คดีของผู้กำกับโจ้ ยังแตกแขนงออกไปหลายเรื่อง จากการกระทำของ กลุ่มตำรวจนอกรีต แต่สะท้อนไปถึงปัญหาใหญ่ ไล่ตั้งแต่ประเด็น การปฏิรูปตำรวจไทย ไปถึงไหนแล้ว อีกทั้งยังมีปมเรื่อง กฎหมายเพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ซึ่งระยะหลังผู้ก่อเหตุกลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เมื่อมาเกิดคดีตำรวจนอกรีตใช้ถุงคลุมหัวทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิตให้สังคมได้รับรู้ ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎร เพิ่งจะมีมติเห็นชอบรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ… พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ 25 คน ประชุมนัดแรก ไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา
“บิ๊กใหม่” สืบย้อนหลังเจอหลักฐานเด็ด
นอกจากนี้มีอีกเรื่องที่สังคมก็ยังให้ความสนใจคือ ประเด็นการจับกุม คดีรถหรูหนีภาษี ช่วงปี 2554-2560 มีชื่อของ ผกก.โจ้ อยู่ที่ฐานข้อมูลกรมศุลกากร จับกุมและนำรถหรูส่งให้กับกรมศุลกากร รวมทั้งสิ้น 368 คัน ขายทอดตลาดได้กว่า 1 พันล้าน ทั้งที่ช่วงปี 2549-2561 ผกก.โจ้ ยังเป็น รองสว.-รอง ผกก.ประจำอยู่ บก.ปส. แต่ไปมีผลงานโดดเด่นจับกุมรถหรูหนีภาษี ได้สินบนนำจับนับร้อยล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าทีมสืบสวนสอบสวนคดีของ ผกก.โจ้ ให้ความสำคัญไม่น้อยจากประเด็นอื่น ๆ ระดมทีมนักสืบมือดี ไล่ตามไปดูคดีย้อนหลังอย่างต่อเนื่อง พบข้อมูลว่า ช่วงปี 2554-2560 ผกก.โจ้ มีชื่อเกี่ยวข้องจับกุมรถหลบเลี่ยงเสียภาษี 410 คันอยู่จริง เป็นรถแจ้งหายไว้ที่ต่างประเทศอย่าง มาเลเซีย และ สิงคโปร์ 270 คัน (รถที่ถูกแจ้งหายก่อนตรวจยึด 101 คัน และ รถที่แจ้งหายหลังถูกตรวจยึด 169 คัน) ส่วนรถที่เหลือ 140 คัน ยังไม่พบแหล่งที่มา ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม
พล.ต.อ.สุชาติ ยืนยันชัดว่า วิธีการจับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการยึดก่อนที่รถจะผ่านเข้าประเทศด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังพบพิรุธอีกหลายประเด็น รถเหล่านี้ส่วนใหญ่ชาวต่างชาติเป็นคนนำเข้ามา ก่อนบุคคลดังกล่าวจะเดินทางกลับด้วยสายการบิน ซึ่งในส่วนนี้ได้มอบหมายให้ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เร่งตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดว่า บุคคล ดังกล่าวนำรถเข้ามาในประเทศแล้วกี่คัน เป็นรถคันใดบ้างเพื่อให้หลักฐานมีความแน่นหนา มั่นใจว่าจะสามารถเอาผิดเพิ่มเติม ผกก.โจ้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แน่นอน เพียงแต่ขอเวลาให้ตำรวจรวบรวมข้อมูลจากกรมศุลกากรและสถาบันการเงินอย่างครบถ้วนเสียก่อน
’ตอนนี้ได้รับข้อมูลรถทั้ง 410 คัน จากทางศุลกากรค่อนข้างมาก ตั้งแต่การเข้ามาของรถ ใครเป็นคนนำเข้า มา ใครเป็นนอมินี และใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้บ้าง มีข้อมูลหมด แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้“
“ฟอกรถหรู” จากใต้มีมานาน
