เช่นผ่านการ “คอมเมนต์-วิจารณ์” ด้วย “ถ้อยคำเสียดสี-คำพูดที่รุนแรง” ซึ่งกับผู้ที่วิจารณ์ ผู้ที่ไม่ได้ถูกกระทำ อาจคิดว่ากรณีแบบนี้ไม่เห็นจะเป็นอะไร??? แต่สำหรับ “ผู้ถูกกระทำ-เหยื่อ” ที่ถูกบูลลี่ ถูกระรานผ่านโลกไซเบอร์-โลกออนไลน์ กรณีเช่นนี้ “กระทบชีวิต” ได้เกินคาดคิด!!!…

หลังจาก “ถูกระรานผ่านโลกไซเบอร์”

อาจจะ “บาดเจ็บทางจิตใจอย่างหนัก”

และอาจถึงขั้น “คิดสั้นเพราะทนไม่ได้”

ทั้งนี้ กรณี “ระรานทางไซเบอร์” กลายเป็น อีกปัญหาสำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน โดยที่ ส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าการรังแกรูปแบบเดิม เนื่องจากเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และ ผู้กระทำไม่ต้องเผชิญหน้ากับผู้ถูกกระทำ ทำให้ การป้องกันของผู้จะถูกกระทำนั้นทำได้ยาก ซึ่งเรื่อง “ร้าย” เรื่องการระรานทางไซเบอร์นี้วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่น่าจะได้พินิจกันในวงกว้าง โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นบทความหัวข้อ “Cyberbullying : ระรานออนไลน์ ร้ายล้านวิว” ที่ได้มีการเผยแพร่ไว้ทาง เว็บไซต์ ETDA โดยสังเขปมีว่า…

การระรานทางไซเบอร์นั้น เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำร้ายจิตใจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของเหยื่อได้อย่างรุนแรง!!! และที่แย่ที่สุดก็คือ…คนกระทำสามารถปกปิดตัวตนบนโลกออนไลน์ได้ ทำให้การจัดการและป้องกันปัญหานี้ทำได้ยากมาก ทั้งนี้ กับกรณีนี้ปัญหานี้ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวยังระบุไว้ว่า… “เนื้อหาในการระรานทางไซเบอร์” ที่มักจะถูกนำมาใช้นั้น มักจะเป็นเนื้อหาต่าง ๆ ดังนี้คือ… เนื้อหาที่ดูถูกเหยียดหยาม, เนื้อหาเกี่ยวกับการจับผิด หรือการแฉ, เนื้อหาที่เป็นการประจาน หรือเพื่อใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งมัก แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว บนโลกอินเทอร์เน็ต-โลกออนไลน์

ส่วน “ระดับการระรานทางไซเบอร์” ก็มีตั้งแต่แกล้งกันเล็กน้อย หรือล้อเล่นพอขำ ๆ แต่…ก็ มีหลาย ๆ เคสที่แม้จะต้องการเพียงแค่ล้อเล่น หรือแกล้งเบา ๆ แต่ก็ลุกลามบานปลายขยายวงใหญ่โต และที่ซ้ำร้ายก็คือพบว่า…หลาย ๆ เคสที่เกิดขึ้นนั้น ผู้กระทำกับเหยื่อไม่เคยรู้จักกัน!!! ซึ่งเหยื่อก็แปลกใจ เหยื่อก็รู้สึกงงที่ถูกไซเบอร์บูลลี่ จากคนที่ไม่รู้จัก

อย่างไรก็ตาม สำหรับ “รูปแบบการระรานทางไซเบอร์” ที่ไม่ใช่เล่น ๆ ที่พบบ่อย ๆ นั้น ได้แก่… ข่มขู่คุกคาม-ให้ร้ายเหยื่อ ที่บางเคสก็นำสู่การทำร้ายร่างกาย หรือใช้ความรุนแรงต่อกัน, เปิดโปงข้อมูลของเหยื่อสู่สาธารณะ เช่น โพสต์ข้อมูลหรือภาพหลุด หรือภาพตลกของเหยื่อ เพื่อประจานหรือทำให้อับอาย, คุกคามทางเพศ ใช้ถ้อยคำที่ส่อไปในทางเพศ ส่งภาพ หรือคลิปวิดีโอลามกอนาจารถึงเหยื่อ แล้วชวนเหยื่อให้ร่วมกิจกรรมทางเพศ ตัดต่อภาพโป๊เปลือยที่ไม่ใช่ภาพจริง รวมถึงลวงเหยื่อส่งรูปไม่เหมาะสมให้แล้วนำไปโพสต์ หรือนำไปใช้ แบล็กเมล์เหยื่อ บังคับให้เหยื่อต้องทำตามความต้องการ

