ทั้งนี้ สำหรับคู่ที่คบหาจนถึงขั้นอยู่กินกันแล้ว หากฝ่ายชายคบหญิงอื่นอีก…บางทีก็ถูกระบุแบบซอฟต์ ๆ ว่า “มีบ้านเล็ก” แทนคำว่า “มีเมียน้อย” แต่หากฝ่ายหญิงคบชายอื่นอีก…มักจะเจอแต่คำว่า “มีชู้” ซึ่งการถูกระบุเช่นนี้แฟร์หรือไม่แฟร์กับผู้หญิง??…นั่นก็เรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้นั้น…เป็น “มุมมานุษยวิทยา” ซึ่งมีการศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศ…

มีการศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมปัจจัย

กรณี “คบซ้อน” หรือ “มีโลกหลายใบ”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ทาง ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้มีการวิเคราะห์และสะท้อนไว้ผ่านบทความชื่อ “มานุษยวิทยาเมียน้อยและการมีชู้ (Anthropology of Infidelity)” ที่เผยแพร่ไว้ทาง เว็บไซต์ www.sac.or.th ซึ่งชุดข้อมูลนี้มีประเด็นเกี่ยวกับกรณี “การนอกใจ-การมีชู้” ที่น่าพิจารณา…

ทาง ดร.นฤพนธ์ ได้ฉายภาพ “ปรากฏการณ์การมีชู้” ผ่าน “ความสัมพันธ์นอกการแต่งงาน” ไว้ว่า… ในมิติสังคมจะมีความเชื่อว่า… การแต่งงานมาพร้อมความคาดหวังของบุคคล ที่จะ “ต้องแสดงความซื่อสัตย์ต่อกัน” ทั้งในด้านการจงรักภักดีต่อ “ความรัก” รวมถึงในด้าน “ความสัมพันธ์ทางเพศ” โดยสิ่งที่คู่รักจะต้องแสดงให้เห็นคือไม่ทำลายและไม่ละเมิดข้อตกลงที่มีต่อกัน รวมทั้ง “ต้องไม่มีความสัมพันธ์กับคนอื่น” ที่มิได้อยู่ในพันธสัญญา ซึ่งเมื่อใดที่มีการฝ่าฝืนข้อตกลงนี้จะนำไปสู่การไม่ซื่อสัตย์ และผู้ที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ที่มิใช่คนในพันธสัญญา สังคมย่อมไม่ยอมรับและประณาม…

ถูกมองเป็นการ “นอกใจ” หรือ “มีชู้”

ทำลายครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว!!

ทางนักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยังได้สะท้อนเรื่องนี้เอาไว้อีกว่า… แม้ในหลาย ๆ วัฒนธรรมจะให้ความหมาย “การนอกใจ-การมีชู้” โดยมีมุมมองที่ต่างกัน แต่ก็ยังมีสาระสำคัญในลักษณะร่วมกัน คือ… มองการมีชู้คือการไม่มีความซื่อสัตย์ กับ มองเป็นพฤติกรรมต้องห้าม ที่ทำให้ความสัมพันธ์ครอบครัวสั่นคลอน โดยที่การนอกใจ การมีชู้ การมีความสัมพันธ์กับคนที่มิใช่สามีภรรยาตามกฎหมายนั้น จากผลการศึกษาหลายชิ้น พบว่า… มักจะเริ่มต้นจากการนัดพบกันในที่ส่วนตัว จนนำไปสู่การแอบมีความสัมพันธ์แบบลับ ๆ เช่น มีความสัมพันธ์ทางเพศ หรือบางกรณีความสัมพันธ์แบบลับ ๆ นี้…

อาจ “พัฒนาไกลกว่าแค่แอบกินกัน”

เกิดผูกพันทางใจกับผู้ที่มิใช่คู่แต่งงาน

นอกจากนั้น ในทางมานุษยวิทยายังได้แบ่ง “ประเภทการมีชู้” ในสังคมสมัยใหม่ เอาไว้เป็น 3 แบบ คือ 1.การนอกใจทางร่างกาย 2.การนอกใจทางอารมณ์ 3.การนอกใจทางอินเทอร์เน็ต โดยแต่ละประเภทมีการขยายความไว้ดังนี้…

การนอกใจทางร่างกาย” แบบนี้หมายถึง… การที่คู่แต่งงานคนใดคนหนึ่งมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนอื่นโดยไม่เปิดเผยให้คู่ครองรับรู้ ส่วน “การนอกใจทางอารมณ์” คือ… การที่คู่แต่งงานชื่นชอบหลงใหลและเสน่หาคนอื่นแบบใกล้ชิดจนเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อชีวิต และอีกแบบคือ “การนอกใจทางอินเทอร์เน็ต” หมายถึง… การได้พบหรือพูดคุยกับคนอื่นจนผูกพัน และพัฒนาเป็นความชอบจากการติดต่อสื่อสารด้วยสื่อออนไลน์ ซึ่งบางกรณีอาจนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ทางเพศผ่านการสื่อสารออนไลน์ เช่น ใช้กล้องสำเร็จความใคร่ หรือโชว์เรือนร่างให้อีกฝ่ายเห็นแบบเปิดเผย ซึ่งก็รวมถึงการแชต-ส่งข้อความ

นี่เป็น “ประเภทการมีชู้ในยุคใหม่”…

สังคมสมัยใหม่ “ออนไลน์ก็เกี่ยวด้วย”

ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นยังมีส่วนที่ระบุว่า… สิ่งที่น่าสนใจในสังคมสมัยใหม่คือ แม้คำสอนของศาสนามักตำหนิและไม่ยอมรับพฤติกรรมมีชู้ แต่การสำรวจความคิดประชาชนชาวตะวันตกใน 24 ประเทศ ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา กลับพบว่า… แม้คนส่วนใหญ่ 80-90% เห็นว่ามีชู้คือสิ่งผิดและไม่ยอมรับการมีชู้ แต่ทางปฏิบัติกลับพบว่า…มีชาวอเมริกันที่นอกใจคู่ครองถึง 20-25% โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีชู้-นอกใจ มาจากความทุกข์ของการอยู่ด้วยกัน จนทำให้หันไปหาคนอื่นเป็นที่พึ่งทางใจ…

ทั้งนี้ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ สะท้อนไว้ในบทความด้วยว่า… มีการศึกษาพบว่า…คนจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อว่าการคุยกับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ครองในสื่อสังคมออนไลน์เป็นการช่วยระบายความอึดอัดใจ และสร้างจินตนาการให้ โดยเฉพาะในคู่รักที่มีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น นอกจากนี้ มีคนจำนวนมากที่มองว่าการคุยกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์แบบปกปิดไม่ให้คู่ครองรับรู้ โดยไม่ได้สัมผัสเรือนร่างกันและกัน ไม่ใช่การมีชู้ แต่…เมื่อมี-เมื่อพบการกระทำลักษณะนี้แล้ว ก็ส่งผลกระทบ ทำให้ความสัมพันธ์สั่นคลอน จน นำสู่กรณี “หย่าร้าง-ยุติความสัมพันธ์” ได้อยู่ดี …ซึ่งบางกรณีก็ “เกิดเหตุร้ายแรง” ด้วย!!

…เหล่านี้ก็เป็นแง่มุมในเชิงมานุษยวิทยา

กรณี “มีโลกมากกว่า 1 ใบ” หรือ “มีชู้”

อดีต-ปัจจุบันก็ถูกมองว่า “ต้องห้าม”

แต่ “ก็ถึงขั้นมีชู้ออนไลน์กันแล้ว!!”.