โดยเฉพาะปมคลิปเสียงอื้อฉาวที่เป็นการสนทนาระหว่างนักการเมืองผู้ใกล้ชิดคนใหญ่คนโตในบางพรรคการเมืองกับบอสคนดังที่ตอนนี้อยู่ในคุก พาดพิงถึงคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งสร้างความเสื่อมเสียให้กับรัฐสภาไทย ว่าเป็นแหล่งทำมาหากินของเหลือบไรที่เข้ามาแสวงหาตำแหน่งทางการเมืองเพื่อการตบทรัพย์ในวงการต่างๆ
เรื่องนี้ “ประธานวันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เต้นสั่งสอบคลิปเสียงดังกล่าว พร้อมขันน็อตมาตรการรักษาความปลอดภัยสกรีนคนเข้าออกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสั่งการไปยังประธานกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะของสภาฯ ให้ตรวจสอบและถอดถอนบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ หากเกิดความเสียหายขึ้นอีกประธานคณะกรรมาธิการชุดนั้นๆ ต้องรับผิดชอบ
ล่าสุดปมดิไอคอนยังลามเข้าสู่วงการผ้าเหลือง เมื่อกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ “ ว.วิชรเมธี” พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี พระนักเทศน์ชื่อดัง ที่ออกมาเทศนาสนับสนุนให้ผู้ที่ไปฟังธรรมซื้อคอร์สสมัครเป็นลูกข่ายของขบวนการดิไอคอน พร้อมมีเสียงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบอาณาจักรศูนย์วิปัสสนาสากล “ไร่เชิญตะวัน” ที่ก่อตั้งโดย ว.วชิระเมธี ในพื้นที่ ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย เนื้อที่ 190 ไร่ ว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุยหรือไม่
กรณีนี้ “อดีตมือปราบพยัคฆ์ไพร” ชีวะภาพ ชีวะธรรม สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ให้ข้อมูลว่า ไร่เชิญตะวันเป็นกรณีเดียวกับพระใหญ่บนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ที่เกิดเหตุเดินถล่มจนมีผู้เสียชีวิต 13 ราย สร้างในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่อยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ตามมติ ครม.เมื่อปี 2562 ที่ให้หน่วยงานราชการเป็นผู้ขอใช้ประโยชน์ และมีการก่อสร้างนอกเหนือจากพื้นที่ขออนุญาต ที่สำคัญสำหรับวัดหรือสถานวิปัสสนาที่อยู่ในป่า ควรสร้างแบบสมถะ ไม่ใช่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและมีเนื้อที่มากเกือบ 200 ไร่ ถือว่าไม่เหมาะสม และกรมป่าไม้ต้องออกมาตอบคำถามเรื่องนี้ โดยวันที่ 22 ต.ค.นี้กมธ.จะหารือเรื่องนี้ในที่ประชุมต่อไป
ด้าน “สรชัย อจลบุญ”อธิบดีกรมป่าไม้ เด้งรับชี้แจงว่า สำหรับไร่เชิญตะวัน ของ พระว.วชิรเมธี มีมูลนิธิวิมุตตยาลัย เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้าง 113 ไร่ และทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอใช้พื้นที่อีก 30 ไร่ รวมเป็น 143 ไร่ แต่เมื่อมีการใช้พื้นที่ 190 ไร่ก็ถือว่าเกินจากการอนุญาตเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ 47 ไร่ หากเป็นเช่นนี้จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ จ.เชียงรายเข้าตรวจสอบรังวัดอีกครั้งในวันที่ 21 ต.ค.นี้
สุดท้ายต้องจับตาว่ากรณี “ไร่เชิญตะวัน” นี้จะไปถึงจุดไหน อย่าให้เป็นแค่ไฟไหม้ฟาง และต้องใช้ไม้แข็งกำราบไปทั่วประเทศแบบไม่เลือกปฏิบัติทั้งพระสงฆ์และฆราวาสทั่วไปที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน.