กรณีแรก มีเหตุชายคนหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงเพื่อนร่วมงานดับ 1 คน และสาหัส 1 คน ที่ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ได้เผยประมาณว่า… “ไม่รู้สึกว่าผิด!!” ที่ก่อเหตุ ขณะที่อีกกรณีเป็นเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงกับสัตว์เลี้ยง ที่ผู้ก่อเหตุให้การประมาณว่า… “ไม่คิดว่าที่ทำนั้นผิด!!” ซึ่งจากทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ ก็ทำให้ผู้คนในสังคมมีการตั้งคำถามถึงกรณี “ต่อมสามัญสำนึก” ในยุคนี้ เพราะในช่วงหลัง ๆ ก็มีกรณีลักษณะคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นบ่อย…

กรณีผู้ทำผิด “ไม่รู้สึกผิด-ไม่สำนึกผิด”

เกิด “ปุจฉาเซ็งแซ่?” ในสังคมหลายหน

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ความรู้สึกผิด-ความไม่รู้สึกผิด” นี้ เรื่องนี้ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่วงการจิตแพทย์ก็ให้ความสนใจ โดยได้มีการศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นก็มี “มุมวิเคราะห์” น่าสนใจ-น่าพินิจ จากบทความเผยแพร่ของ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้เคยนำเสนอไว้ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจของสมาคมฯ ตั้งแต่เมื่อปี 2558 ถึงเรื่อง “ความรู้สึกผิด” โดยมีการระบุไว้ว่า… ถือเป็น “ภาวะอารมณ์สำคัญ” ที่ “คนปกติทั่วไปต้องมี” แต่กับบางคนที่อาจจะ มีภาวะอารมณ์เรื่องนี้ใน “ระดับที่น้อยมาก” กรณีนี้ ก็อาจ “เสี่ยง” ทำให้ “เกิดปัญหาต่อตัวเอง” และรวมถึง “เป็นปัญหากับคนรอบข้าง” ได้

ในบทความโดยสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ยังได้มีการอธิบายถึง “ความรู้สึกผิด” ไว้ว่า… ความรู้สึกดังกล่าวนี้ คือความรู้สึกแย่กับตัวเอง การยอมรับไม่ได้ในการกระทำของตัวเอง หลังจากที่ได้กระทำบางสิ่งบางอย่างลงไป ซึ่ง ความรู้สึกผิดเป็นความรู้สึกที่สำคัญของมนุษย์ โดยจะส่งผลทำให้คน ๆ นั้นต้องรู้สึกทรมานใจอย่างมาก หรือบางครั้งอาจจะถึงขั้นทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ภายหลังจากเหตุการณ์นั้น ๆ …นี่เป็นคำอธิบายโดยสังเขปเรื่องนี้…เป็นการชี้ไว้ถึง “ภาวะความรู้สึกผิด”

ภาวะอารมณ์ที่ “คนปกติทั่วไปต้องมี”

แล้วความรู้สึกผิดเกิดขึ้นได้อย่างไร? ประเด็นนี้ก็มีคำอธิบายไว้ว่า… ในทางจิตวิทยา…ก็ ไม่ใช่ทุกคนจะมีความรู้สึกผิดได้…แต่ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐาน ดังนี้คือ… มีคุณธรรม โดยคนที่มีคุณธรรมถึงจะมีความรู้สึกผิดได้ และในทางตรงข้าม ถ้าเป็นคนที่ไม่มีคุณธรรม ไม่ว่าทำอะไรผิดก็จะไม่มีทางรู้สึกผิด, มีความรับผิดชอบ ทั้งต่อพฤติกรรมของตนเอง รวมถึงต่อส่วนร่วม, มีความรู้สึกต้องช่วยคนอื่น นี่เป็นอีกภาวะที่มีอยู่ในคนปกติทั่วไป ที่ไม่ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง และอีกอย่างคือ มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น รับรู้และเข้าใจความทุกข์ความเจ็บปวดของผู้อื่นได้

เหล่านี้คือ “คุณสมบัติพื้นฐานที่ต้องมี”

ที่ “ทำให้ไม่บกพร่องด้านความรู้สึกผิด”

