ทั้งนี้ กรณีสัปเหร่อจริง ๆ ที่ไม่ใช่ในหนัง…วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อ “ข้อมูลที่น่าสนใจ” ที่เคยมีการเผยแพร่สู่สาธารณะไว้เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว ตอนโควิด-19 (COVID-19) พ่นพิษหนักในไทย มีผู้เสียชีวิตมาก และการจัดการศพก็เป็นปัญหาเกี่ยวเนื่อง…

ครั้งนั้น สัปเหร่อ ทั้งงานหนัก-ทั้งเสี่ยง

ช่วงโควิดดุ สัปเหร่อ เคยถูกพูดถึงมาก

โควิดซา สัปเหร่อ โดยรวมเป็นเช่นไร?

ทั้งนี้ ย้อนไปตอนที่มีคนไทยเสียชีวิตกันมากจากภัยโควิด… เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้วทาง The Urbanis by UDDC หรือ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center : UDDC) ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลบทสนทนากับ รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ นักวิชาการทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย… ชยากรณ์ กำโชค, ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์, สรวิชญ์ อังศุธาร ซึ่งข้อมูลนี้เป็น บทสนทนาว่าด้วยโควิดกับการตายและการจัดการร่าง โดยมีการเผยแพร่ไว้ทาง https://theurbanis.com/ …ซึ่งผ่านมากว่า 2 ปี ล่วงเลยมาถึงตอนนี้ ยัง น่าพิจารณา

ชุดข้อมูลที่เกี่ยวกับ สัปเหร่อ ชุดนี้…ว่าด้วยการบริหารสถานการณ์โควิดในมิติของการตาย การจัดการศพที่แตกต่างหรือหายไปในภาวะโรคระบาด และ Next Normal ที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องถอดบทเรียนเพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนคุณภาพชีวิตของบุคลากรด้านการจัดการร่าง ที่อาจยังไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควรจะเป็นซึ่งหลักใหญ่ใจความบทสนทนาจากแหล่งข้อมูลนี้ โดยผู้เกี่ยวข้องดังที่ระบุข้างต้น บางช่วงบางตอนมีว่า…

แม้เราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เริ่มมีความเป็นธุรกิจเข้ามามากขึ้นสำหรับการจัดการศพในประเทศไทย แต่ก็… ต้องยอมรับว่าเรื่อง การจัดการศพในสังคมไทยเป็น อาชีพที่ไม่ได้รับการเหลียวแล และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการจัดการหลังความตายต่ำมาก แม้กระทั่ง สัปเหร่อ ในเขตเมืองที่มีความเจริญสูงก็ยัง ต้องประยุกต์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ขึ้นมาเอง ต่างจากรูปแบบการรักษาและการจัดการศพในต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการศพ ยึดถือการรักษาสภาพศพให้ใกล้เคียงกับคนมีชีวิตมากที่สุด ผ่านกระบวนการอันซับซ้อนและเป็นมาตรฐาน

ข้อมูลดังกล่าวนี้ฉายภาพ สัปเหร่อ”…

ที่พูดง่าย ๆ คือ เป็นอาชีพที่ถูกลืม??”

และโดยสังเขปจากบางช่วงบางตอนก็มีการระบุถึง สัปเหร่อ กับการ จัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรคอันตราย ไว้ว่า… ในอดีตสังคมก็เคยมีประสบการณ์ในการจัดการกับศพติดเชื้อ เช่น ศพที่เสียชีวิตจากโรค HIV/AIDS, SARS, MERS หรือ Ebola มาแล้ว แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้เราตระหนักเรื่องการวางแผนเพื่อรองรับ สถานการณ์ที่จะมีศพจำนวนมากที่มีความเสี่ยงและมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอารมณ์และขวัญของผู้คนในสังคม ยิ่งถ้าศพในกรณีแบบนี้มีจำนวนมากขึ้น…การจัดการด้วยระบบจิตอาสาและกู้ภัยจะรับไม่ไหว ซึ่งภาพชัดมากว่า รัฐต้องเข้าให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

ถ้าเราไม่พูดเรื่องศพกันอย่างจริงจัง และตราบที่ยังมองศพเป็นภาพเดียวเดี่ยว ๆ ที่น่ากลัว และไม่วิเคราะห์ระบบนิเวศของการจัดการศพ เรื่องการจัดการศพจะเป็นปัญหามาก …นี่เป็นอีกบางช่วงบางตอนที่ น่าพิจารณา

รวมถึง… โควิดเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเท่านั้น ความจริงประเด็นเหล่านี้มีมาอยู่ก่อนแล้ว อาทิ ความกังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการจัดการศพ…ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ผู้ที่เป็นสัปเหร่อก็เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ในแหล่งข้อมูลข้างต้นยังมีส่วนที่ระบุไว้ว่า… การที่ สัปเหร่อ รวมถึงอาสาสมัครกู้ภัย บุคลากรที่ทำหน้าที่ขนศพ ต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ไม่มีหลักปฏิบัติ-ข้อแนะนำที่ทันสถานการณ์ โดยข้อปฏิบัติมีครอบคลุมเฉพาะฝ่ายสาธารณสุข ขณะที่บุคคลกลุ่มนี้ ต้องดูแลตัวเอง ไม่มีมาตรการที่เจาะจงเพื่อลดความเสี่ยงหรือช่วยเหลือ คนกลุ่มดังกล่าว… ก็ แสดงถึงการมองข้ามในเชิงมาตรการ ไม่ได้เห็นวงจรและตัวแสดงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศพ เพราะฉะนั้น ความรู้ อุปกรณ์ ไปจนถึงการเทรนนิ่งต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่จะให้ความมั่นใจ ส่งผลให้ระบบการจัดการศพเป็นไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

แนวทางปฏิบัติต้องไม่ใช่เป็นเพียงแค่หน้ากระดาษ แต่ต้องให้สามารถให้เขาเรียนรู้ เพื่อให้ปฏิบัติงานหน้างานได้อย่างราบรื่น ในปัจจุบันก็มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายกันเองเพื่อให้ความรู้ และรับงบประมาณสนับสนุนจากการบริจาค รัฐต้องให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้มากขึ้น ตั้งแต่เชิงนโยบาย ไปจนถึงเรื่องของงบประมาณด้านอุปกรณ์ เพราะการจัดการศพที่ไม่ดี ไม่เพียงส่งผลกระทบทางจิตใจต่อญาติ แต่ยังส่งผลถึงความปลอดภัยต่อสังคมและความสงบสุขของคนในสังคม อีกด้วย…นี่ก็อีกส่วนที่ น่าคิด จากชุดข้อมูลบทสนทนากับนักวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่ไว้โดย The Urbanis by UDDC …กับเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ที่เป็น ผู้จัดการร่าง-จัดการศพ

สัปเหร่อ นั้น มีผู้สนใจมากกรณีหนัง

หวังว่า สัปเหร่อตัวจริงก็ถูกสนใจด้วย

หลังสู้ศึกโควิด ชีวิตดีกว่าเดิมแล้ว??”.