เพราะคุณแม่ยุคนี้ต้องเจอกับแรงกดดันมากมาย ทั้งจากสภาวะสังคม ทั้งจากปัญหาปากท้องค่าครองชีพ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “คุณแม่ยุคดิจิทัล” จำนวนมากนั้น…

ไม่เพียงแค่ “จำเป็นจะต้องสู้เพื่อลูก”

แต่ “ยังต้องรับมือความเครียดสะสม”

ถ้า “ไม่มีวิธีปลดล็อก” ก็จะ “สุ่มเสี่ยง!!”

ทั้งนี้ จากตอนที่แล้วที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ฉายภาพ “สถานการณ์คุณแม่ยุคใหม่” ผ่านการวิเคราะห์และสะท้อนจากกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก นั่นคือ พญ.อรสุดา สมประสิทธิ์ ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์เชียงราย สำหรับในตอนนี้ก็มาดูต่อในส่วน “การช่วยเหลือคุณแม่” ซึ่งก็มี “คำแนะนำ” โดยทาง พญ.อรสุดา ระบุว่า… ปัญหา “ความเครียดจากการเลี้ยงดูลูก” กำลังเป็นปัญหาของคุณแม่ยุคใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการบำบัด ก็อาจจะทำร้าย หรือเป็นผลกระทบ ทั้งกับคุณแม่ คุณลูก คุณพ่อ และคนรอบข้าง ได้…

“สาเหตุ-ปัจจัย” ของภาวะนี้นั้น คุณหมออธิบายว่า… ส่วนหนึ่งเกิดจาก ความทุ่มเท-ความเสียสละของคุณแม่ ที่มองเผิน ๆ ดูไม่มีอะไร แต่การที่คุณแม่ ต้องละทิ้งความสุขตัวเอง ทุ่มเทให้การเลี้ยงดูลูก ก็อาจส่งผลทำให้คุณแม่ เกิดภาวะขาดความสุขแบบไม่รู้ตัว นอกจากนี้ อิทธิพลโซเชียลฯ ก็อาจเป็นปัจจัย โดยการเลี้ยงลูกสมัยนี้คุณแม่นิยมหาข้อมูลการเลี้ยงลูกจากโซเชียลฯ ซึ่งมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณแม่อ่อนไหวกับข้อมูลข่าวสารก็อาจจะเป็น“ดาบสองคม”…

อาจทำร้ายคุณแม่-ลูก-ครอบครัว!!

พญ.อรสุดา ยังอธิบายถึง “ผลเสีย” จากภาวะความเครียดในการเลี้ยงลูก ว่า… เมื่อสะสมนานวันไปก็อาจทำให้ “คุณแม่หมดไฟในการเลี้ยงลูก” จากนั้นก็จะค่อย ๆ ขาดแรงจูงใจ-หมดกำลังใจ ลงไปทีละนิด จนนำไปสู่เรื่องของการ สูญเสียความสุขในการเลี้ยงลูก เพราะคุณแม่ที่เกิดภาวะดังกล่าวนี้มักจะคิดว่า… “ทำหน้าที่ได้ไม่ดี-ทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์”

“การเป็นคุณแม่นั้น ก็เหมือนกับการทำงาน ที่คนเรามักจะคาดหวัง ทุ่มเทให้กับงาน แต่เมื่อไม่สำเร็จอย่างที่คาดหวังก็จะรู้สึกเบื่อหน่าย นำสู่ภาวะหมดไฟ กรณีนี้ก็รวมถึงกับการเลี้ยงลูก ซึ่งถ้าทิ้งไว้โดยไม่รักษา ก็จะเสี่ยง…

เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า!!

ทาง พญ.อรสุดา ระบุต่อไปว่า… คุณแม่รายใดเกิด “ภาวะหมดไฟ” แล้ว ก็อาจกระทบถึงลูก ๆ ด้วย เพราะคุณแม่ที่จมอยู่กับความเหนื่อยล้า หรือความเครียดนาน ๆ จะทำให้พฤติกรรมคุณแม่เปลี่ยนไปในทางลบ เช่น ละเลย ไม่สนใจการเลี้ยงลูก หรือถ้าเกิดเข้าสู่ภาวะ “มองลูกผ่านกระจกความเศร้า” ตลอดเวลา ความรู้สึกที่คุณแม่มีต่อลูกก็อาจเปลี่ยนไป เช่น ไม่รู้สึกรักลูก มองลูกไม่น่ารัก อีกแล้ว ที่เรียกว่า “เกิดภาวะแม่ลูกแยกจากกัน” ซึ่งที่สำคัญคือ… มักไม่รู้ว่าตัวเองป่วยภาวะนี้!!

ทั้งนี้… ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อลูกอย่างไร? เรื่องนี้ทางแพทย์ท่านเดิมระบุว่า… เมื่อคุณแม่เริ่มมองลูกผ่านกระจกของความเศร้า ก็จะมองไม่เห็นความน่ารักของลูก ซึ่งเมื่อไม่เห็นความน่ารักของลูก คุณแม่ก็จะไม่เห็นถึงพัฒนาการต่าง ๆ ซึ่งในรายที่มีปัญหาหนัก ๆ คุณแม่บางคนไม่เคยยิ้มให้ลูกเลยก็มี!! จนอาจจะนำไปสู่เรื่องการ ทำร้าย-ใช้ความรุนแรงกับลูก โดยที่… กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” หรือ “คุณแม่ที่ต้องดูแลลูกเพียงลำพัง” ซึ่งอาจไม่ใช่ว่าไม่รักลูก เพียงแต่ เมื่อตกอยู่ในภาวะดังกล่าวนี้ จะทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ จนบางครั้งก็หลุด เช่น ใช้วาจารุนแรงแรง หรือเผลอทำร้ายลูก

“สัญญาณแรก ๆ ที่จะแสดงออกคือ ใช้ความรุนแรงผ่านวาจา และยิ่งลูก ๆ โต้ตอบปฏิกิริยาด้วยการกรี๊ดใส่ ก็ยิ่งไปยั่วยุ จนอาจทำให้คุณแม่หลุดระเบิดอารมณ์ออกมา ซึ่งจากความรุนแรงในครอบครัว ก็จะกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ภายในบ้าน และตามมาด้วยปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย” …ทาง พญ.อรสุดา ระบุ พร้อมทั้งแนะนำว่า…

สำหรับ “วิธีสังเกตสัญญาณผิดปกติ” เมื่อ “คุณแม่เครียดในการเลี้ยงลูก” นั้น… สัญญาณที่สังเกตได้ง่ายสุดอันดับแรกคือ ชอบโทษตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดี ต่อมาคือ รู้สึกเหนื่อย-อ่อนล้าทุกครั้งที่เลี้ยงลูก และอันดับสาม หงุดหงิด-โกรธลูกง่ายขึ้น ทั้งที่เป็นเรื่องเดิม ๆ ที่ลูกเคยทำมาก่อน ซึ่งถ้าสังเกตพบสัญญาณต่าง ๆ เหล่านี้ คำแนะนำคือควรรีบไปรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์เพื่อบำบัดภาวะนี้ก่อนจะสายเกินไปโดย พญ.อรสุดา ชี้ว่า… “ต้องมองว่าไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา!!”

อย่างไรก็ดี พญ.อรสุดา สมประสิทธิ์ ได้แนะแนวทางป้องกันปัญหาภาวะดังกล่าวในเบื้องต้นว่า… ประการแรก ขอความช่วยเหลือ จากคุณพ่อ คนในครอบครัว ให้ช่วยแบ่งเบาภาระ เพื่อให้คุณแม่ได้มีพื้นที่หยุดพักผ่อนคลายเพิ่มขึ้น, หาคนที่พร้อมให้ระบายอารมณ์ความรู้สึก  เพื่อให้คุณแม่รู้สึกได้ปลดปล่อยสิ่งที่เครียดออกมา, ลองทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้า เพื่อที่คุณแม่จะได้สำรวจตัวเองในเบื้องต้นว่าเข้าข่ายมีความเสี่ยงหรือไม่ และสุดท้ายคือ ขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อช่วยค้นหาสาเหตุและวิธีรักษาได้อย่างตรงจุด …เหล่านี้เป็น “วิธีสังเกต-วิธีรับมือ” สกัดปัญหาที่คุณแม่อาจประสบจากการเลี้ยงลูก

“เป็นคุณแม่ยุคดิจิทัล” ย้ำว่า “ยิ่งไม่ง่าย”

ในครอบครัว “อย่าละเลยใส่ใจคุณแม่”

“อย่าให้มองลูกผ่านกระจกความเศร้า”.