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบอื่น ๆ อีก อาทิ…แอบอ้างตัวตน โดยการแอบเข้าบัญชีออนไลน์ของเหยื่อ หรือสร้างบัญชีใหม่โดยใช้ชื่อหรือรูปภาพของเหยื่อ แล้วนำไปใช้ในทางไม่เหมาะสม หรือ สร้างกลุ่มเพื่อโจมตี เช่น เพจแอนตี้ต่าง ๆ เพื่อจับผิด ตำหนิ ด่าทอ ประจาน เพื่อให้ผู้อื่นรู้สึกเกลียดชังเหยื่อ จนเข้ามาคุกคามหรือต่อว่าด่าทอ …นี่ก็อีกรูปแบบ “ระรานทางไซเบอร์”

จากข้อมูลเกี่ยวกับกรณี “ร้าย” กรณีนี้ที่สะท้อนไว้ผ่านบทความ “Cyberbullying : ระรานออนไลน์ ร้ายล้านวิว” ทาง เว็บไซต์ ETDA ยังมีส่วนที่ระบุไว้ถึงประเด็น “ผลกระทบของเหยื่อไซเบอร์บูลลี่” ว่า… มีตั้งแต่ทำให้ รู้สึกอับอาย หวาดกลัว หวาดระแวง หดหู่ รู้สึกโดดเดี่ยว ท้อแท้ รู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกไร้ค่า รวมไปจนถึงทำให้ เป็นโรคนอนไม่หลับ มีภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง และหากหนักเข้าก็ อาจจะถึงขั้นลงมือทำร้ายตัวเอง หรือคิดสั้น-ฆ่าตัวตาย!!! โดยเฉพาะถ้าเหยื่อเป็นกลุ่มที่ยังมีอายุน้อย ๆ เป็นเด็ก เป็นเยาวชน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงจากผลกระทบมากขึ้น!!! ขณะที่ “ผู้กระทำเองก็มีผลกระทบ” ซึ่งถ้ามีพฤติกรรมนี้ต่อเนื่องนาน ๆ อาจเสพติดความรุนแรง จนอาจพัฒนาไปสู่การก่ออาชญากรรมร้ายแรง!!! หากเสพติดพฤติกรรมเชิงลบเช่นนี้ไปนานวัน ที่สุดก็อาจจะพัฒนาเชิงลบไปสู่การ กลายเป็นอาชญากร ได้!!!

ทั้งนี้ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นยังมี “คำแนะนำ” ไว้ด้วยว่า… การสังเกตเพื่อจะช่วยเหลือคนใกล้ตัว บุตรหลาน ที่อาจจะกำลังตกเป็นเหยื่อไซเบอร์บูลลี่นั้น… หากพบว่าคนใกล้ตัว บุตรหลาน มีอาการเครียด วิตกกังวล ชอบเก็บตัว กลายเป็นคนหวาดระแวง-ตกใจง่าย หรือประสิทธิภาพการทำงานหรือการเรียนลดลง หมกมุ่นกับหน้าจอและข้อความในโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียอยู่ตลอด ให้เฝ้าสังเกตและเฝ้าติดตามดูใกล้ชิด…เพราะอาจกำลังตกเป็นเหยื่อไซเบอร์บูลลี่-อาจมีความเสี่ยง

ขณะที่ “วิธีรับมือการระรานทางไซเบอร์” นั้น… เริ่มจาก ไม่ตอบโต้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำหรือเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น, ปิดกั้น ทำให้ผู้ระรานไม่สามารถติดต่อหรือโพสต์ระรานได้อีก, บอกคนที่ไว้ใจ พ่อ-แม่ ครู เพื่อขอความช่วยเหลือ, ลบภาพ-ข้อความ ที่ถูกระรานออก หรือติดต่อผู้ดูแลระบบหากเป็นพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์, เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ โดย “อย่าไปให้ค่ากับคนหรือคำพูดที่ทำร้ายเรา!!!” …เหล่านี้เป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์-ข้อมูลที่น่าสนใจ

“ระรานออนไลน์” อาจ “เป็นฆาตกรได้”

ถึงเหยื่อไม่คิดสั้น “คนทำก็ชีวิตพังได้

อาจพังถึงขั้น “กลายเป็นอาชญากร!!!”.