อย่างไรก็ดีทีมข่าว 1/4 Special Report ได้มีโอกาสพูดคุยกับ แหล่งข่าว ในพื้นที่ จ.สงขลา เคยตามเกาะติดข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการนำเข้ารถเถื่อน รถหรูหนีภาษี จากชายแดนภาคใต้ ให้มุมมองว่า การจับ รถหรูหนีภาษี หรือ รถเถื่อน ไม่ใช่เพิ่งเกิดเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว โดยทำเป็น ขบวนการใหญ่ อาศัยช่องโหว่กฎหมาย นำรถหรูราคาแพงที่เข้าจากทางใต้แบบผิดกฎหมาย มาฟอกทำให้ถูกกฎหมาย ถือว่าเป็นการวางแผนลงทุนแบบแยบยล ผกก.โจ้ เพียงคนเดียวทำไม่ได้ ต้องทำเป็นขบวนการ นับว่าเป็นเรื่องดีที่ พล.ต.อ.สุชาติ ยังเกาะติดไม่ ถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน ปี 2560 เพราะหลังจากปี 2560 มีการแก้ไข กฎหมายศุลกากร เพื่ออุดช่องโหว่ปัญหากับแก๊งที่หากินนำเข้ารถหรูเถื่อน อาทิ กรมศุลกากรปรับปรุงระบบจ่ายเงินรางวัล ลดการจ่ายสินบนนำจับเหลือ 20% ต่อ 1 คดี และ เพดานไม่เกิน 5 ล้านบาท นอกจากนี้ยังประสานกับ กรมการขนส่งทางบก ยกเลิกการจดทะเบียนรถ กรณีนำเข้ามาโดยไม่ถูกต้อง รวมทั้ง กระทรวงพาณิชย์ ก็ออกระเบียบให้เป็นสินค้าต้องห้าม ฯลฯ
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า ช่วงก่อนปี 2560 ก่อนจะมีการปรับปรุง พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ขบวนการนำเข้ารถหรูเถื่อนถือว่าเฟื่องฟูอย่างมาก จะเรียกว่าเป็นธุรกิจทำงานเงินมหาศาลกันในเฉพาะกลุ่มก็ว่าได้ โดยมีอยู่เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น อย่างกรณี ของ ผกก.โจ้ ถ้าไม่มาเกิดคดีถุงคลุมหัวทรมานผู้ต้องหาเสียชีวิต สังคมคงไม่มีใครรู้ว่า ผกก.โจ้ ซึ่งขณะนั้นหน้างานหลัก ประจำอยู่ บช.ปส. แต่ไปมีผลงานโดดเด่นจับรถหรูเถื่อน ส่งมอบให้ศุลกากรได้มากถึง 400 สำนวน เรียกว่าแทบจะบันทึกเป็นสถิติ ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไม รถหรูเถื่อน จึงต้องนำเข้ามาจากทางชายแดนใต้ เนื่องจากประเทศมาเลเซีย ส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ สัญชาติมาเลย์ ผลิตยี่ห้อโปรตอน มาจำหน่ายราคาไม่สูง ประชาชนที่มีกำลังทรัพย์น้อยก็สนับสนุน แต่ใครพอมีฐานะหรือกลุ่มนักธุรกิจจะขยับมาใช้รถหรู หรือซูเปอร์คาร์ นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งของฝั่งยุโรป อเมริกา สนนราคาถูกกว่าประเทศไทยหลายเท่า เพราะกำแพงภาษีรถยนต์ไม่ได้สูงลิ่ว 300% แบบไทย
“รถหรู ราคาแพงสารพัดรุ่น สารพัดยี่ห้อ มีวิ่งมีใช้กันมากมายตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น กัวลาลัมเปอร์, บัตเตอร์เวิร์ต, ปีนัง, ยะโฮร์, ปาหัง และ มะละกา ฯลฯ ยิ่งถ้าบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ปกติ ไม่มีโควิด-19 จะเห็นทั้งรถยนต์หรูและมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ทะเบียนจากมาเลย์ ขับเข้ามาเที่ยวใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วิ่งเข้ามาทางด่านพรมแดนสะเดา ด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ด่านพรมแดนเบตง จ.ยะลา หรือ ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ยิ่งก่อนหน้านี้ประมาณ 20 ปีก่อน บรรดากลุ่มนายทุน พ่อค้า และข้าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ นิยมซื้อรถเบนซ์มือสอง จากมาเลเซีย ขับวิ่งกันให้คึกคัก”
