ในขณะที่…ในภาวะที่เข้าสู่ “ยุคโลกรวน” อย่างตอนนี้…การ “พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทยเพื่อต่อกร” กับสภาวะนี้…ก็มีความพยายามจากทางฝั่งนักวิชาการของไทย…

นักวิชาการมีการพยายามคิดค้นพัฒนา

และก็ “ก่อเกิดข้าวสายพันธุ์ใหม่” ขึ้นมา

เพื่อเป็นการ “รับมือ” กับ “ยุคโลกรวน!!”

กรณี “ข้าวพันธุ์ใหม่” ที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อ “สู้ภาวะโลกรวน” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อในวันนี้ กรณีนี้ได้ถูกนำมาเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในงานเกษตรแฟร์กำแพงแสน ปี 2566 ที่ จ.นครปฐม โดยเป็นฝีมือและความร่วมมือของนักวิชาการไทยหลายหน่วยงาน ที่ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น หลัก ๆ คือทีมวิจัย ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแม่นยำ ไบโอเทค สวทช. โดยในการนำผลงาน “พันธุ์ข้าวรับมือภาวะโลกรวน” มาเปิดตัว มีการระบุ “จุดเด่นที่สำคัญ” คือ… “ทนทานภัยแล้ง น้ำท่วม โรค แมลงศัตรูพืช”…

เป็น “จุดเด่นน่าสนใจยุคโลกแปรปรวน”

สำหรับรายละเอียด “ข้าวพันธุ์ใหม่ฝีมือนักวิจัยไทย” ดังกล่าวนี้ ข้อมูลเรื่องนี้ทาง ดร.มีชัย เซี่ยงหลิว นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ไบโอเทค สวทช. ได้เปิดเผยไว้ โดยระบุไว้ว่า… สภาวะโลกรวน หรือ Climate change ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดปัญหาการเกษตรต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง โรค แมลงศัตรูพืช ที่รุนแรง ที่กระทบต่อผลผลิตข้าวของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ ๆ ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมยุคปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น …จึงเป็นที่มาการวิจัยพัฒนา “ข้าวสู้โลกรวน”

ทางนักวิจัยท่านดังกล่าวระบุแจกแจง “คุณสมบัติที่สำคัญ” ของ “ข้าวสู้ยุคโลกรวน” ไว้ว่า… ต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนี้คือ…ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดี, ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่มีปัญหา เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง, จะต้องมีผลผลิตสูง, ต้องมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี และสามารถนำมาเพิ่มมูลค่า หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ครบวงจรมากขึ้น ซึ่งจากกรอบคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ทางทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และไบโอเทค ก็ได้ร่วมกันวิจัยทดลองและพัฒนาข้าวร่วมกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว จนเกิดเป็น “ข้าวสู้ภาวะโลกรวน” ขึ้น และก็ได้นำมาจัดแสดง โดยคาดหวังว่าจะสามารถ…

นำ “องค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นใหม่” นี้

เผยแพร่สู่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวผู้ที่สนใจ

ทั้งนี้ “ข้าวสู้โลกรวน” ที่มีการนำมาเปิดตัว มีทั้งกลุ่ม “ข้าวเจ้า” และ “ข้าวเหนียว” โดยข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม กลุ่มข้าวนาปี ที่นำเสนอ เช่น “ข้าวเจ้าพันธุ์หอมสยาม 2” ที่จากการทดลองพัฒนาปรับปรุงทำให้ข้าวพันธุ์ใหม่นี้มีจุดเด่นอยู่ที่ทนแล้งและน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานต่อโรคไหม้-แมลงศัตรูพืช และมีกลิ่นหอมเพิ่มขึ้น …นี่เป็นหนึ่งในข้าวพันธุ์ใหม่ที่น่าสนใจ

ให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105

แถมยัง “ทนต่อสภาวะโลกที่แปรปรวน”

นอกจากนั้น นอกจากข้าวพันธุ์ดังที่ระบุข้างต้นแล้ว ก็ยังมีข้าวที่ถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ที่นำมาจัดแสดงและให้ข้อมูลอีกหลาย ๆ พันธุ์ อาทิ… ข้าวหอมพื้นนุ่มที่เป็น กลุ่มข้าวนาปรัง คือ “ข้าวเจ้าพันธุ์หอมมาลัยแมน” ซึ่งมีจุดเด่นที่หอมนุ่ม เมล็ดเรียวยาวพิเศษ ไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตดีในการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์, “ข้าวเจ้าพันธุ์หอมจินดา” ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ความต้านทานโรคขอบใบแห้ง กับลำต้นแข็งแรง มีลำต้นสูงปานกลาง ไม่หักล้มง่าย และก็ให้ผลผลิตสูง, “ข้าวเจ้าพันธุ์หอมนาเล” ซึ่งมีจุดเด่นที่พื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล…

นี่เป็น “ข้าวสู้โลกรวน” กลุ่ม “ข้าวเจ้า”…

ส่วนกลุ่ม “ข้าวเหนียว” ก็มีทั้ง กลุ่มข้าวเหนียวไวแสง คือ “ข้าวเหนียวพันธุ์น่าน 59” และ กลุ่มข้าวเหนียวที่ไม่ไวแสง ได้แก่ “ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา” โดยข้าวเหนียวพันธุ์น่าน 59 มีจุดเด่นที่มีกลิ่นหอม ต้นเตี้ย ทนการหักล้ม มีความต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ส่วนพันธุ์หอมนาคา มีจุดเด่นที่ลำต้นแข็งแรง มีกลิ่นหอม และนุ่มเหนียวเมื่อหุงสุก อีกทั้งสามารถปลูกได้ตลอดปี …ซึ่งเหล่านี้ถือเป็น “ไฮไลต์” ของ “พันธุ์ข้าวใหม่ที่รองรับสภาวะโลกรวน” ที่มีการจัดแสดงเปิดตัว

“แนวทางวิจัยปัจจุบัน นอกจากเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวรับมือภาวะโลกรวน ยังต้องการช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ด้วยการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมเพื่อลดไนโตรเจนในพันธุ์ข้าว เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” …นี่ก็อีก “เป้าหมายสำคัญ”

“ชิงแชมป์เด่น-ชิงแชมป์ขายดี” ก็ว่าไป…

ที่ “ก็น่าสนมาก” คือ “แชมป์สู้โลกรวน”

โดย “ข้าวไทยพัฒนาช่วยกู้โลกด้วย!!”.