เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2567 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคซึ่งได้กระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองโดยยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ว่า ข้อเท็จจริงคือภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งวันนั้นนายทักษิณ ได้เรียกพรรคร่วมรัฐบาลประชุมกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เข้าใจว่าเพื่อให้รวดเร็ว เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่านายกฯ คนต่อไปจะเป็นใคร แต่ปัญหาคือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.) พ.ศ. 2560 ในมาตรา 28 ไม่เคยมีมาก่อน
นายปริญญา กล่าวอีกว่า คำถามคือการที่นายทักษิณเรียกประชุมนั้น จะถือเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำหรือไม่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับคำร้องแล้ว ข้อต่อไปต้องดูว่า กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแบบเดียวกับตอนที่ยื่นพรรคก้าวไกล หรือจะใช้มาตรา 93 ที่ต้องมีการไต่สวนและเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยได้ชี้แจงก่อน ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ถูกครอบงำ ควบคุม หรือชี้นำอย่างไร
นายปริญญา กล่าวต่อว่า คำว่าควบคุม ครอบงำ อาจจะพิสูจน์ง่าย แต่การชี้นำนั้น มันกว้างมาก อยู่ที่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะเห็นว่ากรณีนายทักษิณ ที่เชิญพรรคร่วมรัฐบาลและพรรครัฐบาลมาประชุมนั้น เข้าข่ายเป็นการชี้นำหรือไม่ หากเข้าข่ายการเมืองก็ต้องดูต่อไปว่าถึงขนาดที่ทำให้พรรคการเมือง สมาชิกพรรค กับสมาชิกพรรคขาดอิสระเลยหรือไม่ หากใช่ก็จะกลายเป็นปัญหา ต้องรอฟังกันต่อไปว่า กกต. รับคำร้องแล้ว จะมีคำสั่งให้พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่น ๆ มาชี้แจงเมื่อไหร่
เมื่อถามว่าในส่วนที่มีการยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 หากมีการพิจารณาก่อนจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักในคดีที่ กกต.หรือไม่นั้น รศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การใช้กฎหมายคนละช่องทาง เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่ระบุแค่ว่า ให้หยุดการกระทำ ไม่ได้ขอให้ไปยุบพรรค ซึ่งคำร้องมุ่งไปที่นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ส่วนคำร้องที่ กกต. ไม่ได้ร้องนายทักษิณ เพราะไม่ใช่สมาชิกพรรค ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการต่ออย่างไร หากวินิจฉัยว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองจริง ทาง กกต. จะต้องคำร้องใหม่ในการยุบพรรค ไม่สามารถทราบได้ว่าคำร้องไหนจะพิจารณาตัดสินก่อนและหลัง
“หากเป็นเรื่องของการถูกร้องในเรื่องการล้มล้างระบบการปกครอง ต้องรอฟังว่าศาลจะกำหนดขั้นตอนในการไต่สวนอย่างไร และในส่วนของ กกต. ในชั้นคำร้องยุบพรรค ให้เราฟังก่อนว่า กกต. จะยื่นตรงหรือไต่สวนก่อน ส่วนตัวเชื่อว่าต้องไต่สวนก่อน เพื่อให้มีข้อเท็จจริงมากกว่านี้” รศ.ดร.ปริญญา กล่าว