“กำไรเป็นองค์ประกอบของธุรกิจ ไม่ใช่ Key success การทำธุรกิจ แต่การทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจเติบโตไปด้วยกันมากกว่าที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จ” เป็น “แนวคิดการทำธุรกิจ” ที่ วีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ เจ้าของแบรนด์ “ขนมหวานแม่ละมาย” ได้ถอดรหัส และนำมาแชร์ประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้นำไปศึกษา ซึ่งวันนี้คอลัมน์นี้นำเรื่องราวกับแนวคิดของผู้ประกอบการรายนี้มาให้พิจารณากัน…
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายนี้ ได้มาแชร์แนวคิดการทำธุรกิจของเขาว่า แบรนด์แม่ละมายเริ่มต้นจากความรู้เป็น 0 จนปัจจุบันสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 100 ล้านบาทต่อปี แถมธุรกิจยังช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน ที่เป็นซัพพลายเออร์ของธุรกิจได้ปีละกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งสินค้าขนมหวานของแบรนด์นั้น วางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นมากว่า 26 ปี โดยมีสินค้าที่วางขายจำนวน 10 รายการ แบ่งเป็นประเภทขนมหวาน เครื่องดื่ม และธัญพืช ส่วนที่มาในการมาทำธุรกิจนี้ เขาบอกว่าหลังจากธุรกิจเดิม คือ ธุรกิจโรงพิมพ์เจอวิกฤติฟองสบู่แตก เมื่อปี 2540 เขาก็สิ้นเนื้อประดาตัว จึงตัดสินใจกลับมาตั้งหลักที่บ้านของภรรยา ที่ จ.สุพรรณบุรี เพื่อหาโอกาสลงทุนเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ จนมาลงตัวที่ “วุ้นน้ำมะพร้าว” ซึ่งจากการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทำให้พบว่า วุ้นน้ำมะพร้าวมีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีไฟเบอร์สูง จึงเหมาะกับคนรักสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็คิดว่า หากขายแต่วุ้นน้ำมะพร้าวอย่างเดียวจะไม่มีความแตกต่าง จึงต้องหาวัตถุดิบอื่น ๆ มาใส่เพิ่มลงในสินค้า โดยมองไปที่เม็ดแมงลักซึ่งน่าจะเข้ากับวุ้นน้ำมะพร้าวดีที่สุด อย่างไรก็ตาม แต่พอถึงขั้นตอนการผลิตกลับพบปัญหา คือพบการปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซินในเม้ดแมงลัก จึงต้องหาแนวทางแก้ปัญหา จึงได้นำนวัตกรรมเครื่องนวดฝัดเม็ดแมงลักแบบแห้งของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ จุฬาฯ มาใช้ เพื่อให้เม็ดแมงลักปราศจากสารปนเปื้อน จนได้วุ้นน้ำมะพร้าวผสมเม็ดแมงลักแบบถ้วย โดยขายมาตั้งแต่ปี 2541 จนถึงวันนี้
ทั้งนี้ แม้จะสามารถขยับสินค้าไปอยู่ในกลุ่มคนรักสุขภาพ แต่การทำสินค้าขนมหวาน รสชาติที่อร่อยก็ยังคงต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ดึงดูดลูกค้าให้มากินต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ต้องเสริมด้วยเรื่องประโยชน์ทางโภชนาการ และมาตรฐานปลอดภัย ขณะที่ด้านการตลาดนั้น เขาจะเน้นที่การสร้างความแตกต่างที่คู่แข่งเลียนแบบยาก และต้องทำเรื่องนี้ตลอดเวลา เพราะแม้จะออกสินค้าใหม่ แต่ไม่นานก็จะมีคนอื่นทำตามในไม่ช้า ธุรกิจจึงหยุดนิ่งไม่ได้ ที่สำคัญต้องรักษาคุณภาพให้ดีสม่ำเสมอ เพราะเมื่อผู้บริโภคได้สินค้าดี ก็จะซื้อซ้ำและบอกต่อ และอีกเรื่องที่เขาเน้นมากคือ “ต้องมีทีมที่ดี” ซึ่งไม่ได้หมายถึงในบริษัทอย่างเดียว แต่รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะถือเป็นองค์ประกอบที่ช่วยผลักดันทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืน เป็นกรณีศึกษาของ “ธุรกิจขนมหวาน” ที่เอสเอ็มอีอื่น ๆ นำไปปรับใช้ได้.
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ [email protected]