ทั้งนี้ เหลือบผ้าเหลืองเป็นปัญหาที่ชาวพุทธก็ควรต้องช่วยองค์กรที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันเป็นหูเป็นตาเป็นปากเป็นเสียง ช่วยกันแก้ไขและป้องกันปัญหา ขณะเดียวกันกับการ “แก้ไขและป้องกันปัญหาของพระสงฆ์” นั้น…ชาวพุทธก็ควรต้องสนใจใส่ใจ “อีกหนึ่งปัญหาที่พบว่านับวันจะรุนแรงมากขึ้น!!”…

ปัญหานี้คือ…“ปัญหาสุขภาพพระสงฆ์”

ปัญหาที่…“ชาวพุทธมีส่วนเป็นต้นเหตุ”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล “ปัญหาพระสงฆ์มีความเสี่ยงทางสุขภาพสูง!!” โดยปัจจุบันพบว่า พระสงฆ์มีปัญหาสุขภาพจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะการ “ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (noncommunicable diseases : NCDs)” ซึ่งมีข้อมูลโดย กรมอนามัย จากการสำรวจปี 2565 สำรวจพระสงฆ์ 18,496 รูป พบว่า…เกือบร้อยละ 75 มีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจขาดเลือด, มีภาวะไขมันในเลือดสูง โดยในจำนวนข้างต้น กับเบาหวาน ความดันโลหิตสูงป่วยเกือบ 20,000 รูป ซึ่งส่วนหนึ่ง…

“เกิดจากอาหารที่ชาวพุทธใส่บาตร!!”

ปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่ใส่บาตรพระสงฆ์ โดยนิยมซื้ออาหารทำสำเร็จ อาหารถุง มาใช้เพื่อความสะดวก ซึ่งหากเป็น อาหารที่มีไขมันสูง มีเกลือสูง มีน้ำตาลสูง โดยกับน้ำตาลนี่ก็รวมถึงเครื่องดื่มรูปแบบต่าง ๆ ที่ชาวพุทธซื้อใส่บาตร โดยพระสงฆ์ก็จะต้องฉันอาหารตามที่ชาวพุทธใส่บาตร เมื่อประกอบกับ สถานภาพพระสงฆ์ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ-เหมาะสม ก็จะ นำสู่ปัญหาสุขภาพในพระสงฆ์ ก็จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้พระสงฆ์เสี่ยงป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

มีข้อมูลโดย กรมการแพทย์ ที่พบว่า… พระสงฆ์ สามเณร ที่อาพาธ ที่ป่วย ที่เข้ารักษาใน โรงพยาบาลสงฆ์ ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคที่เป็นมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไตวายเรื้อรัง, ข้อเข่าเสื่อม ซึ่งโรคเหล่านี้ป้องกันได้ด้วยอาหารที่เหมาะสมเพียงพอตามหลักโภชนาการ และการบริหารร่างกายที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่ทำให้พระสงฆ์เกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการฉันอาหารที่หวาน มัน เค็ม ที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และการมีกิจกรรมประจำวันที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อย โดยมีการสำรวจพบว่า อาหารที่นิยมใส่บาตรกันมีโปรตีนเพียง 2 ใน 3 ของโปรตีนที่ร่างกายควรได้รับ ทำให้ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ และพบว่าพระสงฆ์ฉันเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ระดับที่ทำให้ได้รับน้ำตาลเกิน จึงเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ

“อาหารใส่บาตรควรลดหวาน มัน เค็ม”

และเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหานี้ ทางกรมอนามัย ทางสำนักโภชนาการ ก็มีการจัดทำหนังสือแนะนำชาวพุทธ โดยมีเนื้อหาสำหรับฆราวาสในการเตรียมอาหารใส่บาตรเพื่อให้พระสงฆ์สุขภาพดี และก็มีเนื้อหาสำหรับพระสงฆ์ในการพิจารณาฉันภัตตาหารอย่างไรให้ห่างไกลโรค ซึ่งโฟกัสที่เนื้อหาสำหรับพระสงฆ์…ก็ผกผันไปที่กรณีการเตรียมอาหารใส่บาตรของฆราวาส-ชาวพุทธได้ชัดเจน โดยเนื้อหาในส่วนพระสงฆ์ควรฉันอาหารอย่างไรเพื่อให้มีสุขภาพดี หรือ ฉันอย่างไร…ห่างไกล ควบคุม โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจและหลอดเลือด นั้น มี “โภชนบัญญัติ 9 ประการ” ที่โดยสังเขปมีดังนี้…

1.ฉันภัตตาหารให้หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม ฉันให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณพอเหมาะเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ, 2.ฉันข้าวในปริมาณที่เหมาะสม เน้นฉันข้าวกล้อง ข้าวขัดสีน้อย, 3.ฉันผักผลไม้ให้มากเป็นประจำ ควรฉันผักผลไม้ตามฤดูกาล ฉันผักทุกมื้อให้หลากหลายสลับกันไป ควบคุมการฉันผลไม้หวานจัด, 4.ฉันปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วและผลิตภัณฑ์ถั่ว เป็นประจำ, 5.ฉันนมและผลิตภัณฑ์นม เป็นประจำ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาฉันนมแล้วท้องอืด ถ่ายบ่อย เพราะร่างกายย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมไม่ได้ คือเริ่มโดยฉันทีละน้อย ๆ (ครึ่งแก้ว) แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น ไม่ฉันนมขณะท้องว่าง

6.เลี่ยงอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด อาหารทอด อาหารกะทิ, 7.เลี่ยงน้ำปานะหวานจัด ฉันน้ำสะอาดให้เพียงพอ ควรฉันน้ำเปล่าวันละ 8 แก้ว เพื่อช่วยเผาผลาญอาหาร กระตุ้นการขับถ่าย ช่วยในการลำเลียงอาหาร และลดความตึงเครียดจากร่างกายขาดน้ำ ที่การไหลเวียนของเลือดจะช้าลง ส่งผลให้หัวใจ ไต ทำงานหนัก ทั้งนี้ กับเครื่องดื่มเน้นว่าพึงระวังปริมาณน้ำตาล ควรฉันเครื่องดื่มที่มีโปรตีนอยู่ด้วย มีไขมันเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยชะลอให้อาหารอยู่ในกระเพาะได้นานขึ้น รองรับช่วงที่ร่างกายไม่ได้รับอาหารหลายชั่วโมงได้ดี, 8.ฉันภัตตาหารที่สะอาด คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร ล้างมือก่อนฉันภัตตาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ใช้ช้อนกลางในการฉันอาหารร่วมกัน และ 9.งดสูบบุหรี่ ที่เป็นตัวการทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้หลายอย่าง

ทั้งนี้ “โภชนบัญญัติ 9 ประการ” สำหรับพระสงฆ์ นี่ก็สะท้อนผกผันไปที่ฆราวาส ชาวพุทธ ในเรื่อง การเตรียมอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งต่าง ๆ สำหรับใส่บาตรหรือถวายพระสงฆ์ เพื่อมิให้เป็นการ “ทำให้พระสงฆ์เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพ” ซึ่งการใส่บาตรหรือถวายสิ่งต่าง ๆ แก่พระสงฆ์นั้น ก็ย่อมหวังจะได้บุญ ดังนั้น กรณีนี้ก็ต้อง“ระวังได้บาปแทนบุญ!!” 

“ปัญหาสุขภาพพระสงฆ์” ก็ “ต้องเร่งแก้”

“การแก้” นั้น “ต้นทางก็อยู่ที่ชาวพุทธ”…

ต้อง “หยุดใส่-หยุดถวายความเสี่ยง!!”.