จากกรณีอุโมงค์ทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่กำลังก่อสร้าง บริเวณถนนสาย กรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงคลองขนานจิตจันทึก อ.ปากช่อง และมีคนงานสูญหาย 3 คน ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ในฐานะศาสตราจารย์ด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ เปิดเผยถึงข้อสันนิษฐานสาเหตุที่อาจให้เกิดอุโมงค์ถล่มว่า เรื่องของการก่อสร้างใต้ดินหรืออุโมงค์นั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่เรากำลังทำงานกับสิ่งที่มองไม่เห็น เพราะเราขุดลงไปใต้ดินหรือภูเขา จึงถือเป็นงานที่ยากอีกงานหนึ่งในสายงานวิศวกรรมโยธา แม้ว่าจะมีการสำรวจพื้นที่ก่อน แต่ก็ไม่ละเอียด 100% ดังนั้นขั้นตอนการก่อสร้างจึงต้องมีความละเอียด 100%

ในการณีอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเกิดการถล่มในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ในหลายกรณีคือ 1. มีความเป็นไปได้ว่าช่วงที่มีฝนตกหนักเป็นช่วงที่อัตรายที่สุดไม่ว่าจะเป็นดินหรือหิน คือต้องเข้าใจว่าประเทศไทยไม่ใช่เป็นหินอายุยืน หมายถึงไม่ใช่เป็นที่มีความแกร่ง แต่เป็นหินที่ค่อนข้างมีความอ่อนแออยู่ เพราะฉะนั้นโอกาสที่พังทลายระหว่างการก่อสร้าง เนื่องจากสัณฐานหินที่ไม่ได้แข็งแรง ผนวกกับมีฝนตกทำให้กำลังหินของดินมันอ่อนแรงลง ก็ถล่มลงมาทับได้ นี่คือข้อสันนิษฐานข้อแรก

กรณีที่ 2. การขุดเจาะอุโมงค์ช่วงที่อันตรายที่สุด คือช่วงก่อนเสร็จ หรือช่วงก่อนการก่อผนังอุโมงค์ แต่หลังจากหล่อผนังอุโมงค์ด้วยคอนกรีตเสร็จแล้ว โอกาสพังทลายน้อยมากแทบไม่เคยเห็นเลย แต่จากข้อมูลทำให้สันนิษฐานได้ว่า หลังจากที่ทำการระเบิดหินไปแล้วระหว่างที่กำลังเก็บดิน ยังไม่มีการฉีดคอนกรีต ยังไม่มีการวางเหล็กช่วงนั้นพังทลายลงมา จึงเป็นไปได้ว่าแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด อาจจะไปกระตุ้นทำให้สัณฐานหินที่ไม่ได้แข็งแรงมากอยู่แล้วผนวกกับน้ำพังทลายลงมาได้

และ 3.ข้อสันนิษฐานสุดท้าย อยู่ในเรื่องเรื่องของกระบวนการออกแบบ โดยต้องไปดูตั้งแต่การออกแบบการทำงาน จนถึงการติดตั้งผนังนั้น ตรงตามมาตรฐานหรือมีค่าเผื่อเหลือความปลอดภัยที่เรียกว่า Safety fector นั้น มีการตั้งค่าเผื่อไว้หรือไม่ สำหรับงานอุโมงค์นั้น จะมีการตั้งค่าเผื่อไว้ 3-5 เท่า

“สันนิษฐานว่าต้องอยู่ใน 3 เรื่องนี้ อย่างที่ตนย้ำว่าการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินเป็นงานที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว อาจจะเจาะไปเจอรอยต่อระหว่างหินที่มีความอ่อนแอและช่วงเวลาในการขุดเจาะ ก่อสร้าง ระเบิดทำให้รอยต่อรอยแยกของหินนั้นได้รับความกระทบกระเทือนและอาจทำให้ถล่มลงมาก็ได้ถึงแม้ช่วงนั้นฝนไม่ตก หรือก่อนหน้านั้นอาจจะมีฝนตกหนักเพราะกว่าน้ำจะซึมลงมาถึงจุดที่ก่อสร้างอุโมงค์ก็อาจเป็นสาเหตุได้ ดังนั้นทั้งหมดทั้งมวล ตนก็อยากให้หาสาเหตุให้ได้ เพราะเรายังขุดอีกเยอะ อีกทั้งการที่อุโมงค์พังทลาย ความสูญเสียมีมาก นอกจากจะมีคนสูญหายแล้ว ยังส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้า เพราะเข้าไปเคลียร์พื้นที่ยากมากด้วย” ดร.เอ้ กล่าว

ดร.เอ้ ยังกล่าวแนะนำถึงการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ให้ปลอดภัยว่า 1.ควรเริ่มตั้งแต่การสำรวจ เพราะถ้าสำรวจน้อยเกินไป ตนขอเตือนในฐานะศาสตราจารย์ด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ ที่เป็นงานที่ถนัดมากที่สุดว่า ถ้าเกิดสำรวจเยอะ โอกาสความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุก็จะน้อย 2. ต้องได้คนที่มีความเชี่ยวชาญ รู้จักดิน หินในพื้นที่ ผู้รับเหมา ผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงานต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูง ไม่ใช่ใครก็ทำอุโมงค์ได้ มันยากที่สุดในวิชาวิศวกรรม เพราะมันลงไปยังสิ่งที่มองไม่เห็น และ 3. หากกรณีในพื้นที่ก่อสร้างมีฝนตกลงมา ก็ต้องเฝ้าระวังเพราะอาจจะเกิดถล่มในช่วงระหว่างการก่อสร้างได้

“สุดท้ายขอฝากถึงรัฐบาลว่า ขณะนี้เราจะเห็นว่าเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศ ทั้งแผ่นดินไหว ดินถล่มที่ จ.ภูเก็ต หรือน้ำท่วมทางภาคเหนือ แต่รัฐบาลให้ความใส่ใจกับภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยไป ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมาก ก็อยากให้รัฐบาลชุดนี้มาสนใจเรื่องการป้องกันภัย การพยากรณ์ การเตือนภัยมากกว่าที่เป็นอยู่.