ทั้งนี้ ในบทความเผยแพร่ของสมาคมจิตแพทย์ฯ ยังขยายความถึงเรื่อง “ความรู้สึกผิด” ไว้ว่า… ความรู้สึกผิดไม่ใช่เรื่องไม่ดี…แต่ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของคนที่จิตใจดี เพราะความรู้สึกผิดจะทำให้รู้สึกอยากปรับปรุงตัว หรือทำให้อยากทำอะไร ๆ ให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม เพียงแต่ในบางกรณี กับบางคน ถ้ามีความรู้สึกผิดมากเกินไป กรณีนี้อาจจะส่งผลเสียหายต่อชีวิตได้ โดยในบทความนี้ ก็ได้มีการอธิบายไว้ถึง ลักษณะของคนที่มีความรู้สึกผิดมากเกินไป ที่จะมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้… 

มีบุคลิก ชอบตำหนิตัวเอง มีแนวโน้มชอบเพ่งโทษตัวเอง ชอบตำหนิตัวเอง หรือเห็นแต่ข้อลบตนเองตลอดเวลา, เป็นคนให้อภัยตัวเองยาก ซึ่งเกิดจากการมีระดับคุณธรรมที่รุนแรงเกินไป, ขาดความยืดหยุ่น เช่น ถ้าจะดี ก็ต้องดีทั้งหมด ไม่ควรมีอะไรผิดเลย และถ้ามีผิดไปนิดหนึ่ง ก็มักจะแปลว่าเลวร้ายไปทั้งหมด หรือมีทัศนคติการมองต้องเป็นขาวหรือดำเท่านั้น

ลักษณะถัดมา… คาดหวังตัวเองสูง หรือ มีลักษณะบุคลิกภาพแบบคนสมบูรณ์แบบ (perfectionist) ที่ทำให้คาดหวังให้ตนเองต้องทำสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา และ… ไม่เห็นคุณค่าตนเอง ทำให้เมื่อทำผิดแม้เล็กน้อยก็จะรู้สึกแย่มาก

นอกจากนั้น ความรู้สึกผิดที่มีมากเกินไปก็ยังทำให้… 1.กลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล, 2.กลายเป็นคนที่ไม่อนุญาตให้ตนเองมีความสุข เพราะต้องการลงโทษตัวเอง จึงทำให้ตนเองรู้สึกทุกข์ใจหรือทำให้ชีวิตตนเองตกต่ำอยู่ตลอด, 3.มีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตาย หรือมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองตลอดเวลา เพื่อจะชดเชยความรู้สึกผิด

“ความรู้สึกผิดที่มากไปก็อาจย้อนกลับมาทำร้ายได้ ดังนั้นความเมตตาต่อตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยการปล่อยวางเรื่องที่ผิดพลาดไปในอดีตเมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม”…ในบทความระบุไว้ อย่างไรก็ตาม “ความรู้สึกผิด” นั้นยังไง ๆ “คนปกติทั่วไปต้องมี” ซึ่งในบทความโดยสมาคมจิตแพทย์ฯ ก็ระบุไว้ด้วยว่า… “ความรู้สึกผิดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพราะทำให้เกิดการแก้ไข และนำมาสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งตรงกันข้ามกับการที่ไม่รู้สึกผิด ที่จะมีแต่การแก้ตัว หรือเอาแต่กล่าวโทษคนอื่น”

และก็ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” สะท้อนต่อข้อมูลไว้ในตอนต้น…คืออย่าว่าแต่ “ไม่มีความรู้สึกผิด” เมื่อได้กระทำผิด หรือที่หลายคนใช้คำพูดว่า “ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดี” เอาแค่ “มีความรู้สึกผิดในระดับที่น้อยมาก” ก็มีการชี้ไว้ว่า “เสี่ยง” แล้ว…  

“เสี่ยง” ต่อการที่จะ “ทำให้เกิดปัญหา!!”

เสี่ยง “ทั้งผู้ไม่รู้สึกผิดและกับคนอื่น ๆ”

ที่…“ไทยยุคนี้นับวันยิ่งน่ากังวลมาก!!”.