นับถอยหลังเหลือเวลาเหลืออีก 11 วัน คดีการสลายการชุมนุมที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จะหมดอายุความ ถ้าย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 47 ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งทหาร ตำรวจได้จับกุมประชาชนนับร้อยคน ซึ่งไปชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นายกามา อาลี” กับพวกรวม 6 คน อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ. ) โทษฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ กรณีนำอาวุธลูกซองของราชการที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้าย แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไปจากหน้าสถานีตำรวจ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยมีการจับผู้ชุมนุมนับร้อยคนไปอยู่ในรถบรรทุก 25 คัน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 78 คน อันเนื่องมาจากขาดอากาศหายใจ ซึ่งคดีใกล้จะหมออายุความในวันที่ 25 ต.ค. 67
ขณะที่หลายจับตามองว่า คือ “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” อดีตแม่ทัพภาค 4 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท. ) ด้วยความที่ยังมีสมาชิกภาพเป็น สส. ผู้แทนปวงชน จึงมีเอกสิทธิ์คุ้มกันระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ยังล่าประชุมสภาระหว่างวันที่ 26 ส.ค. – 30 ต.ค. 67 โดยอ้างเหตุผลว่า “ป่วย…ต้องเดินทางไปรักษาตัวต่างประเทศ…” ซึ่งถ้าหากดูตามเงื่อนเวลา นั้นหมายความว่า ถ้าเดินทางกลับมาในช่วงลาดังกล่าว ถือว่าคดีหมดอายุความ ผู้ต้องหาจะกลับลอยนวล กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ ไร้มลทินในทันที ดังนั้น คำถามจึงมีไปถึง “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะพรรคต้นสังกัดจะดำเนินการอย่างไร
ที่น่าสนใจความเห็นมาจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล “นายสรวงศ์ เทียนทอง” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาในฐานะเลขาธิการพรรคพท. กล่าวถึงการติดตามตัว พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพท. มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับในคดีสลายการชุมนุมที่หน้าสภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า สิ่งที่พรรคพท.อ้อนวอนขอ อยากให้ พล.อ.พิศาล กลับมาสู้คดี แต่ถ้าเขากลับมาหลังจากที่คดีขาดอายุความแล้ว ยืนยันว่าพรรคพท. จะมีมาตรการออกมาแน่นอน
เมื่อถามต่อว่ากังวลต่อภาพลักษณ์และฐานเสียงของพรรคพท.หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ท่านเป็นส.ส.พรรคเรา เป็นสมาชิกพรรคสิ่งที่เราพยายามอย่างยิ่ง คืออยากให้ท่านกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะขณะนี้ยังมีเวลา หากท่านเลือกที่จะกลับมา หลังคดีขาดอายุความ พรรคจะมีมาตรการแน่นอน สุดท้ายอาจจะต้องขับออก ยืนยันว่าพรรคพท.ไม่ได้อุ้ม พล.อ.พิศาล เพราะในส่วนของพรรคก็ทำอย่างเต็มที่ พยายามอย่างยิ่งเพื่อให้ท่านกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรม.
ต้องรอลุ้นว่า ก่อนถึงวันที่ 25 ต.ค. “พล.อ.พิศาล” จะเดินทางกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และถ้าหากไม่กลับมา ท่าที “เพื่อไทย” ในฐานะ พรรคต้นสังกัด จะมีจุดยืนอย่างไร เพราะถ้าหากไม่ดำเนินการการอะไร หวังปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป พรรคพท.ได้รับผลกระทบแน่ ๆ และอาจจะลามไปถึง “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี
ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ซึ่งหลายเริ่มมองว่า การอาจไม่สามารถดำเนินการได้ทันในการเลือกตั้งเมื่อปี 70 เมื่อสภาฯและวุฒิสภา เห็นต่างในรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ สภาฯสนับสนุนการกำหนดหลักเกณฑ์เสียงประชามติ ผ่านความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก ยืนยันตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร มีเพียง พรรคภูมิใจไทย(ภท.)ที่อภิปรายสนับสนุนการปรับแก้ของวุฒิสภา ที่ให้ออกเสียง 2 ชั้น จนต้องมีการคณะกรรมาธิการ(กมธ. ) ร่วม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งหากวุฒิสภายืนตามมติเดิม และสภาฯเห็นต่าง ก็ต้องทิ้งเวลาไว้ 180 วัน นั่นหมายความ การนำการแก้รธน.ไปออกเสียงประชามติ วันเดียวกับการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ. )ในช่วงต้นปี 68 คงไม่สามารถดำเนินได้
“นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม” สส.สุรินทร์ พรรคพท. ออกมาให้ความเห็นกรณีคณะกมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภาจะนัดประชุมในวันที่ 16 ต.ค. 2567 เพื่อเคาะชื่อคนที่จะมานั่งกมธ.ร่วมกันระหว่างสส.และสว. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะทันก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯหรือไม่ว่า ยังไม่รู้วันนี้ทาง สว.จะมีท่าทีถอยหรือไม่ หาก สว.มีท่าทีถอยเพื่อทบทวนก็จะไว แต่หาก สว.ยืนยันเช่นนั้น ก็ต้องขยายไปอีก 180 วัน แน่นอนว่าแก้ไขไม่ทันรัฐบาลนี้ แต่คิดว่าเขาน่าจะเข้าใจ ต้องเห็นแก่บ้านเมือง ต้องเดินไปอย่างไร เมื่อถามต่อว่าส่วนตัวมีข้อเสนอหรือทางออกระหว่าง 2 สภา อย่างไร นายครูมานิตย์ กล่าวว่า ไม่มีทางออกอะไรเลย เรื่องนี้มันตัน หากวุฒิสภาต้องการทำให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในการแก้ไขรธน.ก็ต้องทบทวนมติ คือ การยึดเสียงข้างมากของคนที่มาใช้สิทธิ์ แต่หาก สว. ยังยืนกรานที่จะเอาเสียงข้างมาก 2 ชั้น ตรงนี้ก็จะเหนื่อย และไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนอแนะอะไรได้เลย เพราะอยู่ที่ สว.เขาคิดอย่างไร
เมื่อถามอีกว่าขณะนี้คิดว่ามีปัจจัยอะไรที่จะทำให้การทำประชามติเกิดความล่าช้า นอกจากสว.อีกหรือไม่ นายครูมานิตย์ กล่าวว่า อยู่ที่ สว. หาก สว.ให้ผ่านทุกอย่างก็จบ ทุกคนก็รู้และปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ใครคุมอำนาจของ สว.อยู่ เมื่อถามต่อว่าต้องมีการพูดคุยกัน เพื่อทำความเข้าใจกับทาง สว.หรือไม่ นายครูมานิตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ต้องใช้คนระดับหัวหน้าพรรคประสานในการแก้ปัญหา เมื่อถามอีกว่ากรณีที่กล่าวว่าต้องใช้คนระดับหัวหน้าพรรคประสานในการแก้ปัญหานั้น หมายถึงให้หัวหน้าพรรคไปคุยกับ สว. ใช่หรือไม่ นายครูมานิตย์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าพรรคจำนวนมาก วันนี้ใครที่ดูแล สว. แค่พรรคสองพรรคไปคุยกัน ตรงนี้ก็จบแล้ว และวันนี้เป็นที่โจษจันของสังคมอยู่แล้วว่า สว.เป็นกลุ่มก้อนของใคร จะให้พรรครวมไทยสร้างชาติ( รทสช.)หรือพรรคประชาธิปัตย์(ปชป. )ไปคุยได้อย่างไร เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสว.เลย
ขณะที่ “นายสรวงศ์ เทียนทอง” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาในฐานะเลขาธิการพรรคพท. กล่าวถึงกรณีกระบวนการร่างรธน.ว่า ในส่วนพรรคพท.มุ่งมั่นที่อยากรักษาวันและเวลาให้ได้มากที่สุด โดยสิ่งแรกอย่างพยายามให้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะกมธ. ร่วมของ 2 สภา และยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะทันได้ยกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งเชื่อเมื่อได้ประชุมร่วมกันแล้ว น่าจะพูดคุยกันได้ในชั้นของกมธ.ร่วมฯ หากมีอะไรที่สามารถปรับแก้ หรือโอนเอียงได้ก็จะพยายามทำให้ทัน ยืนยันว่าการทำประชามติชั้นเดียวดีที่สุด เพราะจะไม่มีอะไรที่จะเป็นการตั้งแง่ ทำให้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมา จนทำให้ไม่สามารถแก้รธน.ได้
เมื่อถามว่าหลายฝ่ายกังวลว่าการทำประชามติรอบแรก ไม่ทันการพ่วงเลือกตั้งนายกอบจ. นายสรวงศ์ กล่าวว่า ก็พยายามทำให้ทัน หากไม่ทันจริงๆ ก็ต้องเสียงบประมาณพอสมควร ในการทำประชามติแยกออกมา เมื่อถามต่อว่าทางพรรคพท.ได้พูดคุยกับพรรคภท. และพรรคร่วมรัฐบาลถึงเรื่องของการแก้ไขรธน.แล้วหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคพท.กับพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ได้คุยกัน แต่มั่นใจว่าน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพท.คงได้พูดคุย ในระดับหัวหน้าพรรคแล้ว แต่จะออกมาเป็นอย่างไร ขอให้รอ ให้พูดคุยในรายละเอียดกันก่อน เมื่อถามอีกว่าหากหักดิบสว. กังวลหรือไม่ว่าการแก้ไขรธน.จะทำไม่ได้ แม้แต่รายมาตรานายสรวงศ์ กล่าวว่า ในส่วนพรรคพท.พยายามอย่างยิ่ง ที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านไปด้วยดี และทันเวลา หากมีอะไรที่ สามารถปรับเปลี่ยนได้ หรืออะไรที่เรายังคงสิ่งที่เรามุ่งมั่นอยู่ ก็สามารถพูดคุยกันได้
ก่อนหน้านั้นที่การแก้ไขรธน.รายมาตรา ต้องล้มไป เป็นเพราะพรรคพท.ไม่ได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่การผลักดันการแก้ไขรธน. ทั้งฉบับ คงต้องจับสัญญาณจากสว. ซึ่งใครก็มองออกว่า มีความใกล้ชิดกับ “พรรคภท.” บางทีอาจมือมือที่ไม่มองเห็น ไม่ต้องการให้ฉีกทิ้งรธน. 60 เพราะถือเป็น “ฉบับปราบโกง” ต้องรอดูว่า ท่าที่สว.ในชั้นกมธ.ร่วมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ และการพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาฯ จะชี้ขาดว่า การทำประชามติจะเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับการเลือกนายกฯอบจ.ในช่วงต้นปี 68 หรือไม่.