ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนย้ำเรื่องนี้กรณีนี้ไปแล้วส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูล การศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ” ว่าด้วย “เรื่องความรัก” ที่เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ โดยกับการศึกษาเกี่ยวกับ “ความรัก” ในทางวิชาการนั้น หนึ่งในนั้นก็คือ “ในเชิงจิตวิทยาสังคม”…

มีการ “ศึกษาความรัก” อย่าง “จริงจัง”

และได้ “จำแนกรัก” ออกเป็นแบบต่างๆ

มีกี่แบบ? แต่ละแบบเป็นยังไง? มาดูกัน

ทั้งนี้ ว่าด้วย “ความรัก” ผ่าน “มุมจิตวิทยาสังคม” นั้น เรื่องนี้ได้มีคำอธิบายที่เผยแพร่อยู่ใน เฟซบุ๊กเพจ “ค่ายเจาะจิต จุฬาฯ” โดยมีการระบุถึงการศึกษาเรื่องของความรักไว้ว่า…ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่นักจิตวิทยาสนใจ และในแหล่งข้อมูลนี้ได้มีการอธิบายถึงเรื่องของความรักเอาไว้ประมาณว่า… การจะอธิบายว่าความรักคืออะไร? คงเป็นสิ่งที่ระบุได้ยาก นั่นก็เพราะ ความรักเป็นคำนามธรรมที่ไม่ได้มีความหมายชัดเจน แต่ถ้าหากเป็น “ความรักในทางจิตวิทยา” ก็พอจะ “จำแนกได้” โดยจำแนก “ผ่านมุมมองที่มนุษย์มีต่อความรัก” หรือ “Love attitude” โดยรักประกอบไปด้วยรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้…

เริ่มจาก… “Eros” หรือ ความรักแบบเสน่หา โดยผู้ที่มีมุมมองความรักรูปแบบนี้ จะถูกใจผู้ที่ถูกรักตั้งแต่แรกพบ และกล้าที่จะเสี่ยงในความสัมพันธ์ มักจะเปิดเผยและจริงใจต่อคู่ของตน รวมถึงต้องการความผูกพันทางด้านร่างกายและอารมณ์สูง, “Ludus” หรือ ความรักแบบเล่นเกม ที่เป็นการมองความรักเหมือนเกม ซึ่งผู้ที่มีมุมมองความรักแบบนี้ จะไม่ชอบผูกมัด  จะสบายใจกับความสัมพันธ์ชั่วคราว โดยไม่คิดว่าในความสัมพันธ์จะต้องมีแค่ 2 คน,  “Storge” หรือ ความรักแบบมิตรภาพ ซึ่งผู้มีมุมมองรูปแบบนี้ มักจะรักแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลานาน มักเริ่มต้นจากการเป็นเพื่อน…

ไม่ใช่รักแบบฉาบฉวย

“Pragma” หรือ ความรักแบบใช้เหตุผล โดยผู้ที่มีมุมมองความรักลักษณะนี้ มักจะรักโดยมีพื้นฐานอยู่กับความเป็นจริง ชอบแสวงหาคู่รักที่เข้ากันได้กับตนเอง ในด้านต่าง ๆ หรือเรียกว่า เป็นผู้ที่ชอบวางแผนความรัก นั่นเอง, “Mania” หรือ ความรักแบบลุ่มหลง ผู้ที่มีมุมมองความรักแบบนี้ จะมีนิสัยขี้หึงหวง หมกมุ่นกับคู่รัก รู้สึกวิตกกังวลมาก หากไม่ได้เจอคู่รักเป็นเวลานาน, “Agape” หรือ ความรักแบบเสียสละ ผู้ที่มีมุมมองแบบนี้ จะพร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้คู่รักมีความสุข และ จะไม่มีความสุขเมื่อเห็นคู่รักมีความทุกข์ …นี่เป็น “รูปแบบความรัก” ผ่าน “มุมมองที่มีต่อความรัก”

มีเกณฑ์วิเคราะห์ด้วย “จิตวิทยาสังคม”

จำแนกออกเป็น “ความรัก 6 รูปแบบ”

