นี่เป็นข้อมูลที่ควรสนใจ ที่ฉายภาพให้เห็นถึง“ปัญหาเรื่องการนอนของคนไทย” ที่ในยุคปัจจุบันกำลังเป็น“สถานการณ์สุขภาพที่สำคัญ” เนื่องจากมีแนวโน้ม“คนไทยป่วยด้วยโรคนอนไม่หลับเพิ่มขึ้น” เรื่อย ๆ…

ภาวะนี้ไม่เพียง “กระทบชีวิตประจำวัน”

ยัง “ส่งผลต่อจิตใจ-ทำให้เกิดโรคอื่น ๆ”

ถ้าไม่มีการบำบัด “มีผลเสียตามมาอื้อ!!”

ทั้งนี้ “ปัญหานอนไม่หลับ” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้ ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญทางสุขภาพ ซึ่งใน รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 โดย สสส. และ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการระบุถึงเรื่องนี้ไว้ในรายงาน หลังพบว่า คนไทยกว่า 1 ใน 3 มีปัญหาจากการนอนไม่หลับ ที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด, ความวิตกกังวล, ความแปรปรวนของจิตใจ, สิ่งรบกวนจากสภาพแวดล้อม, ความไม่คุ้นเคยสถานที่, อาชีพที่ทำให้เกิดนิสัยการนอนไม่แน่นอน, การใช้สารเสพติด, การกินยารักษาโรคบางชนิด รวมถึงพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

“ปัญหา” ที่เกิดขึ้นจาก“ภาวะนอนไม่หลับ” ในปัจจุบัน “ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บรรดานักวิชาการพยายามค้นคว้าวิจัยเพื่อที่จะไขความลับกลไกของภาวะนี้ เพื่อจะช่วยลดผลกระทบให้ผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับ เพราะโรคนี้ “ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก” ซึ่งสำหรับในประเทศไทย ตอนนี้ก็ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ Sleep Lab” ขึ้นมา โดย มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำการ ศึกษาวิจัยกลไกของโรคนอนไม่หลับ ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้

สำหรับรายละเอียดเรื่องนี้ ทาง รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ศูนย์ Sleep Lab ไว้ว่า… ศูนย์ดังกล่าวนี้มีภารกิจสำคัญคือการศึกษาเกี่ยวกับกลไกของ“โรคนอนไม่หลับ” ที่เป็น “อีกสาเหตุสำคัญนำไปสู่โรคสมองเสื่อม” โดยสมรรถภาพมนุษย์ทุกคนนั้น มีองค์ประกอบขึ้นอยู่กับการนอนหลับ ที่แม้แต่งีบหลับแค่ 15 นาทีในระหว่างวันก็ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้นได้…

“นอนหลับ” เป็น “สิ่งสำคัญของมนุษย์”

“นอนไม่หลับ” จึง “เป็นปัญหาสำคัญ!!”

“ด้วยการนอนหลับสำคัญและมีผลต่อร่างกาย จึงเป็นที่มาในการก่อตั้ง Sleep and Chronobiology Lab เพื่อวิจัยด้านการนอนหลับและศึกษาเกี่ยวกับกลไกนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ โดยแพทย์ อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักตรวจการนอนหลับ ตามมาตรฐานโลก ทั้งนี้เพื่อค้นหากลไกที่ทำให้นอนไม่หลับ เพื่อช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” …นี่เป็นเป้าหมายการก่อตั้งศูนย์ดังกล่าว ที่เป็น “หน่วยงานวิจัยโรคนอนไม่หลับ” เพื่อช่วยผู้ป่วยนอนไม่หลับ“สกัดภัยสุขภาพ”

รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึง “ความสัมพันธ์ของร่างกายกับการนอนหลับ” ไว้ว่า… ปกติแล้วใน 1 รอบของการนอนหลับของมนุษย์ในช่วงเวลา 1 คืนนั้น โดยทั่วไปจะอยู่ที่รอบละประมาณ 90 นาที ซึ่งระหว่างนอนนั้นจะเป็นการ “หลับตื้นสลับกับหลับลึก” และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงเวลาที่สมองจะหลั่งฮอร์โมนที่จำเป็นต่อร่างกายกับสมองออกมา ซึ่งมีความสำคัญต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ เช่นส่งผลต่อการเจริญเติบโตในเด็ก ส่งผลต่อการสร้างความจำระยะยาว ตลอดจน ช่วยในการกระตุ้นหรือสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเป็น อีกด้วย…นี่เป็น“ประโยชน์” ที่ได้จากการ“นอนหลับ”

ถ้า “นอนไม่หลับ” หรือ “หลับไม่สนิท” แล้วจะ “ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย??” ทาง รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ ให้ข้อมูลไว้ว่า… คนที่ตื่นนอนขึ้นมาพร้อมความรู้สึกง่วง หรือตื่นนอนแล้วรู้สึกไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า มักจะเกิดจากการ ตื่นขึ้นกะทันหันจากห้วงนิทรารมณ์ในช่วงการนอนหลับลึก ที่เป็นช่วงที่คลื่นสมองมีความถี่ช้าลง ซึ่งถ้ามีภาวะนี้เกิดบ่อย ๆ ก็อาจ กระทบต่อพัฒนาการของเด็ก และ ก่อให้เกิดโรค NCDs ในผู้ใหญ่ ได้ …นี่เป็น “ผลเสีย”  จากการ “ตื่นขณะหลับลึก”

ทั้งนี้  ผลเสียนี้ก็เกิดกับคนไทยไม่น้อย นอกจากนั้น ถ้าผู้ที่นอนไม่หลับมีอาการ “ภาวะนอนกรนจากโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea : OSA)” ร่วมด้วย ก็จะยิ่งเสี่ยงเกิดโรค “ความดันโลหิตสูง” และภาวะ “หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ที่อาจจะนำไปสู่การเกิด “โรคหลอดเลือดสมอง” ได้ เนื่องจากขณะนอนหลับนั้นจะมีความดันโลหิตลดลง และร่างกายจะได้รับการกระตุ้นเป็นระยะ ๆ แต่เมื่อหยุดหายใจขณะนอนทำให้ความดันโลหิตไม่ลดลงในเวลากลางคืน

ทางนักวิชาการแพทย์ท่านเดิมยังให้ข้อมูล“ประโยชน์ของการนอน” ไว้ด้วยว่า…แม้การนอนกลางวันจะเกิดขึ้นเป็นหลักในทารกและเด็กเล็ก แต่ผู้ใหญ่ก็งีบหลับกลางวันได้ โดยควรเป็นช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน 15 นาที ซึ่ง การงีบหลับระหว่างวันจะป้องกันการเกิด Sleep Inertia หรือภาวะตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น ได้ แต่…อย่างไรก็ตาม การนอนที่ดีที่สุดก็ยังเป็นการนอนตอนกลางคืนที่มีคุณภาพ ที่ช่วยให้สมองและร่างกายถูกฟื้นฟูซ่อมแซมให้พร้อมทำงาน และป้องกันโรคสมองเสื่อมด้วย

“นอนหลับ” เป็นเรื่องดีที่ทุกคนก็คุ้นชิน

แต่ “นอนไม่หลับอย่าชิน” จะ “ไม่ดีแน่”

“แก้ไขด่วน!!…อย่าชินจนสายเกินแก้!!”.