เพราะเป็น “ต้นตำรับ” จึงสร้างกระแสฮือฮา…เมื่อ “เดลินิวส์” ได้นำ “เสพสม บ่มิสม” คอลัมน์ตอบปัญหา “เรื่องเพศ-เรื่องเซ็กซ์” ที่โด่งดัง จาก “หนังสือพิมพ์เดลินิวส์” สู่ “เดลินิวส์ออนไลน์”… นั่นคือ “เสพสม บ่มิสม Stories by เดลินิวส์” ทาง Youtube : DailynewsOnline นำเสนอคืนวันอังคาร เวลา 21.30 น. ซึ่งมี “ซานิ-นิภาภรณ์ ฐิติธนการ” ดำเนินรายการ และมี “คุณหมอปอ-รศ.นพ.นพดล สโรบล” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา หัวหน้าศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มาให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมมี “แขกรับเชิญแซ่บ ๆ” ร่วม “ไขปัญหาเซ็กซ์”
ทั้งนี้ พลิกย้อนจาก “เสพสม บ่มิสม Stories by เดลินิวส์” ทาง Youtube : DailynewsOnline ที่นำเสนอตอนแรกไปเมื่ออังคารที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา… “เสพสม บ่มิสม” นั้นเป็นหนึ่งใน “คอลัมน์ที่มีอายุยาวนานสุด ๆ” ของ “หนังสือพิมพ์เดลินิวส์” โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี 2521 ถึงวันนี้ก็กว่า 46 ปีแล้ว โดยยังมีกระแสตอบรับจากแฟน ๆ คับคั่งเหนียวแน่นต่อเนื่อง กับการนำ “เรื่องเพศ-เรื่องเซ็กซ์” ที่ควรรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องมาสู่พื้นที่สาธารณะ จน “สร้างปรากฏการณ์” ในสังคมไทยมาแต่อดีต ซึ่งถึงขั้นในทางวิชาการก็ทึ่ง ในทาง “มานุษยวิทยา-สังคมวิทยา” ก็มีการนำปรากฏการณ์นี้ไปศึกษาวิเคราะห์
“เสพสม บ่มิสม” คนไทยตอบรับเซ็งแซ่
จนวันนี้ยุคออนไลน์ก็ยังโด่งดังไม่แผ่ว!!
คอลัมน์ “เสพสม บ่มิสม” ทาง “หนังสือพิมพ์เดลินิวส์” ที่แม้มีอายุกว่า 46 ปี…ก็ยังเป็น “คอลัมน์ฮิต” และเมื่อ ต่อยอดสู่ออนไลน์… “Youtube : DailynewsOnline” กับรายการ “เสพสม บ่มิสม Stories by เดลินิวส์” นำเสนอคืนวันอังคาร เวลา 21.30 น. “กระแสตอบรับก็อื้ออึง” นั้น… หากย้อนดู การศึกษาวิเคราะห์ “เสพสม บ่มิสม” ทางวิชาการ ก็มีบทความโดยนักวิจัยอิสระ อดีตอาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คือ อ.ณภัค เสรีรักษ์ ที่ตีพิมพ์ในวารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา ฉบับ 31 ม.ค.-มิ.ย. 2555 ที่ฉายภาพไว้ ซึ่งเป็นการศึกษาที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์หัวข้อเสพสม บ่มิสม : ภาพตัวแทนความสุขทางเพศไทย พ.ศ. 2521-2540
ทางอาจารย์ท่านดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า… เกิดความสนใจคอลัมน์นี้ในฐานะที่คอลัมน์ดังกล่าว แตกต่างจากเพศศึกษาทางการ โดยคอลัมน์ถามตอบปัญหาเพศในเชิงการแพทย์ อย่าง “เสพสม บ่มิสม” โดยผู้ใช้นามปากกา “นพ.นพพร” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 นับเป็นแหล่งความรู้เรื่องเพศที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะ ความรู้เรื่องเพศในเชิงกามารมณ์และ ความสุขสมทางเพศ หรือ “เพศรสศึกษา” ตั้งแต่ยุคที่สังคมไทยไม่พูดเรื่องเพศในที่สาธารณะ
