เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวผ่านเพจเฟซบุ๊ก “กระทรวงสาธารณสุข” ประเด็น “การให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 สลับชนิด” ว่า ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 จนถึงปัจจุบันฉีดวัคซีนยังไม่ถึง 13 ล้านโด๊ส เพราะปริมาณวัคซีนของเรามีจำกัด ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารวัคซีนให้ได้ประโยชน์สูงสุด และการที่จะบริหารให้ได้ประโยชน์สูงสุด การทำการศึกษาวิจัยรูปแบบการให้วัคซีนในประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ในระยะแรกต้องเข้าใจก่อนว่าวัคซีนทุกบริษัท ทุกยี่ห้อผลิตมาจากต้นแบบสายพันธุ์ดั้งเดิมหรืออู่ฮั่น กระบวนการผลิตต้องใช้เวลากว่า 1 ปีถึงมีวัคซีนออกมา แต่ในระยะเวลา 1 ปีนั้นไวรัสเองก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวมันเอง หรือเรียกว่าการกลายพันธุ์ หนีออกจากระบบภูมิต้านทาน ดังนั้นจะเห็นว่าบริษัทใดก็ตามที่ผลิตวัคซีนมีภูมิต้านทานสูง แต่ระยะหลังเมื่อเชื้อกลายพันธุ์ทั้งอัลฟา และเดลตา ประสิทธิภาพของวัคซีนก็จะเริ่มต่ำลงนี่คือเรื่องธรรมดา และลดลงในวัคซีนทุกชนิด แต่ตัวที่ผลิตจากเชื้อดั้งเดิมและให้ภูมิสูง แม้ลดลงก็ยังสามารถป้องกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตาด้วย

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีการใช้วัคซีนเชื้อตาย คือซิโนแวค กับวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ คือแอสตราเซเนกา ซึ่งการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ให้ภูมิคุ้มกันเทียบเท่ากับผู้ติดเชื้อแล้ว และหายแล้ว ส่วนแอสตราฯ 2 เข็ม ยังมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อเดลตาได้ แต่ระยะห่างเข็ม 1 เข็ม 2 ใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ ดังนั้นในทางปฏิบัติเราจึงต้องมานั่งพิจารณาดูว่าดำเนินการอย่างไร ซึ่งเรารู้ว่าฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มภูมิฯ ไม่มากพอที่จะป้องกันเดลตาได้ ขณะเดียวกัน แอสตราฯ 1 เข็มก็กระตุ้นภูมิฯ ไม่สูงพอที่จะป้องกันเดลตาเช่นกัน ถ้าจะร่นเข็ม 2 เร็วขึ้นมาเป็น 6 สัปดาห์ ภูมิก็กระตุ้นได้ไม่สูง แอสตราฯ จะกระตุ้นภูมิฯ สูงต้องเว้นระยะห่างกันมากกว่า 10 สัปดาห์ จึงเป็นที่มาของการหาจุดสมดุลว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนไทยมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเร็วที่สุดเหมาะสมที่สุดในขณะที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมตลอดเวลา

จากการศึกษาพบว่า การฉีดแอสตราฯ 2 เข็มภูมิฯ ขึ้น 900 ส่วนการฉีดสลับเข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตราฯ ภูมิขึ้น 800 แต่หากเป็นซิโนแวค 2 เข็มอยู่ที่ 100 ส่วนการติดเชื้อธรรมชาติจะอยู่ที่ 70-80 เพราะฉะนั้นการฉีดสลับชนิดจะให้ภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอสำหรับการป้องกันเชื้อเดลตา โดยใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์ เทียบกับการฉีดแอสตราฯ 2 เข็ม ซึ่งจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ จะเห็นว่ายาวนานกว่ากัน 1 เท่าตัว เพราะฉะนั้นในสถานการณ์การระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรุนแรง หรือรวดเร็วในขณะนี้เรารอเวลาถึง 12 สัปดาห์ไม่ได้ เราต้องการให้ภูมิฯ สูงเร็ว การฉีดวัคซีนเข็มแรกด้วยซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตราฯ จึงน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย ณ ขณะนี้

ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีวัคซีนเพียง 2 ชนิดคือชนิดเชื้อตายและไวรัสเวกเตอร์ จึงเป็นการเหมาะสมสำหรับประเทศไทยที่ ณ ขณะนี้ แต่ในอนาคตถ้ามีวัคซีนอื่นที่ดีกว่าหรือพัฒนาได้ดีกว่า สนับสนุนได้ดีกว่าเราค่อยหาวิธีการที่ดีกว่า หรือในอนาคตถ้าไวรัสกลายพันธุ์ไปมากกว่านี้ อาจจะต้องมีวัคซีนที่จำเป็นเพราะเจาะจงกับสายพันธุ์นั้น เหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีการฉีดทุกปี เวลามีค่ามากในการควบคุมป้องกันโรค ตนจึงขอสนับสนุน งานวิชาการที่ศึกษามานี้จะเป็นประโยชน์ในการใช้จริง  

