เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 ส.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยานนราธิวาส โดยมี พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9.) พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 นายซาการียา สะอิ สส.นราธิวาส เขต 4 พรรคภูมิใจไทย และนายฐนัตถ์ สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ รอให้การต้อนรับ
จากนั้นเวลา 11.10 น. นายเศรษฐา นายกฯ ได้เดินทางถึงด่านสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานรัฐสภา นายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา พรรคประชาชาติ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เขต 3 นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายซาการียา สะอิ สส.นราธิวาส เขต 4 พรรคภูมิใจไทย ให้การต้อนรับ
จากนั้นเวลา 11.22 น. ดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมประมุขมนตรีรัฐกลันตัน และคณะ เดินทางด่านสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายเศรษฐาให้การต้อนรับพร้อมจับมือทักทาย ก่อนที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศจะร่วมหารือทวิภาคีกลุ่มเล็ก พร้อมรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก
ต่อมาเวลา 13.20 น. นายเศรษฐา เดินทางถึง Pasir Mas District and Land Office รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยมีการแสดงเครื่องคอมปังต้อนรับ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของมาเลเซียที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มักใช้ในงานรื่นเริง เช่น ในขบวนพาเหรดงานวันชาติ งานเลี้ยงที่เป็นทางการ เป็นต้น ก่อนที่นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ลงนามในสมุดเยี่ยม จากนั้น นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศ รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน
จากนั้นเวลา 14.16 น. นายเศรษฐา ทวีตข้อความผ่าน X ระบุว่า การลงพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย กับท่านนายกฯ @anwaribrahim วันนี้ เรามาเพื่อย้ำความมุ่งมั่นเรื่องความสงบสุขและการพัฒนา เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนสองประเทศ ตนได้มาเยี่ยม อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส-เมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ได้ดูโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยและภาคเหนือของมาเลเซียร่วมกัน
นายกฯ ระบุอีกว่า เรายังได้หารือกันเกี่ยวกับการพัฒนาถนน และรถไฟ เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร และโครงการ Rubber City ที่จะเชื่อมโยงระหว่าง สงขลาและรัฐเคดะห์ 2 จุด ซึ่งจะช่วยพัฒนาการผลิตยางร่วมกันให้ส่งออกได้มากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาลที่ทางมาเลเซียมี Pasir Mas Halal Park ที่กลันตัน ตรงนี้ยังต้องการวัตถุดิบและสินค้าจากไทย อีกประเด็นคือ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยว “Six Countries, One Destination” ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว.