เรียน คุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ

ผมอายุ 68 ปี เป็นข้าราชการบำนาญ สุขภาพร่างกายโดยรวมก็แข็งแรงดี น้ำตาลในเลือดปกติ 90-110 มก./ดล. ระดับไขมันในเลือดคอเลสเตอรอล 150 มก./ดล. ไตรกลีเซอไรด์ 90 มก./ดล. ความดันเลือดได้ 115/70 มม.ปรอท ประมาณปี 64-65 เริ่มมีอาการปัสสาวะบ่อยมาก กลางคืนจะต้องลุกเข้าห้องน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อคืน และปัสสาวะก็ไม่พุ่งจะไหลออกมาเป็นเพียงหยดเท่านั้น จึงเข้ารับการตรวจจากแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน แพทย์บอกว่าเป็นต่อมลูกหมากโตและให้ยามารับประทาน ซึ่งก็ทำให้อาการดีขึ้นมาได้เกือบ 3 ปี

แต่พอปีนี้ อาการกลับแย่ลงและมีอาการมากขึ้น แพทย์จึงได้แนะนำให้ผ่าต่อมลูกหมากออก และก็ตัดสินใจผ่าต่อมลูกหมากออกตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งหลังจากที่ผ่าตัดต่อมลูกหมากแล้วก็ยังสามารถร่วมเพศได้เป็นปกติเหมือนเดิม แต่จะพบว่าไม่สามารถที่จะหลั่งน้ำอสุจิได้เลย ซึ่งทำให้ไม่มีความสุขจากการร่วมเพศเลยจึงทำให้เครียดมาก จึงอยากเรียนถามคุณหมอว่าจะพอมีวิธีรักษาอาการไม่หลั่งแบบนี้ได้ไหม

ด้วยความนับถือ

โยธิน

ตอบ โยธิน

เนื้องอกของต่อมลูกหมากแบบธรรมดาและมะเร็งต่อมลูกหมากถือเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในชายสูงวัย ซึ่งเนื้องอกของต่อมลูกหมากแบบธรรมดาอาจพบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และจะมีอัตราสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งเนื้องอกของต่อมลูกหมากแบบธรรมดาและมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะทำการรักษาโดยวิธีการผ่าตัด สำหรับเนื้องอกของต่อมลูกหมากแบบธรรมดามีวิธีผ่าตัดหลายวิธี เช่น วิธีแรกเป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องผ่านเข้าไปทางท่อปัสสาวะ เพื่อจะทำการคว้านต่อมลูกหมากบางส่วนที่อยู่รอบ ๆ คอของกระเพาะปัสสาวะออก วิธีที่สองและสามจะเป็นการเปิดหน้าท้อง และผ่ากระเพาะปัสสาวะทางด้านหน้าเพื่อเข้าไปตัดต่อมลูกหมากบางส่วนที่อยู่รอบ ๆ คอกระเพาะปัสสาวะออก วิธีสุดท้ายจะเป็นการผ่าโดยผ่าตัดผ่านทางฝีเย็บ

วิธีการผ่าตัดต่อมลูกหมากที่กล่าวมาล้วนมีผลต่อสมรรถภาพทางเพศแตกต่างกันไป ซึ่งวิธีแรกนั้นจะไม่ไปรบกวนเส้นประสาทและเส้นเลือดที่มาควบคุมหรือหล่อเลี้ยงองคชาตจึงทำให้มีผลต่อการแข็งตัวขององคชาตน้อยทำให้อวัยวะเพศของผู้ป่วยยังสามารถแข็งตัวได้เพียงพอสำหรับการร่วมเพศ อาจจะพบได้เพียงร้อยละ 5 ที่เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แต่สิ่งที่จะพบได้เกือบทั้งหมดคือผู้ป่วยจะมีปัญหาน้ำอสุจิไหลย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ จึงไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิออกมาข้างนอกเมื่อถึงจุดสุดยอดของการร่วมเพศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ถือเป็นเรื่องปกติหลังจากการผ่าตัดนำต่อมลูกหมากออก แต่ความรู้สึกทางเพศของผู้ป่วยจะมีเหมือนเดิม ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนปกติ

แต่หากพบว่าหลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกแล้วตัวคุณเกิดความสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ คืออวัยวะเพศไม่เกิดการแข็งตัวอย่างเคย หรือในบางรายการควบคุมการปัสสาวะเสียไป ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีวิธีการรักษาหลายวิธีที่ได้ผลขอใช้เวลา 10 อาทิตย์หากอดทนรักษาอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้ คือ การติดเชื้อ, ปอดบวม, ภาวะเลือดออก, การทำงานของกระเพาะปัสสาวะลดลง, มีลิ่มเลือด, การกลั้นปัสสาวะไม่ดีเท่าก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไขและบรรเทา และแม้ไม่มีอาการแทรกซ้อนใด ๆ ผู้ป่วยก็ควรพบแพทย์ตามนัด และฝึกถูกต้องตามแพทย์แนะนำ ถ้าฝึกถูกต้องก็จะสามารถแข็งตัวได้นาน 30 นาทีทุกครั้งที่ร่วมเพศ.

…………………………………
ดร.โอ สุขุมวิท 51

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่