สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองเบงกาลูรู ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ว่าบริษัทเทคโนโลยีของอินเดีย ประณามข้อเสนอสงวนตำแหน่งงานมากกว่าครึ่งหนึ่ง ให้กับลูกจ้างชาวท้องถิ่นในเมืองเบงกาลูรู ที่กำลังถูกผลักดันให้เป็นเมืองมหาอำนาจด้านไอทีของประเทศ
เมืองเบงกาลูรู หรือที่รู้จักในนามซิลิคอนวัลเลย์ของอินเดีย เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ระดับชาติของกูเกิล และสำนักงานใหญ่ด้านเทคโนโลยีของอินเดีย อาทิ ทาทา คอนซัลแทนซี เซอร์วิสเซส และอินโฟซิส
นอกจากนั้น เมืองแห่งนี้ยังดึงดูดผู้มีความสามารถด้านวิศวกรรมชั้นนำจากทั่วประเทศ และรับผิดชอบผลผลิตของรัฐกรณาฏกะประมาณ 1 ใน 4 หรือประมาณ 336,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 12 ล้านล้านบาท)
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา นายสิทดาราไมยะห์ มุขมนตรีของรัฐกรณาฏกะ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังจัดทำกฎหมายใหม่ เพื่อบังคับจ้างลูกจ้างท้องถิ่น ที่พูดภาษาพื้นเมืองของรัฐ มากกว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมดในบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนในนท้องถิ่นจะไม่ถูกกีดกันออกจากงาน และสามารถมีชีวิตอย่างสะดวกสบายในบ้านเกิดได้
อย่างไรก็ตาม สมาคมบริษัทซอฟต์แวร์และบริการแห่งประเทศอินเดีย (แนสคอม) แสดงความกังวลว่าเรื่องนี้ จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และกลายเป็นการขับไล่บริษัทที่มีชื่อเสียง เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ๆ ในแวดวงอุตสาหกรรมอินเดีย ซึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน อาทิ นายคิรัน มาชุมดาร์-ชอว์ ผู้ก่อตั้งและประธานไบโอคอน บริษัทเภสัชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ เตือนว่า กฎหมายฉบับนี้อาจเป็นอันตรายต่อการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของเมืองเบงกาลูรู
ด้านนายโมฮันดาส ปาย อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของอินโฟซิส กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว “เลือกปฏิบัติและก้าวถอยหลัง” แม้อินเดียจะมีผู้ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่า 5.5 ล้านคน แต่ตำแหน่งงานในเมืองเบงกาลูรูเป็นที่ต้องการมากที่สุด และการหลั่งไหลเข้ามาของชาวอินเดียจากภูมิภาคอื่น สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ใช้ภาษากันนาดา ซึ่งเป็นภาษาหลักในพื้นที่
ขณะนี้ ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษากลางของเมืองเบงกาลูรู ส่งผลให้นักเคลื่อนไหวในท้องถิ่นประท้วง เรื่องการใช้ภาษาอังกฤษบนป้ายโฆษณา อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดเรื่องอัตลักษณ์ทางภาษาถือเป็นเรื่องปกติในอินเดีย ซึ่งมีภาษาประจำภูมิภาคหลายร้อยภาษา ซึ่งภาษาฮินดี ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด มีผู้พูดเป็นภาษาแรกเพียงร้อยละ 40 ของประชากร.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES