ทั้งหมดนี้ก็อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ดูปัญหาหน้างานให้ละเอียดก่อนที่จะพูดอะไรออกไลฟ์ ข่าวบางทีมันแพร่สะพัดไปแล้ว หลายคนไม่ตามต่อว่าเขาชี้แจงว่าอย่างไร แต่คนถูกกล่าวถึงบางครั้งเสียหายไปเรียบร้อยแล้ว ..ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่อยากฝากสื่อคือความที่ อ.ทริปเป็นคนเข้าถึงง่าย ตามตัวง่ายจากการไปไลฟ์ ขอสัมภาษณ์ก็ไม่น่าจะยาก ก็ขอให้ติดตามเรื่องนโยบายที่เสนอเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ว่าทำได้แค่ไหน อย่างนโยบายผู้ว่าฯ เที่ยงคืน ที่ว่าจะไปดูจุดเสี่ยงต้องเพิ่มไฟสาธารณะ เพิ่มรถเมล์ดึก ตอนนี้ทำไปถึงไหน
แต่ไม่ใช่ไปติดตามกรณี “ข่าวตีปิงปอง” อย่างกรณีตลกรุ่นใหญ่ออกมาแสดงความเห็นว่า อ.ทริปเอาแต่วิ่งไม่ยอมทำงาน ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปขยายความขัดแย้งตรงนี้ให้โต้กันไปโต้กันมาทำไม เรื่องมันไม่มีราคาพอจะเป็นข่าวด้วยซ้ำ ..ต่อไป อ.ทริปมิต้องตอบทุกคำถามไร้สาระที่มีคนวิจารณ์หรือ ? ถ้าเอาแค่เรื่องแบบนี้มาเป็นประเด็น
ก็เป็นเรื่องที่อยากฝากไว้ ผลงานสำคัญคือทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”