เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการฯ ว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้งดประชุมไปตามที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งการให้งดการประชุมตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโนา 2019 (ศบค.) ทั้งนี้ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นหรือสามารถกลับมาประชุมคณะกรรมาธิการคณะต่างๆได้เมื่อใด เราก็จะดำเนินการทันที โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้สั่งให้มาประชุมอีกครั้งในวันที่ 4 และ 6 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณากรอบทั้งหมดตามที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งคาดว่าจะรวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง
นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า หากทุกฝ่ายได้ร่วมกันให้มีคณะทำงาน และเสนอต่อ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ จะประชุมไม่เกิน 4 ครั้ง ก็จะสามารถได้ข้อยุติได้ ซึ่งในขณะนี้มี ส.ส.และกรรมาธิการได้เสนอคำแปรญัตติไว้แล้ว โดยเลขานุการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้รวบรวมคำแปรญัตติต่างๆ ให้กับนายไพบูลย์แล้ว ถ้า กมธ.ประชุมในครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 เสร็จ ตนคาดว่าจะสามารถเชิญผู้แปรญัตติมาเสนอความเห็นในชั้นแปรญัตติหรือสงวนความเห็นได้
เมื่อถามว่า หากให้ประเมินความคืบหน้าอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว นายชินวรณ์ กล่าวว่า ยังไม่คืบหน้า แต่เราได้ประเมินสถานการณ์ว่าหากมีการประชุม ก็จะสามารถหารือถึงวิธีการ และมาตรการในการทำงานในช่วงวิกฤติโควิด-19 กมธ.จะสามารถทำงานได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ส่วนบางประเด็นที่ยังมีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกัน ก็อาจตั้งคณะทำงานมาพิจารณาไปพร้อมกัน ซึ่งครั้งที่ 4 ก็สามารถสรุปความเห็นได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ ก็สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมรัฐสภา หลังจากสภาเสร็จสิ้นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. … ในวาระที่ 3 โดยเรายังคาดว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จทันสมัยประชุมนี้
นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า เรายังมั่นใจที่อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบผลสำเร็จ และถ้าเราสามารถเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งได้ เท่ากับว่าเราได้เปลี่ยนบริบททางการเมือง ซึ่งจะทำให้การเมืองไม่วนไปสู่จุดเดิม มิฉะนั้นจะยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น
เมื่อถามว่า หากสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น คณะกรรมาธิการฯ จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานหรือไม่ อย่างไร นายชินวรณ์ กล่าวว่า ตามข้อบังคับกำหนดให้ไม่สามารถประชุมผ่านระบบทางไกลหรือซูมได้ เพราะเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นร่างกฎหมาย แต่ตนคิดว่าเราต้องหามาตรการ ไม่ใช่เฉพาะร่างกฎหมายนี้อย่างเดียว โดยตนได้เสนอแนะต่อประธานสภาฯ และที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายแล้วว่าต้องหามาตรการสำหรับการทำงานในสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างไรต่อไป