…นี่เป็นบางส่วนจากการระบุไว้ในบทความ “การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560” ที่ตีพิมพ์ใน วารสาร มจร การพัฒนาสังคม ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2564

…เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยโดย ผศ.ดร.ภูริวัจน์ ปุณยวุฒิปรีดา นักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี ซึ่งในตอนที่แล้วทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนต่อข้อมูลไปแล้วบางส่วน โดยผู้ศึกษาวิจัยได้สะท้อนถึงเรื่องนี้ว่า… “นโยบายของพรรคการเมือง” นั้นมีความ “สำคัญอย่างยิ่ง” ในฐานะเป็น…

“เครื่องมือกำหนดทิศทางของประเทศ”

ที่ควรจะต้องเป็นคือ “เพื่อให้ก้าวหน้า”

แต่ทว่า…“ก็อาจทำให้เกิดภาวะเสี่ยง!!”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับความสำคัญของ “นโยบายของพรรคการเมือง” ที่มีทั้งในด้านการกำหนดทิศทางการบริหารราชการแผ่นดิน และในด้านการเป็น “เครื่องมือสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้ง” นั้น ทาง ผศ.ดร.ภูริวัจน์ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ได้มีการนำเสนอถึงผลการศึกษาที่พบเอาไว้ใน 3 หัวข้อสำคัญ คือ… 1.สภาพทั่วไปและปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทย 2.ปัจจัยและกลไกที่มีต่อการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทย และ 3.แนวทางพัฒนากลไกการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทย ผ่าน “หลักอิทธิบาท 4”  ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ที่น่าพินิจพิจารณา ดังต่อไปนี้…

เริ่มจากหัวข้อแรก “สภาพทั่วไปและปัญหาอุปสรรค” เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทย โดยผลศึกษาหัวข้อนี้พบว่า…ในยุคปัจจุบัน การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทยมีปัจจัยที่ซับซ้อน และมีความหลากหลายกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ “การวัดผลความสำเร็จ” ของนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองนั้น พบว่า… มักจะเทน้ำหนักไปที่การสร้างอิทธิพลต่อสังคม การเมือง และเป้าหมายในการทำให้ได้รับเลือกตั้ง ส่งผลทำให้นโยบายในระยะหลัง มักมีลักษณะ “ขายฝัน” ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้จริง?? …นี่เป็น “ข้อค้นพบ”…

ค้นพบ “ผ่านงานวิจัยเชิงคุณภาพ”

ถัดมาหัวข้อที่สอง “กลไกการกำหนดนโยบาย” ของพรรคการเมืองไทยนั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่า…นโยบายของพรรคการเมือง ที่จะ “มีประสิทธิภาพ” นั้น ต้องเกิดจากการ “กำหนดประเด็นที่ถูกต้อง สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาของสังคม และต้องมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง” ซึ่งก็รวมถึงนโยบายของพรรคการเมืองนั้น ต้องไม่ใช่การกำหนดนโยบายเพื่อหวังผลชนะในการเลือกตั้งเพียงประการเดียว …นี่เป็น “กลไกองค์ประกอบที่ดี” ที่การศึกษานี้ชี้ไว้ว่า ควรนำมาใช้เป็นแนวทางเพื่อกำหนดนโยบายพรรคการเมือง โดยไม่ควรคำนึงแค่เพียงเรื่องของผลการเลือกตั้งเท่านั้น

ขณะที่หัวข้อที่สาม ที่ยิ่ง “น่าพินิจ” คือ“การพัฒนากลไกการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง” ซึ่งผู้วิจัยได้มี “ข้อเสนอแนะ” ไว้ว่า… การกำหนด “นโยบายที่ดีของพรรคการเมือง” สามารถ นำ “หลักธรรม” อย่าง “หลักอิทธิบาท 4” มาใช้ ได้แก่… 1.ฉันทะ มีใจรักในสิ่งที่ทำ 2.วิริยะ มีความมุ่งมั่นทุ่มเท 3.จิตตะ มีใจที่จดจ่อและรับผิดชอบ 4.วิมังสา มีการทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมา โดย หลักธรรมนี้ พรรคการเมืองควรใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายอย่างยิ่ง เนื่องจากหลักธรรมจะเป็นตัวควบคุม ทำให้ผู้ปฏิบัติมีจิตใจที่แนวแน่ต่อสิ่งที่ทำ จนเกิด “ความเชื่อที่เป็นพื้นฐานสำคัญ” ที่ว่า…

กำหนดนโยบายแก้ปัญหาให้ประชาชน

“มิใช่หวังเพียงผลชนะเลือกตั้งเท่านั้น!!”

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายบทความจากผลศึกษาวิจัย โดย ผศ.ดร.ภูริวัจน์ ปุณยวุฒิปรีดา กรณี “การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง” ซึ่งตีพิมพ์ใน “วารสาร มจร การพัฒนาสังคม” ของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการจัดทำ “ข้อสรุป” ที่ได้จากการศึกษาเรื่องนี้ไว้ โดยระบุว่า… กระบวนการกำหนดนโยบายนับเป็นขั้นตอนสำคัญที่ส่งผลต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นอย่างมาก ทำให้การกำหนดนโยบายจึงเป็นงานที่มีความซับซ้อน เพราะเกี่ยวข้องกับปัจจัยแวดล้อมและผู้คนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ต้องมีการกลั่นกรองอย่างดีที่สุด เพื่อให้เหลือเฉพาะนโยบายที่มีความเป็นไปได้จริง

และที่สำคัญ…ในบทความวิชาการชิ้นนี้ ยังได้เน้นย้ำไว้ในช่วงท้ายด้วยว่า… นโยบายที่ดีควรจะต้องมีลักษณะที่ดีดังต่อไปนี้คือ… 1.มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ 2.เหมาะสมกับทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ 3.มีความสอดคล้องกับค่านิยมของสังคม และ 4.ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ …เหล่านี้เป็นอีกมุมวิชาการที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ “องค์ประกอบของนโยบายที่ดี” ที่เป็นเครื่องมือสำคัญ “มิใช่แค่พรรคการเมืองใช้หาเสียง”

“นโยบายพรรคการเมือง” เริ่ม “เซ็งแซ่”

“ที่ดีจริง-ที่เสี่ยงแย่” ก็ “ต้องเพ่งให้ชัด”

“ดูกันให้แม่น” ว่า “ทำได้?-ขายฝัน?”.