อย่างไรก็ดี นอกจาก “รูปแบบความรัก” แล้ว ในแง่ “ข้อแนะนำ” ที่จะช่วยให้ “รักโดยไม่ทุกข์” นั้น เรื่องนี้ก็มีแนวทางน่าสนใจจากบทความโดย ผศ.พญ.สุทธิพร เจณณวาสิน นักวิชาการแพทย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ให้คำแนะนำไว้ผ่านบทความ “9 วิธีรักอย่างไร…ไม่เป็นทุกข์” ที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งจะมีแนวทางเช่นไรถึงจะ “ไม่เป็นทุกข์เพราะความรัก”มาพิจารณากัน ดังนี้…

ทั้งนี้ กับ “9 วิธีรักอย่างไร…ไม่เป็นทุกข์” นั้น ทาง ผศ.พญ.สุทธิพร ได้ให้แนวทางไว้ผ่านทางบทความ โดยระบุไว้ว่า…ปัจจุบันคนเรามักตัดสินปัญหาความรักด้วยความรุนแรง ซึ่งคนที่ตัดสินใจใช้ความรุนแรงเพราะความรักนั้น มักจะเป็นคนที่มีมุมมองต่อความรักในลักษณะของความทุกข์ ดังนั้น การที่ความรักจะทำให้สุขหรือทำให้ทุกข์นั้น จึงขั้นอยู่กับว่าเราคิดหรือมองความรักอย่างไร?? และเพื่อจะไม่ให้ความรักเปลี่ยนเป็นความทุกข์ จนย้อนกลับมาทำลายตัวเราเอง คนรัก และคนรอบข้าง

มี หลักปฏิบัติ-หลักวิธีคิด” ดังต่อไปนี้…

1.ควรมีความสุขได้ด้วยตัวเอง และให้มองคนอื่นเป็นเพียงโบนัสที่เพิ่มเข้ามา, 2.ควรปรารถนาให้ผู้อื่นเกิดสุขด้วย ไม่ใช่คิดถึงแต่ความสุขของเราเพียงฝ่ายเดียว, 3.ลดความคาดหวัง แม้เราจะตัดความคาดหวังไม่ได้ แต่ถ้าเรายิ่งคาดหวังจากอีกฝ่ายน้อย โอกาสที่จะสมหวังย่อมมีมากขึ้น, 4.ยอมรับความแตกต่าง ทั้งด้านสรีระและความคิดของผู้อื่น ซึ่งหากเข้าใจและยอมรับได้แล้ว เมื่อคู่รักทำตัวไม่ถูกใจ เราก็จะปรับตัวและมอบความรักให้ได้ง่ายขึ้น, 5.ยอมรับความเปลี่ยนแปลง จึงจะทำให้ความรักยืนยาว เพราะความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา แต่ถ้ายังมีสัมพันธ์อันดี แม้จะเลิกกันก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้

6.ไม่ทำแต่สิ่งที่ตัวเองชอบหรือสิ่งที่ตนคิดว่าดีเพียงอย่างเดียว ต้องมองถึงความต้องการของคู่รักด้วย, 7.รู้จักเกรงใจ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งของความสัมพันธ์, 8.พูดจาชื่นชมในสิ่งดีของกันและกัน เป็นอีกวิธีมอบความรักที่ควรทำ ซึ่งบางคนละเลยไปเพราะอยู่ด้วยกันมานานจึงคิดว่าเรื่องดีนั้นคู่รักคงรู้อยู่แล้ว ไม่ต้องชม จึงเอาแต่พูดถึงสิ่งไม่ดี, 9.หมั่นแสดงออกถึงความรัก เพราะถ้ารักแล้วไม่แสดงออกอีกฝ่ายคงไม่รู้ …เหล่านี้คือ “6 รูปแบบความรัก” กับ “9 วิธีรัก”

ยุคนี้ “ปัจจัยยั่วยวนบั่นทอนรัก” มี “อื้อ”

“เข้าใจรัก-รู้วิธีรัก” ก็ “น่าจะมีประโยชน์”

ทั้ง…“กับการหารัก…และการรักษารัก”.