โดยองค์การสหประชาชาติมีการประกาศรับรองให้มี “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” วันที่ 25 พ.ย. ที่ปีนี้เพิ่งผ่านมาได้ 2-3 วัน ซึ่งมีการใช้ “ริบบิ้นสีขาว” แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้อง-เชิญชวนให้มีการ “ต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ” อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีสตรีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญความรุนแรงทั้งทางร่างกาย-จิตใจ ที่รวมถึง…

สตรียัง “เผชิญภัยคุกคามทางเพศ”…

ที่ “ก่อผลรุนแรงทั้งทางร่างกาย-จิตใจ”

และ “คุกคามทางเพศในองค์กร” ก็อื้อ!!

กรณี “คุกคามทางเพศในองค์กร” ที่ก็เป็นอีกรูปแบบ “ความรุนแรงต่อสตรี” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้… ยุคนี้ในไทยยังมีเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน!! แม้แต่ในองค์กรหน่วยงานรัฐ และแม้แต่ในองค์กรสถานศึกษา ซึ่งสะท้อนถึง “ทัศนคติเชิงลบเรื่องเพศ” ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย และเรื่องนี้ก็มีบทวิเคราะห์น่าสนใจที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ประชากร.คอม โดยรศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ซึ่งได้มีการอ้างอิง-ฉายภาพเอาไว้ดังนี้…

จากกรณีที่นักการเมืองหญิงตำหนินักการเมืองชายร่วมพรรคการเมืองเดียวกัน หลังจากมีการถูกร้องเรียนเรื่องการมีพฤติกรรม “คุกคามทางเพศ” กรณีนี้นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย…เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ผู้หญิงมักเลือกที่จะเงียบ หรือมักวางเฉยกับเรื่องนี้ และที่หนักยิ่งกว่านั้นคือ… มีบางคนไปตำหนิผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ แทนที่จะตำหนิผู้กระทำ และที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น มักไม่มีการตั้งคำถามด้านศีลธรรม-จรรยาบรรณ…

เช่นนี้ “ก็ยิ่งทำให้หญิงตกเป็นเหยื่อซ้ำ”

เหยื่อ “ชายคุกคามทางเพศในองค์กร!!”

ในบทความบทวิเคราะห์นั้นยังได้มีการอธิบายให้เห็นถึง “ลักษณะพฤติกรรมคุกคามทางเพศ” เอาไว้ว่า… หมายรวมถึงการแสดงความคิดเห็น คำพูด การกระทำ หรือรวมทุกอย่างที่กล่าวมา ที่มีลักษณะจงใจสื่อนัยไปในเรื่องทางเพศหรือเพศสัมพันธ์ โดยผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์ ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากเห็น ไม่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมพูดจาแทะโลม ถึงเนื้อถึงตัว จับต้องร่างกาย มีกิริยาแบบ “หมาหยอกไก่” หรืออาจถึงขั้นเอ่ยปากชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์!!

นอกจากนี้ รูปแบบ “การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในองค์กร” ยังรวมถึง… การกระทำใด ๆ ก็ตามที่มีผลต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร ไม่ปลอดภัย สร้างความอับอาย หรือความหวาดกลัว ให้เกิดกับบุคคลเป้าหมาย หรือ “เหยื่อ” เช่น การตามตื๊อ การติดตามเฝ้าดูตลอดเวลา เป็นต้น โดยสถิติจากทั่วโลกยืนยันว่า… ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศต่อผู้อื่นมักจะเป็นผู้ชายหรือเพศชาย ส่วนบุคคลเป้าหมายหรือเหยื่อมักจะเป็นผู้หญิงหรือเพศหญิง…

และยุคนี้ “ถูกคุกคามทางเพศ” นั้น

“หญิงข้ามเพศ-ชายข้ามเพศ” ก็โดน!!

การสะท้อนถึงปัญหานี้มีส่วนที่ระบุไว้น่าสนใจอีกว่า… ปัญหาการคุกคามทางเพศในสังคมไทยเปรียบเหมือนโรคเรื้อรัง!! สามารถพบเจอได้ในทุกวงการทุกสายอาชีพที่น่าตกใจก็คือ…แม้ปัญหานี้จะเกิดบ่อยครั้ง แต่ มักถูกทำให้เป็นปัญหาส่วนตัว มักถูกมองข้าม มองเป็นปัญหาเล็กน้อย สะท้อนว่า สังคมไทยยังไม่มีความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริง!!

แล้ว จะถอนรากถอนโคนปัญหานี้ได้อย่างไร?… เป็นคำถามที่ในบทความบทวิเคราะห์ชวนคิด ซึ่งก็มีการระบุไว้ว่า… การลดปัญหาคุกคามทางเพศในองค์กรอาจ ต้องเริ่มจาก “กำจัดสังคมแบบชายเป็นใหญ่” เป็นอันดับแรก เพราะเป็นต้นตอปัญหานี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำสำเร็จได้ง่าย ๆ ดังนั้น อีกแนวทางที่น่าจะง่ายกว่าก็คือ ทำให้ทุกคน “เข้าใจและยึดมั่นในหลักความยินยอม” เพราะจะทำให้ทุกคนมีความเคารพในสิทธิ ทั้งของผู้อื่น-ตัวเอง และไม่ล่วงล้ำขอบเขตกัน ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางสำคัญที่สามารถทำให้เห็นผลได้เร็วที่สุด …นี่เป็น “ข้อเสนอ” เพื่อ “ลดกรณีคุกคามทางเพศ” รวมถึง “ในองค์กร”

ทั้งนี้ ในช่วงท้าย รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้ระบุไว้ด้วยว่า…ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า…บุคคลต้องให้ความยินยอมโดยที่มีสติสัมปชัญญะ เป็นอิสระ มีเสรีภาพ ปราศจากการถูกกดดัน หรือบังคับด้วยเงื่อนไขใด และแม้ให้ความยินยอมแล้วก็สามารถเพิกถอนความยินยอมได้ หากรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่สบายใจ ฉะนั้น ก่อนถูกเนื้อต้องตัวใคร หรือชวนใครมีเพศสัมพันธ์ ต้องรู้ก่อนว่า…บุคคลนั้นยินดีหรือยินยอมพร้อมใจหรือไม่?

“ที่สำคัญ เพศชายไม่ควรด่วนสรุปตีความเข้าข้างตัวเองว่า…ถ้าเงียบแปลว่าโอเค เพราะในความเงียบของฝ่ายหญิง ยังมักมีเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจระหว่างเพศชาย-เพศหญิง ระหว่างผู้บังคับบัญชา-ลูกน้อง หรือระหว่างอาจารย์-ลูกศิษย์ เป็นต้น”…นี่ก็เป็นอีกมุมสะท้อน “ภัยคุกคามทางเพศในไทย”…

ยุคนี้ “เพศอื่นก็มีสถานะที่ทัดเทียมชาย”

แต่ “มีชายไทยบางส่วนที่ยังหื่นหลงยุค”

“คุกคามทางเพศในองค์กรยังเกิดอื้อ!!”.