ต้องถือว่าพลิกอีกรอบ หลังเมื่อค่ำวันที่ 14 ส.ค. “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไปหารือที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อขอเสียงสนับสนุนตัวแทนพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้ทำหน้าที่นายกฯ ต่อจาก “นายเศรษฐา ทวีสิน” หลังต้องพ้นจากตำแหน่ง อันเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) โดยมีรายงานว่า ผู้มากบารมีแห่งพรรคเพื่อไทย ขอผลักดัน “นายชัยเกษม นิติสิริ” อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ
ขณะที่ “นายชัยเกษม นิติศิริ” แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “มุมการเมือง” ทางไทยพีบีเอส ยอมรับว่า ได้รับการแจ้งจากพรรคว่าจะเสนอชื่อให้สภาโหวตเลือกเป็นนายกฯ คนที่ 31 โดยยืนยันความพร้อมที่จะทำหน้าที่ หากได้รับเลือกจากสภา แต่ต้องรอความชัดเจนเป็นมติพรรคก่อน
พร้อมทั้งยืนยัน ปัญหาสุขภาพไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเป็นนายกฯ ซึ่งขณะนี้ถือว่าสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี ไม่ได้มีปัญหาใดๆ แม้จะเคยเข้ารับการรักษาด้วยอาการเส้นเลือดสมอง หรือ สโตรค ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง แต่การรักษาผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย และใช้เวลาเพียง 3 เดือนหลังจากนั้น ในการพักฟื้นจนอาการเป็นปกติ ไม่มีภาวะความเสี่ยง ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง หรือเป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่
นายชัยเกษม ยอมรับว่า การเมืองขณะนี้มีความไม่แน่นอน ดังนั้นความชัดเจนทุกเรื่อง รวมถึงการจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ จึงต้องมีความชัดเจนโดยมติพรรค และเป็นความเห็นพ้องของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีกระแสต่อต้านใดๆ จากพรรคร่วมรัฐบาล
แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงเพียงข้ามวัน เมื่อมีรายงานว่า ภายหลังพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้แถลงจุดยืนที่จะสนับสนุนนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย มีรายงานว่า “นายทักษิณ” ได้โทรศัพท์แจ้งหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอรายชื่อของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ คนที่ 31
สำหรับการโหวตนายกฯ จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ เพื่อเลือกนายกฯ ในวันที่ 16 ส.ค. เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งหาก น.ส.แพทองธาร ได้รับเลือกเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร จะถือเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจาก “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ โดย “อุ๊งอิ๊ง” จะเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย เพราะอายุย่างเข้า 38 ปี เนื่องเพราะเกิดวันที่ 21 ส.ค. 2529
คำถามคือ ทำไม “นายทักษิณ” ถึงมีท่าที่เปลี่ยนแปลง หลังจากก่อนหน้านั้นมีข่าวมาตลอด ยังไม่ต้องการสนับสนุนบุตรสาว เข้ามาเป็นนายกฯ เพราะเพิ่งก้าวเข้ามาทำงานการเมือง ไม่อยากให้เผชิญแรงกดดันทางการเมือง อยากให้สั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่านี้ก่อน
หรืออาจเป็นเพราะมีรายงานข่าว จากที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ในช่วงเช้าวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมาแจ้งว่า สส.ส่วนใหญ่เสนอชื่อ “น.ส.แพทองธาร” เป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยให้เหตุผลว่าหากเป็น “นายชัยเกษม นิติสิริ” กังวลในเรื่องสุขภาพประกอบกับในพื้นที่เรียกร้องให้เอา น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ เนื่องจากที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ลงพื้นที่หาเสียงเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น จึงอยากให้มาเป็นนายกฯและคงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) ว่าจะเห็นตาม สส.ของพรรคหรือไม่
นั่นหมายความว่า สส. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของพรรค ต่างคัดค้าน “นายชัยเกษม” เพราะไม่ได้ลงพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกับพรรค อีกทั้งคงประเมินว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องต่อสู่กับพรรคประชาชน (ปชช.) ซึ่งถือเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ หากได้ผู้นำประเทศที่มีอาวุโส อาจจะมีข้อเปรียบเทียบและกลายเป็นจุดอ่อน ดังนั้นการได้ “น.ส.แพทองธาร” ซึ่งถือเป็นคนรุ่นใหม่ อายุไม่มากนัก อาจจะต่อสู้กับเครื่องจักรสีส้มได้แบบไม่ห่างชั้น
และในที่สุดในช่วงเย็นวันเดียวกัน บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลประกาศสนับสนุน “น.ส.แพทองธาร” ให้เป็นนายกฯ จากนั้น “น.ส.แพทองธาร” กล่าวตอนหนึ่งว่า “มั่นใจในเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล นำพาประเทศพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ รวมตัวกันวันนี้เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่า เราตั้งใจ มุ่งมั่น พร้อมเพรียง ผลักดันประเทศให้ไปต่อ ขอบคุณที่มารวมตัวกัน ตกลงกัน ทำเพื่อประเทศชาติต่อไป”
และยอมรับว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว ตนเพิ่งกลับจากเซี่ยงไฮ้ ทราบข่าวหลังคนอื่นๆ ก็เตรียมการในพรรคและพูดคุยกับพรรคร่วม เป็นเจตนาที่ปัจจุบันนี้ โฟกัสเรื่องนี้
“ดิฉันปรึกษาครอบครัวทุกเรื่อง ทุกคนคิดว่าเรามาถึงจุดที่ต้องพาประเทศชาติไปต่อ ยินดี และตั้งใจ คุณหญิงอ้อเป็นคุณแม่ คุณแม่ก็ห่วงลูกเป็นธรรมดา ดิฉันเข้าใจ ไม่ทราบว่า อนาคตจะหยุดห่วงลูกเมื่อไหร่ แต่เราได้คุยกัน เข้าใจกัน” น.ส.แพทองธาร กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า นายทักษิณ ให้คำแนะนำอย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า วิธีการสื่อสารในครอบครัว เป็นการให้กำลังใจมากกว่า ในฐานะคุณพ่อที่มีประสบการณ์ก็ให้คำปรึกษาอยู่แล้ว เหมือนที่ให้สัมภาษณ์ไป ถามว่าใกล้ชิดกว่านี้ไหม ก็ไม่ เท่าเดิม เพราะใกล้ชิดอยู่แล้ว
จากนี้ไปต้องยอมรับ การตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งของ “อุ๊งอิ๊ง” ถือเป็นการเสี่ยงทางการเมืองครั้งสำคัญของนายทักษิณ เพราะหากประสบความล้มเหลวในการทำงาน อาจปิดฉากตระกูล “ชินวัตร” ในการทำงานการเมือง เพราะต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยเฉพาะต้องเผชิญกับการตรวจสอบจากพรรคฝ่านค้านที่มีประสิทธิภาพสูงอย่าง “ปชช.” อีกทั้งต้องบริหารงาน และประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ให้มีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น
การบ้านข้อแรกคงหนีไม่พ้น การจัดตั้งรัฐบาล และแบ่งเก้าอี้ในฝ่ายบริหารจะทำให้เพื่อนร่วมงานพอใจหรือไม่ เพราะบางพรรคก็ออกแถลง ขอดูแลหน่วยงานเดิมแล้ว.
“ทีมข่าวการเมือง”