นอกจากนี้เรายังได้มีการทดสอบการฉีดสลับชนิดแล้วพบเปอร์เซ็นต์การขัดขวางไวรัสขึ้นสูง และที่สำคัญเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนต้องมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องมีการศึกษาเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีการฉีดวัคซีนสลับชนิดแล้วในประเทศไทยมากกว่า 1,200 คน มากสุดที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งบันทึกใน “หมอพร้อม” พบว่าในจำนวนนี้ไม่มีใครมีผลข้างเคียงรุนแรง ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่าการให้วัคซีนสลับกัน 2 ชนิดนี้มีความปลอดภัยในชีวิตจริง ส่วนความปลอดภัยที่ทาง รพ.จุฬาฯ ฉีดให้ผู้ป่วย และบันทึกข้อมูลทุกวันนี้จะออกมาในปลายเดือนนี้ จึงขอให้ผู้ปฏิบัติสบายใจได้ว่าเราไม่ได้ฉีดสลับเป็นคนแรก

ปัจจุบันการระบาดในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นไวรัสเดลตาเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะ กทม.70-80% แนวโน้มจะระบาดทั่วประเทศ ซึ่งเชื้อนี้จะพบว่ามีปริมาณมาในลำคอของผู้ป่วย จึงแพร่ได้ง่าย จึงให้ประชาชนตระหนักตระหนัก ขณะนี้การหาไทม์ไลน์ว่าติดจากใครจะเริ่มยาก เพราะแพร่ง่าย ดังนั้นมาตรการส่วนบุคลากรต้องทำอย่างเข้มข้น สวมหน้ากาก 100% เว้นห่าง สุขอนามัย 100% แล้ว   

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนสลับชนิดกันก็ไม่ได้เริ่มที่ประเทศไทยประเทศแรก ก่อนหน้านี้ ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการใช้วัคซีน mRNA และแอสตราฯ ก็มีการฉีดสลับชนิดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงวัคซีนขาดแคลนก็ได้มีการนำมาใช้ และยังมีบุคคลสำคัญในสหภาพยุโรป ฉีดเข็มแรกเป็นแอสตราฯ เข็ม 2 เป็นไฟเซอร์ จึงเป็นมาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ศึกษาเรื่องนี้ต่อเนื่อง  

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า การจะยุติโควิด-19 นอกจากเราจะปฏิบัติตัว มีวินัยอย่างเคร่งครัด แล้ววัคซีนจะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการที่จะหยุดวิกฤติได้ เพราะฉะนั้นที่ถามว่าควรฉีดวัคซีนดีไหม เป็นคำถามที่ไม่ควรถามเลย บอกได้เลยว่าควรฉีดแน่นอน เราต้องการให้วัคซีนกับทุกคนอยู่แล้ว แต่ในช่วงที่มีวัคซีนจำกัด จึงต้องนำมาให้กับบุคลากรด่านหน้าก่อนและให้กับผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เพราะคนเหล่านี้ติดเชื้อแล้วมีโอกาสจะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิต นอนไอซียูนาน แต่ถ้ามีวัคซีนมากกว่านี้ จะก็ให้ตามลำดับถัดไป รวมถึงกลุ้มเด็กด้วย แต่โอกาสให้วัคซีนในเด็กยังต้องรออีกสักระยะพอสมควร เพราะเรารู้ว่าโรคนี้ถ้าติดเชื้อในเด็กความรุนแรงของเด็กน้อยมาก โอกาสที่จะทำให้เด็กเสียชีวิต โอกาสที่จะทำให้เกิดปอดบวมมีน้อยกว่าในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุมาก ฉะนั้นในเด็กเมื่อเป็นแล้วไม่รุนแรงไม่เสียชีวิต วัคซีนที่จะใช้ในเด็กได้จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยที่สูงกว่าวัคซีนที่ใช้ในผู้ใหญ่ แต่ในผู้ใหญ่นั้นเมื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงกับการป้องกันโรคแล้วมาชั่งน้ำหนักกันแล้วเอามาใช้อย่างทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามอนาคตวัคซีนของเด็กก็จะมีมาแน่นอน.