พอเกษียณจากอาชีพครูก็มาเริ่มต้นทำตามความฝันทันที ชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ไม่ง่าย แต่ก็มีความสุขมาก เป็นเสียงจาก “กาญจนา ศุขแจ้ง” ที่บอกเล่าถึง “จุดเริ่มต้น” กับเราไว้ ในวันที่เราไปเยี่ยมเยือนฟาร์ม “เกษตรผสมผสาน” ซึ่งจากเดิมที่เป็นคุณครู ในวัยเกษียณสำหรับอดีตคุณครูคนนี้ นอกจากเส้นทางชีวิตแล้ว “แง่มุมความคิด” นั้นนับว่า “น่าสนใจ” ไม่น้อยทีเดียว ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับอดีตคุณครูหัวใจเกษตรคนนี้…

เรื่องราวของอดีตคุณครูที่มาเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรหลังจากเกษียณ ทาง “ครูกาญจนา” เล่าว่า แม้การทำฟาร์มเกษตรจะเป็น “ความฝัน” พอมาเริ่มต้นจริงจังก็ไม่ง่ายเลย แต่ก็มีความสุขเพราะรัก และอยากจะทำให้ฝันที่เก็บไว้นานแล้วนี้เป็นจริง โดยโชคดีที่ได้ลูกชายเข้ามาช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการทำฟาร์มเกษตรนี้ จนทำให้ฟาร์มเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีโอกาสได้พบกับครูกาญจนาจากการที่ทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชวนคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชม “ฟาร์มศุข เมล่อน & ผักสลัด” อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ของอดีตคุณครูคนนี้ โดยฟาร์มดังกล่าวทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผักและผลไม้หลากหลายชนิด เช่น ผักสลัดไฮโดรโปรนิกส์, เมล่อน, มะเดื่อฝรั่ง, มะเขือเทศ ที่เป็นการปลูกระบบโรงเรือน และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อผลิตพืชอาหารปลอดสารพิษ

อดีตคุณครูที่วันนี้เปลี่ยนชีวิตมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว เล่าว่า เคยสอนหนังสือวิชาสังคมศึกษา ที่โรงเรียนขุขันธ์วิทยา โดยสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึง ม.3 และยึดอาชีพแม่พิมพ์นี้มานานกว่า 49 ปี ซึ่งในช่วงที่ยังเป็นครูนั้น ก็จะสอนเด็ก ๆ ให้ทำเกษตรให้ปลูกผักอยู่เรื่อย ๆ แต่ตัวเองก็ยังไม่ได้คิดจะทำอาชีพเกษตรกรจริงจัง จนเมื่อเกษียณจากอาชีพครู ก็เริ่มคิดว่าอยากจะทำความฝันนี้ให้เป็นจริง จึงเริ่มต้นลงมือปลูกผัก โดยตอนแรกตั้งใจแค่จะปลูกไว้กินเอง แต่เมื่อปี 2563 ก็มีความคิดว่าอยากจะทำจริงจังมากขึ้น โดยลูกชาย ลูกคนโต คือ พีรฉัตร ศุขแจ้ง สนับสนุนความคิดนี้ และมาช่วยทำฟาร์มเกษตรแห่งนี้ โดยลูกชายเริ่มจากทดลองปลูก ผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ เพราะเห็นว่าเป็นพืชทางเลือก เนื่องจากมองว่าทางครอบครัวไม่เคยมีใครทำเกษตรมาก่อน หากจะให้ไปขุดดินเพื่อจะปลูกผักอื่น ๆ ตั้งแต่แรก อาจจะท้อไปก่อนที่ความฝันจะสำเร็จ

เริ่มจากปลูกไว้กินเอง ก่อนพัฒนาต่อยอดมาเรื่อย ๆจนผลผลิตเริ่มได้มากขึ้น ก็เลยลองนำไปขาย ปรากฏผลตอบรับดี โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เราก็เลยศึกษาค้นคว้าเพิ่มขึ้น เพราะอยากทำให้ผลผลิตที่ได้มีมาตรฐาน จนตอนนี้ผลผลิตที่ปลูกได้มาตรฐาน GAP หมดทุกชนิดแล้ว กาญจนา คุณครูวัยเกษียณกล่าว ก่อนจะบอกว่า ตอนนี้สามารถเรียกตัวเองว่า “เกษตรกร” ได้เต็มตัวแล้ว เพราะมีรายได้หลักเลี้ยงชีวิตจากการปลูกผักขาย ซึ่งทุกวันนี้รายได้ต่อวันจากการจำหน่ายผักและผลไม้จากฟาร์ม จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันบาท รายได้ได้มากกว่าเงินเดือนที่เคยทำอาชีพครูเสียอีก

ครูกาญจนาเล่าอีกว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ ก็ได้เริ่มทดลองปลูกผลไม้อย่าง เมล่อน โดยทดลองปลูก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ฟูจิซาว่า, ซูบาริ คิง และกาเลีย หรือพันธุ์มิซึกิ ซึ่งถึงแม้จะไม่มีความรู้ในการปลูกมาก่อน แต่ก็ได้ลูกชายที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้ จนเรียกได้ว่าลูกชายคนโตเป็นเหมือนหัวใจหลักของฟาร์ม

ลูกชายคนนี้เขาเป็นคนศึกษาและทำการปลูก โดยศึกษาจากอินเทอร์เน็ต จากยูทูบ จากนั้นเขาก็นำมาทดลอง ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ ก็ล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย เสียเงินทุนไปก็มาก แต่ในที่สุดก็ทำสำเร็จ จนเมล่อนเป็นอีกผลผลิตที่สร้างรายได้ให้กับฟาร์มได้อย่างดี เป็นการบอกเล่าด้วยนํ้าเสียงที่มีความสุข 

และจากเมล่อนที่ปลูกได้สำเร็จ ครูกาญจนาบอกว่า จากนั้นทางฟาร์มก็เริ่มศึกษาการปลูกพืชชนิดใหม่อีก เพื่อเป็นพืชทางเลือกชนิดที่ 3 ของฟาร์ม นั่นก็คือ มะเขือเทศทานสด โดยเริ่มจากการปลูก 1,000 ต้น กับมะเขือเทศ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์โซลาริโน่, พันธุ์คิงส์
ฟิชเชอร์, พันธุ์กูรามิ และพันธุ์ฟลาวีโอ่ โดยการปลูกมะเขือเทศนี้ทาง ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้ทางฟาร์มเป็นหัวขบวนในการรวมกลุ่มกับชาวบ้านเพื่อจัดตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชนขุขันธ์ซุปเปอร์กรีน” ภายใต้ โครงการบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” ตามแนวทาง D & MBA : Design & Manage by Area ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และการพัฒนากระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า

บางส่วนของผลผลิต

หลังมีการเข้ามาส่งเสริมเรื่องนี้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก นอกจากทำให้เกิดการรวมกลุ่มแล้ว เกษตรกรยังได้รับความรู้เกี่ยวกับการออกแบบการเชื่อมโยงทางธุรกิจอย่างครบวงจรด้วย รวมถึงช่วยทำให้ค้นพบสาเหตุและปัญหา เพื่อให้การแก้ปัญหาเชิงพื้นที่สามารถแก้ไขได้จริง นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชนได้อย่างแท้จริง

ครูกาญจนาย้ำประโยชน์ที่เกิดจากเรื่องนี้ พร้อมระบุว่า ได้รับการสนับสนุนจากทาง ธ.ก.ส. ด้วยการเสริมความรู้ ตั้งแต่เรื่องกระบวนการผลิต ไปถึงเรื่องของการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ รวมไปถึงสอนการทำบัญชี การควบคุมคุณภาพผลผลิต การอนุรักษ์พลังงาน นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมีการสนับสนุนเงินทุนผ่าน สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ให้กับทางกลุ่มอีกด้วย เพื่อใช้สำหรับเป็นเงินทุนในการขยายกิจการกลุ่ม ตลอดจนสนับสนุน สินเชื่อ SME เกษตร ให้กับทางฟาร์มศุขฯ เพื่อนำมาใช้สำหรับขยายกิจการ มีการสนับสนุนให้หัวขบวนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อลดต้นทุนไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มมูลค่าผลผลิตผ่านการศึกษาดูงานอีกด้วย

