ไม่ว่าผ่านมา “กี่ยุคกี่สมัย” เกษตรกรไทย ก็ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากจากการประกอบอาชีพ “เกษตรกร” ได้ นอกจากต้องประสบปัญหา “ฟ้าฝน” สถาพอากาศที่อยู่นอกเหนือการควบคุมแล้ว!?!

 ยังต้องประสบปัญหา พืชผลราคาตกต่ำ  สินค้าล้นตลาด   ผลผลิตได้น้อย ไม่เป็นไปตามแผน ตลอดจนไม่มีตลาดรับซื้อผลผลิต ฯลฯ ก็ล้วนทำให้เกษตรไทย “ย่ำอยู่กับที่” 

ผิดกับ “เกษตรกร”ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่เกษตรกรถือเป็นอาชีพที่มีรายได้สูง เป็นอันดับต้นๆ โดยปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ  คือ มีการนำเทคโนโลยี และองค์ความรู้ ระบบบริการจัดการ มาช่วยทำการเกษตรกรรม

วันนี้ จึงมีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ฟาร์มบุ๊ค (Farmbook)  หรือ https://farmbook.co มาแนะนำ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งใน สตาร์ทอัพของไทยด้านการเกษตร ( AgriTech ) ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธกส.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

“ธิติพันธ์ บุญมี” กรรมการผู้จัดการ  บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด ผู้ให้บริการและพัฒนาแพลตฟอร์ม ฟาร์มบุ๊ค บอกว่า ฟาร์มบุ๊ค เป็นแพลตฟอร์มระบบนิเวศห่วงโซ่อุปทาน หรือ ซัพพลาย เชน ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยได้ดำเนินการมาได้ประมาณ 4 ปี เปิดให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ผู้จัดจำหน่าย และผู้ซื้อมารวมตัวกัน เพื่อสร้างกลไกตลาดหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้การซื้อขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ธิติพันธ์ บุญมี

ที่ผ่านมามีประสบการณ์พัฒนาระบบให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานมันสำปะหลังขนาดใหญ่ ซึ่งหลังจากรัฐบาลเริ่มส่งเสริมเกษตร 4.0 จึงอยากนำเทคโนโลยีมาช่วยเกษตรรายย่อย ในการพัฒนากระบวนการผลิต และเชื่อมโยงตลาดได้ ซึ่งพบว่าปัญหาหลักๆ ของสินค้าเกษตรที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ มาจาก 2 ปัจจัย คือ  ดีมานไซส์ กับซัพพลายไซส์ หากันไม่เจอในเวลาที่เหมาะสม!!

หรือ ความต้องการซื้อ และตัวสินค้าที่มีไม่สมดุลกัน ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกรมีผลผลิต… แต่ผู้ซื้อไม่ต้องการ  หรือผู้ซื้อต้องการ.. แต่เกษตรไม่มีผลผลิตในช่วงนั้นๆ หรือไม่ตรงตามสเปก จึงนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยง ระหว่างผู้ซื้อกับเกษตรกรโดยตรง

โดยได้พัฒนาระบบแมชชิ่ง ที่คล้ายเว็บไซต์หาคู่ ให้ผู้ซื้อและ ผู้ขายได้เจอกัน และมีเครื่องมือในการวางแผน ภายในจะมีแอพพลิเคชั่น 3 กลุ่มหลัก เพื่อเชื่อมโยงบุคลากร ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ผู้ผลิต จะมีระบบบริหารจัดการฟาร์มสำหรับเกษตรกร ทั้งเกษตรรายเดี่ยว เกษตรกรที่รวมเป็นกลุ่ม หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง  ไปจนถึงผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ 

ส่วนกลุ่มกลางน้ำ คือ ผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้ง ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ การขนส่ง บรรจุภัณฑ์ จนถึงสถาบันการเงิน  และกลุ่มปลายน้ำ คือ  กลุ่มผู้ซื้อ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ บีทูบี ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ โมเดริน์เทรด และผู้ส่งออก  ฯลฯ ช่วยให้ผู้ซื้อวางแผนการรับซื้อและวางแผนการผลิตร่วมกับเกษตรกรได้ ซึ่งหากผู้ซื้อรายใหญ่ที่ต้องการสินค้าเกษตรในปริมาณล็อตใหญ่ ต้องซื้อผ่าน “ผู้รวบรวมหรือพ่อค้าคนกลาง” เท่านั้น ไม่สามารถซื้อกับเกษตรรายเล็กได้

 แต่ระบบของฟาร์มบุ๊คจะช่วยกระจายออเดอร์ขนาดใหญ่ไปยังรายเล็ก เพื่อรวมผลผลิตให้เป็น ออเดอร์ขนาดใหญ่ได้ ฯลฯ  และอีกกลุ่มคือแบบบีทูซี เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กับผู้ซื้อรายย่อย ฯลฯ โดยทั้งหมดสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาและที่ไปของสินค้าหรือผลผลิตได้

“เราเน้นทำระบบให้ผู้ซื้อใช้ง่ายที่สุด เข้าถึงเกษตรกรเร็วที่สุด สามารถสั่งซื้อ ค้นหาแหล่งผลิตได้เร็วที่สุด ถ้าผู้ซื้อที่เป็นบริษัทใหญ่ๆสามารถซื้อกับเกษตรกรได้ง่าย พวกเขาก็จะหันมาซื้อกับเกษตรกร สุดท้ายประโยชน์ก็จะกลับ ไปสู่เกษตรกร เป็นการเอาตลาดนำการผลิต ผู้ซื้อสามารถเข้ามาสร้างความต้องการ และแม็ทชิ่งกับเกษตรกรได้เลย เมื่อเกษตรกรมีตลาดที่ยั่งยืน มีตลาดล่วงหน้าก็วางแผนการผลิตและขยายพื้นที่เพาะปลูกได้”

ผู้บริหารของฟาร์มบุ๊ค ยังบอกต่อว่า นอกจากนี้แพลตฟอร์มยังสามารถใช้จัดสรรสัดส่วนพื้นที่การเกษตร การสร้างทษฎีการปลูก การบันทึกกิจกรรมการทำงาน รายรับรายจ่ายระบบบัญชี เพื่อประเมินต้นทุน พร้อมนำเทคโนโลยีทางด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และการสำรวจระยะไกลอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน และ ไอโอที มาใช้  

โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรไทยยกระดับจาก “ผู้ผลิตรายเล็ก”ขึ้นมาเป็น “ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี” มีระบบบัญชี ระบบสต๊อก ระบบบริหารจัดการ ระบบบริหารจัดการบุคคล  นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการในพื้นที่เดิม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นให้มีผลผลิตมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มมีทั้งแบบใช้ฟรี และแบบคิดค่าบริการเป็นรายเดือน และรายปี เมื่อมีการใช้งานฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับฐานข้อมูลของระบบทั้งหมดจะเก็บอยู่กับระบบคลาวด์ของ AWS ซึ่งจะช่วยให้สะดวกในการใช้งาน เนื่องจากพบว่าเกษตรกรมีการเปลี่ยนมือถือ หรือเบอร์บ่อยๆ หากเก็บข้อมูลไว้ในมือถือต้องมาลงข้อมูลกันใหม่ แต่การนำคลาวด์เทคโนโลยีมาใช้และตัวแพลตฟอร์มที่ออนอยู่บนคลาวด์จะช่วยอำนวยความสะดวกได้

อย่างไรก็ตามหลังทำงานร่วมกับเกษตรกรมา 4 ปี ผู้บริหารของฟาร์มบุ๊ค ยอมรับว่า การนำเทคโนโลยีเสนอ เกษตรกรไทยถือเป็นงานหิน!!..ไม่น้อย เนื่องด้วยเกษตรกรไทยกว่า 70 %เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจากการเก็บข้อมูล ช่วงอายุมีผลต่อการใช้เทคโนโลยี โดยช่วงอายุ 40-50 ปียังอาศัยการเรียนรู้เทคโนโลยีได้โดยมีคนแนะนำหรือสอน แต่กับเกษตรกร แต่ช่วงอายุ 50-60 ปี จะไม่ค่อยรับรู้เรื่องเทคโนโลยี จึงต้องอาศัยคนทำให้ ซึ่งอาจจะเป็นลูกหลาน ฯลฯ

….ในขณะเดียวกันก็พบว่ามีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่สนใจเข้ามาทำเกษตรโดยนำเทคโนโลยี มาใช้เป็น“สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” มากขึ้น ถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการยกระดับภาคเกษตรของไทย

อย่างไรก็ตามทางฟาร์มบุ๊คก็มีแผนจะนำแพลตฟอร์มขยายไปยังตลาดในต่างประเทศด้วย โดยปัจจุบันได้เข้าไปให้บริการ ยังประเทศลาว และในอนาคตจะเข้าไปประเทศอินโดนีเซียด้วย

ถือเป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพด้านเกษตรของไทยที่มุ่งหวังนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับภาคเกษตรของไทยเดินไปสู่ “ยุคเกษตร 4.0” ที่ขับเคลื่อน…ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์