แฉทำเป็นเครือข่ายขบวนการใหญ่
กระทั่งมาช่วงก่อนปี 2560 กลุ่มขบวนการฟอกรถหรูเถื่อน เริ่มสบช่องทำธุรกิจรถหรูราคาแพง อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เรียกว่าสามารถเน้นหารถหรูตามออร์เดอร์เลยก็ว่าได้ สำหรับรูปแบบการฟอกรถเถื่อน จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมากนัก ยุคแรก ๆ พัฒนาจากช่องโหว่นำเข้า รถ จดประกอบ มาประกอบใหม่ แล้วจดทะเบียนถูกต้องขาย สุดท้ายกลายเป็นนำเข้ารถทั้งคัน แต่กว่าเจ้าหน้าที่จะจับได้ไล่ทัน มาอุดช่องโหว่ พ.ร.บ. ศุลกากร 2560 ขบวนการนี้ต่างก็ได้ทั้งรถหรูและเงินมหาศาล
สำหรับการนำเข้ารถหรู มีทั้งลงทุนไปซื้อ เช่า ขโมย จาก เอเย่นต์ ในต่างแดน แล้วมีจะมี มือรับจ้าง ขับรถเป้าหมายขับเข้ามาตามด่านต่าง ๆในเมืองไทย ถ้าเป็นรถซื้อหรือเช่าจะขับเข้ามาถูกต้อง แต่ถ้ารถขโมย จะหาช่องทางลักลอบเข้ามาจนได้ เมื่อ เข้าถึงเมืองไทยไปจอดตามจุดที่นัดพบ ก่อนจะมี สายลับ โทรศัพท์แจ้งเบาะแสชี้เป้าให้ เจ้าหน้าที่ มาจับกุมส่งศุลกากร แต่รถหรูเกือบทุกคันจะถูกถอด กล่องสมองกล (ECU) ออก เพื่อให้เวลาประมูลแข่งจะไม่ค่อยมีใครอยากได้ เพราะถ้าประมูลไปแล้วก็ต้องลงทุนไปซื้อหากล่องสมองกลราคาค่อนข้างแพงมาใส่อีก กลุ่มที่มาประมูลได้จึงเป็น หน้าม้า เครือข่ายเดียวกัน
เมื่อประมูลจากกรมศุลกากรได้แล้วค่อยนำกล่องสมองกลกลับมาใส่รถเหมือนเดิม
แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้ายว่า จากนั้นรถหรูที่ผ่านการประมูลตามขั้นตอน จะเข้าสู่ กระบวนการฟอก โดยนำรถหรูไปยื่นกรมขนส่งให้ตรวจสอบจดทะเบียน กลายเป็น รถถูกกฎหมาย นำไปขายต่อให้ลูกค้าตามออร์เดอร์ ทั้งนี้ราคารถหรู หรือซูเปอร์คาร์ ที่ผ่านกระบวนการฟอกขาว ตั้งแต่ลอบนำเข้า-ประมูล-จดทะเบียน ก็ยังต่ำกว่าราคาขายในไทย เลยทำให้เป็นที่นิยมซื้อง่ายขายคล่องในวงการอย่างมาก แต่ เครือข่ายฟอกรถหรูเถื่อน ไม่ได้แค่มีรายได้จากการขายเท่านั้น พอคดีเสร็จสิ้น ยังรอ รับทรัพย์ก้อนโต ทั้งเงินรางวัลของ สายลับชี้เบาะแส และ เงินสินบนนำจับของ ชุดจับกุม อีก เรียกว่าได้หมดตั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ยังดี กรมศุลกากร ไล่แก้ปัญหานี้ มาตั้งแต่ปี 2560 ทั้งปรับปรุงกฎหมาย ลดเงินรางวัลและสินบนนำจับแล้ว ยังอุดช่องโหว่ ทั้งเรื่องการประมูลเพื่อความโปร่งใส ส่วนรถที่ถูกถอด “กล่องสมองกล” ออกไปก็จะไม่ให้นำรถออกมาประมูล!! เรียกว่าต้องตามเกาะติดดูว่า พล.ต.อ.สุชาติ จะไล่ขยายผลเช็กบิลย้อนหลัง ลากไส้เอาผิด “แก๊งฟอกรถเถื่อน” ได้ หรือไม่ ?
เรื่องทั้งหมดคงไม่ได้จบอยู่แค่ “ผกก.โจ้” ตร.หนุ่มวัย 39 ปีคนเดียวทำไม่ได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญค่อย ๆ ต่อจิ๊กซอว์เชื่อมโยงไปเรื่อย ๆ อาจได้เห็น “หัวโจก” ที่อยู่เบื้องของแก๊งนี้ก็ได้ !!.