หลังจากมีการเข้ามาติดต่อให้เราเป็นหัวขบวน เราก็สนใจ เพราะทาง ธ... อยากให้ชาวบ้านสามารถปลดหนี้ แก้หนี้ แก้จน ซึ่งเราก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี และเป็นการช่วยเหลือสังคม เพราะเราก็อยากช่วยชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้ มีเงินนำไปใช้หนี้ให้หมดไว ๆ ซึ่งนอกจากชาวบ้านที่เข้าร่วมกลุ่มจะมีรายได้ เขายังได้เรียนรู้ เช่นวิธีปลูกมะเขือเทศ ซึ่งสามารถนำกลับไปปลูกเองที่บ้านได้ด้วย โดยทางฟาร์มศุขฯ ได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับกลุ่มที่สนใจเข้ามาดูงานอีกด้วย ครูกาญจนา เจ้าของฟาร์มศุขฯ ในฐานะประธานศูนย์วิสาหกิจชุมชนขุขันธ์ซุปเปอร์กรีน กล่าว

ส่วนอดีตคุณครูคนนี้เอง แม้จะปลูกพืชทางเลือกอย่างผักไฮโดรโปนิกส์ เมล่อน มะเขือเทศ สำเร็จแล้ว ก็ยังไม่หยุดพัฒนาต่อยอด โดยยังเลือกทดลองปลูกพืชอีกชนิดเพิ่มเติม คือ มะเดื่อฝรั่ง โดยบอกเล่าว่าตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองปลูกอยู่ราว ๆ 20 กว่าสายพันธุ์ ซึ่งหากสายพันธุ์ไหนอร่อยก็จะพัฒนาต่อ นอกจากนั้นยังทดลองปลูก ผักขึ้นฉ่ายไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีในตลาดพื้นที่ อ.ขุขันธ์ และตอนนี้ก็ยังเริ่มปลูกอีก 2 ชนิดไปพร้อมกันด้วย คือ พริกหวาน และ กล้วยหอม ที่ตั้งใจจะส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่น โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยจะปลูกประมาณ 3 ไร่ ร่วมกับเกษตรกรอีก 23 ราย ซึ่งรวมแล้วก็จะมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมประมาณ 30 กว่าไร่ โดยครูกาญจนาบอกถึงความตั้งใจในส่วนนี้ว่า เพราะอยากจะให้ศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีการปลูกกล้วยหอมส่งออก

โชว์คุณภาพผลิตผลของฟาร์ม

อดีตคุณครูที่วันนี้กลายมาเป็นเจ้าของฟาร์ม และมีบทบาทเป็นประธานศูนย์วิสาหกิจชุมชนขุขันธ์ซุปเปอร์กรีน บอก “ทีมวิถีชีวิต” ต่อไปว่า ที่ฟาร์มเติบโตมาได้ถึงตอนนี้ต้องยกเครดิตให้ลูก ๆ โดยลูกคนโตจะดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการผลิตในฟาร์ม ส่วนลูกสาว ลูกคนกลาง ช่วยดูแลในส่วนของการตลาด และเป็นแอดมินรับออร์เดอร์ให้กับเพจของฟาร์ม

ทั้งนี้ หนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญของฟาร์ม พีรฉัตร ศุขแจ้ง ลูกคนโตของครูกาญจนา เล่าว่า เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และปริญญาโทบริหารธุรกิจ MBA ซึ่งหลังจากเรียนจบก็ทำงานประจำเป็นผู้จัดการอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง ประมาณ 2-3 ปี จนช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทางคุณแม่เรียกตัวให้เขากลับมาช่วยทำงานดูแลปั๊มแก๊สที่เป็นธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเขาเองก็สนใจ เพราะอยากกลับบ้านมาช่วยคุณแม่