ภายใต้บริบทของการถกเถียงว่าจะสอนเพศศึกษาได้มากน้อยแค่ไหนในสังคมไทยสมัยนั้น ที่ยังไม่มีการบรรจุหลักสูตรเพศศึกษาในระบบโรงเรียน มีข้อค้นพบว่า “แหล่งข้อมูลหลักเรื่องเพศของนักเรียนมัธยม” ขณะนั้นคือสื่อหนังสือพิมพ์ นั่นคือคอลัมน์ “เสพสม บ่มิสม” ของ “เดลินิวส์” เนื่องจากคอลัมน์นี้ มีทั้งการนำเสนอเรื่องเพศในลักษณะเชิงวิชาการ เหมือนวิชาเพศศึกษาในระบบโรงเรียนทางการ และยัง สอนเรื่องเพศเกี่ยวกับกามารมณ์ ความใคร่ จนถึงความสุขสมของการร่วมเพศไปพร้อม ๆ กัน ผ่านรูปแบบของการนำเสนอที่ค่อนข้าง ตรงไปตรงมา และชัดเจน เพื่อให้ความรู้กับผู้คน
แม้จะมีเสียงวิจารณ์จากคนไทยบางส่วนในเวลานั้น เช่น “เร้าอารมณ์เพศ” แต่คอลัมน์ “เสพสม บ่มิสม” ก็ตีพิมพ์สม่ำเสมอ และได้กระแสตอบรับจากคนไทยเวลานั้นต่อเนื่อง เนื่องจากเวลานั้นแทบไม่มีสื่อสารมวลชน หรือแหล่งข้อมูลความรู้อื่นใด ที่นำเสนอเรื่องเพศในรูปแบบเดียวกัน จนอาจกล่าวได้ว่า…คอลัมน์ “เสพสม บ่มิสม” ถือเป็น “พื้นที่อันทรงอิทธิพลในการสถาปนาอำนาจของความรู้ทางการแพทย์ ในการนิยามความหมายเรื่องเพศและการร่วมเพศ” ให้กับผู้อ่าน
ส่วนในอีกแง่หนึ่ง ทาง อ.ณภัค เสรีรักษ์ ได้ระบุไว้ว่า… อาจกล่าวได้ว่า การถามตอบปัญหาในคอลัมน์ “เสพสม บ่มิสม” แสดงให้เห็น “ภาพชีวิตทางสังคมแบบสมัยใหม่” ในสมัยนั้นและ “เสพสม บ่มิสม” ทำให้คนไทยมี “ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศในแบบสมัยใหม่” ด้วย ขณะที่ในแง่การนำเสนอเรื่องเพศในแบบฉบับของ “เสพสม บ่มิสม” ที่เป็นการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย โดยเฉพาะการทำเรื่องทางการแพทย์ให้คนอ่านเข้าใจง่าย และนำเสนอเรื่องเพศในแง่เทคนิคการร่วมเพศเพื่อความสุขทางเพศ ด้วยทรรศนะที่มองเรื่องเพศในแง่บวกนั้น ก็ยัง ถือเป็น “งานเขียนแบบอย่าง” ที่ “ปูทางให้สื่อเพศศึกษาอื่น ๆ ในเวลาต่อมา” อีกด้วย …นี่เป็น “ภาพปรากฏการณ์ เสพสม บ่มิสม” ที่ถูกฉายไว้ในการศึกษาวิเคราะห์ทางวิชาการ
งานวิชาการดังกล่าวยังระบุไว้ว่า… โดยสรุป การปรากฏขึ้นของ “เสพสม บ่มิสม” อาจนับเป็นหลักหมายหนึ่งที่แสดงให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทรรศนะต่อเรื่องเพศในสังคมไทย ที่อย่างน้อยที่สุดคือ เปิดให้เรื่องเพศมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้นคู่กับความรู้เพศศึกษาในระบบโรงเรียนที่เป็นทางการ ซึ่ง “เสพสม บ่มิสม” ไม่ได้มองเพศศึกษาเชิงกามารมณ์ในแง่ลบ แต่มองเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่เหมือนเพศศึกษาทางการ ที่มักเก็บงำเรื่องนี้ไว้ราวกับไม่มีอยู่จริง ทั้งนี้ กับคอลัมน์ที่คลาสสิกอมตะนี้ นักวิชาการท่านเดิมระบุไว้ด้วยว่า… นับได้ว่า’เป็นเพศศึกษาแบบหนึ่ง“ และอาจกล่าวได้ว่า “เสพสม บ่มิสม” เกิดขึ้นมาเพื่อ “รองรับวิถีชีวิต วิถีปฏิบัติทางเพศภายใต้วิธีคิดแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคม”
“เสพสมฯ” ล่าสุด “รองรับยุคออนไลน์”
และ “รับยุคหลากหลายทางเพศด้วย”
“อังคาร 21.30 น.” ก็ “พิสูจน์กันได้!!”.