เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหดตัวเร็วกว่าที่คาดไว้มากในไตรมาสที่สาม เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตทั่วโลกและการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภค กลายเป็นความท้าทายสำหรับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่

ในขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่าเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกจะฟื้นตัวในไตรมาสปัจจุบัน แต่ปัญหาการผลิตทั่วโลกที่มีสภาพเหมือนติดอยู่ที่คอขวดและกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อแนวโน้มดังกล่าว

ทาเคชิ มินามิ ประธานทีมเศรษฐกิจของสถาบันวิจัยโนรินชุกิน กล่าวว่า “การหดตัวนั้นใหญ่กว่าที่คาดไว้มาก เนื่องจากข้อจำกัดของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งกระทบต่อผลผลิตและการลงทุนอย่างหนัก

“เราคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในไตรมาสนี้ แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากปริมาณการบริโภคในช่วงเริ่มต้นไม่ดีนัก แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนกันยายน”

จากการเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเบื้องต้น (GDP) เมื่อวันจันทร์ที่15 พ.ย. เศรษฐกิจในญี่ปุ่นหดตัวลง 3.0% ต่อปีในเดือน ก.ค.-ก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.5% ในไตรมาสแรก เทียบกับค่ากลางของการคาดการณ์ว่าจะหดตัว 0.8%

ค่าจีดีพีที่ไม่มากนักขัดกับตัวเลขที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากประเทศที่ก้าวหน้าอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวถึง 2.0% ในไตรมาสที่สาม จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งเนื่องจากอั้นมานาน

เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ค่าจีดีพีของญี่ปุ่นลดลง 0.8% ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 0.2%

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ วางแผนที่จะรวบรวมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มูลค่าหลายสิบล้านล้านเยนในวันศุกร์นี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนไม่มั่นใจเรื่องผลกระทบต่อการเติบโตของจีดีพีในระยะสั้น

มินามิจากสถาบันโนรินชุกิน กล่าวว่า “แพคเกจนี้น่าจะเป็นการผสมกันระหว่างมาตรการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งอาจไม่ชัดเจนว่าจะเน้นจุดใด ดังนั้นก็จะไม่ส่งผลกระทบมากนักในระยะสั้น”

ยอดการบริโภคของญี่ปุ่นลดลง 1.1% ในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนจากไตรมาสก่อนหน้า หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนเมษายน-มิถุนายน ส่วนยอดการลงทุนก็ลดลง 3.8% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.2% ในไตรมาสก่อน ทางด้านอุปสงค์ในประเทศก็ลดลง 0.9% ซึ่งบ่งชี้ถึงการเติบโตของค่าจีดีพี

ยอดการส่งออกของญี่ปุ่นตกลงเหลือ 2.1% ในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิปและข้อจำกัดด้านห่วงโซ่อุปทาน

จากการวิเคราะห์ผลจากการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 5.1% ต่อปีในไตรมาสปัจจุบัน เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวของผู้บริโภคมากขึ้นและผลผลิตสินค้าประเภทรถยนต์เริ่มฟื้นตัว หลังจากโควิด-19 ระบาดน้อยลงและปัญหาวิกฤติด้านวัตถุดิบในการผลิตที่ลดน้อยลง

บริษัทญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและปัญหาคอขวดของอุปทาน ซึ่งจะกลายเป็นตัวบ่อนทำลายภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะสั้นถึงระยะกลางของประเทศ

เครดิตภาพ : Reuters