ตอนนั้นเงินเดือนบริษัทที่ได้รับก็ตกเดือนละกว่า 50,000 บาท แต่เราก็ตัดสินใจลาออก เพราะอยากมาช่วยคุณแม่ ซึ่งตอนที่ไปขอลาออก ปรากฏเจ้านายไม่อยากให้ออก ก็จะเพิ่มเงินเดือนให้อีกเพื่อดึงไว้ไม่ให้เราออก แต่เราก็ตัดสินใจแล้ว อยากกลับมาช่วยคุณแม่มากกว่า จึงยืนยันขอลาออก พอกลับมาอยู่บ้านดูแลปั๊มแก๊สอย่างเดียวจึงทำให้มีเวลาว่าง เราก็เลยเริ่มหาอะไรทำเพิ่ม ก็เลยคุยกับคุณแม่ว่าเรามาทดลองปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์กันดีไหม ใช้พื้นที่หลังปั๊มแก๊สที่มีอยู่ราว ๆ 2 งานลองทำดู คุณแม่ก็เห็นดีด้วย ก็เลยเริ่มจากลองปลูกเล่น ๆ จนต่อมากลายเป็นจริงจัง เพราะขยายเพิ่มไปเรื่อย ๆ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จ เราก็เจ็บมาเยอะนะ อย่างเมล่อนนั้นเราทดลองปลูกอยู่ 2-3 ปีกว่าจะสำเร็จ ซึ่งความรู้ที่ใช้ก็ศึกษาจากยูทูบ จากเว็บไซต์ทั้งต่างประเทศและไทยพีรฉัตร เล่าถึงเรื่องราว “เบื้องหลังฟาร์มศุขฯ” ก่อนที่จะประสบความสำเร็จอย่างในปัจจุบัน

และก่อนจบการสนทนากับคุณครู กาญจนา ศุขแจ้ง และ พีรฉัตร ศุขแจ้ง ทางพีรฉัตรเองก็บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า ตอนนี้ชีวิตเขาก็ถือว่าเป็นเกษตรกรเต็มตัวแล้วเช่นเดียวกับคุณแม่ เพราะเงินเลี้ยงชีวิตตอนนี้มาจากการทำการเกษตร โดยปัจจุบันรายได้ของฟาร์มจากการขายผลผลิตโดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 200,000-300,000 บาท ซึ่ง  “เคล็ดลับของฟาร์มศุขฯ” คือการ “ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่” โดยที่ฟาร์มจะมีการทดลองปลูกพืชสายพันธุ์ต่าง ๆ สายพันธุ์ใหม่ ๆ อยู่ตลอด เน้นที่ผักผลไม้ที่มีคุณค่าสูง หรือที่คนปลูกน้อยแต่ตลาดต้องการมาก พร้อมกันนี้ลูกชายครูกาญจนายังกล่าวทิ้งท้ายถึงอาชีพเกษตรกรว่า แม้การทำเกษตรจะต่างจากการทำงานประจำ ทั้งร้อนทั้งเหนื่อย แต่ในความเหนื่อยนั้นก็คุ้มค่าได้

เพราะปลายทางคือความสุข“.

พีรฉัตร ศุขแจ้ง

‘เทคโนโลยี-นวัตกรรม’ ตัว ‘เปลี่ยนเกม’

การนำ “เทคโนโลยี-นวัตกรรม” มาใช้กับ “อาชีพเกษตร” นั้น เรื่องนี้ พีรฉัตร ยืนยันว่า’สำคัญมากกับการเป็นเกษตรกรยุคใหม่“ ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นสามารถช่วยได้เยอะมาก ๆ ทั้งเรื่องการลดเวลาในการดูแลผลผลิต การลดค่าใช้จ่าย และยังช่วยเพิ่มผลผลิตกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชผลที่ปลูกอีกด้วย เขาจึงสนับสนุนให้เพื่อน ๆ เกษตรกรหันมาศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีมาใช้ในการจัดการผลผลิต ’อย่างที่ฟาร์มเรา ผมก็นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยหลายอย่าง เช่น ระบบให้น้ำให้ปุ๋ย โดยท่อทั้งหมดในฟาร์มเราเป็นคนเดินเองทั้งหมด และผมก็เป็นคนเซตระบบในฟาร์มเองทั้งหมดเลย สูตรปุ๋ยที่ใส่ให้พืช ผมก็คิดสูตรเองทั้งหมด ซึ่งแรก ๆ อาจจะยาก แต่หลังจากที่เราเซตระบบทุกอย่างลงตัวแล้ว…ชีวิตทุกอย่างก็จะง่ายขึ้นครับ“.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน