สงสัยท่าที “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการผลักดันให้ รายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร อาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะในระหว่างการประชุมสภาฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างการพิจารณารายงานดังกล่าว ท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งภูมิใจไทย(ภท. ) รวมไทยสร้างชาติไทย (รทสช.) ประชาธิปัตย์ (ปชป. ) ต่างแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย เพราะเกรงหากให้ความเห็นชอบ จะกลายเป็นสารตั้งต้นในการผลักดันร่าง พ.รบ.นิรโทษกรรม ที่รวมถึงการล้างผิดในกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 รวมไปด้วย ซึ่งจะผลทำให้มีผลกระทบกับสถาบัน
ขณะที่ “นายธนกร วังบุญคงชนะ” สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครทสช. ให้ความเห็นกรณี “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯในฐานะประธานคณะกมธ.ฯพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์สื่อว่า สส.บางพรรคยังไม่เข้าใจ หรืออาจจะแกล้งไม่เข้าใจในเรื่องนี้ว่าไม่ใช่การยกเลิกมาตรา 112 ว่า รัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทย(พท.) ควรที่จะมีการหารือพูดคุย ให้ตกผลึกทางความคิดเข้าใจให้ตรงกันในพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้เกิดการเดินหน้าพิจารณากฎหมาย ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคดีทางการเมืองที่ไม่ร้ายแรง ตนเห็นด้วย และสนับสนุนให้เกิดการสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกทางความคิด
นายธนกร กล่าวอีกว่า จุดยืนหลักการต้องให้ชัด ทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ(รธน.) หรือ กฎหมายการนิรโทษกรรมก็ตาม ต้องไม่แตะหมวด1-2 รวมถึงมาตราสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ซึ่งการรับทราบรายงานผลการศึกษาต่อสภาฯ ก็ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ที่สภาฯจะรับรองรายงานที่มีความสุ่มเสี่ยง ควรต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบรัดกุม และถูกต้องไม่ขัดต่อรธน.และจริยธรรมได้
“ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลได้ใช้โอกาสรับประทานอาหารค่ำร่วมกันที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 ต.ค.นี้พูดคุยในประเด็นกฎหมายนิรโทษกรรมให้เกิดความชัดเจน และมีทิศทางที่ถูกต้องเห็นตรงกัน ยึดหลักการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ อย่าเปิดช่องให้เกิดการลดทอนกฎหมายสำคัญนี้ เพราะถือเป็นความเสี่ยงต่ออธิปไตยของชาติ ทั้งนี้รัฐบาลควรเร่งมือแก้ปัญหาความเดือดร้อนเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนมาเป็นเรื่องแรก ลดความเสี่ยงต่อการสร้างแรงกระเพื่อมเพิ่มความขัดแย้งในสังคมจะดีกว่า” นายธนกร กล่าว.
ก่อนหน้านั้น “นายชูศักดิ์” ให้ความเห็นถึงการพิจารณาผลการศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในสภาฯ ที่ยังฯไม่แล้วเสร็จว่า ยังมีสส.หลายคนเข้าใจผิดอยู่หลายประเด็น ซึ่งจะไม่เข้าใจจริงๆหรือแกล้งไม่เข้าใจเช่น เข้าใจว่ายกเลิกมาตรา 112 ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่ยกเลิกมาตรา 112 แต่เราพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม เหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งทำมาแล้วหลายครั้ง และมีการอภิปรายเลยไปว่าจะมีการก้าวล่วง ขอยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีใครไปก้าวล่วง และไม่คิดแบบนั้นเลย ไม่มั่นใจว่าการกินข้าวพรรคร่วมรัฐบาล วันที่ 21 ต.ค.นี้ ที่ นายกฯ เป็นประธานจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจะตัดสินใจว่าจะคุยกันหรือไม่
คงต้องรอดูว่า ในการหารือพรรคร่วมรัฐบาล “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ จะหยิบยกปมร้อน ทั้งเรื่องการแก้ไขรธน. และ การผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาหารือหรือไม่ เพราะถ้าหากยังปล่อยให้มีความเห็นต่าง ปรากฏต่อสาธารณชนอยู่บ่อยๆ ย่อมกระทบความเชื่อมั่นในการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหลายคนอาจตั้งคำถามเรื่องความเป็นเอกภาพ
ส่วนปมร้อนหลัง “นายแสวง บุญมี” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคพท. และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุ “นายทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องที่ถูกระบุว่าเป็นบุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี(ทภ.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ( พปชร.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้อง
แต่บรรดาแกนนำพรรคพท.ต่างก็ชักแถว ออกมายืนยันว่า ไม่ได้กังวลในเรื่องดังกล่าว โดย “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกฯและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า พรรคพท.ไม่ได้กังวล เพราะหากดูจากรายละเอียดที่ถูกกล่าวหาแล้ว ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เรื่องนี้พรรคจึงไม่หนักใจ แต่ต้องมีทีมกฎหมายที่จะแก้ ต่างข้อกล่าวหา โดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นหัวหน้าทีม เมื่อถามต่อว่าแต่ที่ผ่านมาทีมกฎหมายของพรรคพท.มักไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้คดี นายประเสริฐกล่าวว่า ไม่อยากให้มองเช่นนั้น เรื่องที่เราสำเร็จก็มีหลายเรื่อง เราคิดว่าศาลหรือกระบวนการยุติธรรม มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ส่วนที่มีการโยงถึง 6 พรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมวงรับประทานอาหารที่บ้านจันทร์ส่องหล้าตามการนำเสนอข่าว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้กกต.รับคำร้อง และอาจทำให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดถูกยุบไปด้วย นายประเสริฐ กล่าวว่า สามารถชี้แจงได้อยู่แล้ว พร้อมยอมรับว่ามีการพูดคุยกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล ต่อประเด็นดังกล่าว และทีมกฎหมายพรรคพท.มีการเตรียมชี้แจงไว้แล้ว เมื่อถามว่าในวงรับประทานอาหารมื้อค่ำวันที่ 21 ต.ค.นี้ จะมีการนำเรื่องนี้มาหารือกันหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อนักการเมืองเจอกัน ก็คงหนีไม่พ้นที่จะคุยเรื่องการเมือง การบริหารประเทศ และปัญหาของประชาชน อย่าคิดมากว่าจะไปคุยกันเรื่องลับ หรือเรื่องอะไร ส่วนจะมีการหารือเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อมีทุกพรรคการเมืองอยู่ในคณะกมธ.อะไรที่อยู่ในวงสนทนา และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่เห็นควรว่าจะทำ
เมื่อถามต่อว่าพรรคพท. จะยังคงเดินหน้านำรายงานผลการศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่ที่ประชุมสภาหรือไม่ เนื่องจากนายชูศักดิ์ ในฐานะประธานกมธ.ฯ ยืนยันว่า อยากจะให้ ที่ประชุมสภาฯรับทราบผลการรายงาน นายประเสริฐ กล่าวว่า พรรคพท.อยู่ระหว่างการหารือกัน พร้อมยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นปมปัญหา เขย่าเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล รัฐบาลยังแน่นแฟ้น รักกันอยู่ไม่มีปัญหา เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่างงหรือไม่เมื่อการตั้งคณะกรรมการศึกษาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นความเห็นชอบร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค แต่เมื่อจะเสนอรายงาน กลับมีพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย นายประเสริฐ กล่าวว่า ในสภาเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก ที่ผ่านมาก็เคยมีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นอย่ามองว่าเป็นเรื่องแปลก แต่ให้มองว่าต่างฝ่ายต่างหวังดี ขอให้มองประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ สภาทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ต้องการให้ออกมาดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายหรือรายงานที่ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมสภา หรือเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสภา
ด้าน “นายสุทิน คลังแสง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค กล่าวพท ถึงกรณีกกต. รับคำร้องยุบพรรคพท. และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลกรณีถูกร้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำพรรคว่า ส่วนตัวไม่กังวลในเรื่องดังกล่าว กลับมองในแง่ดีว่า การที่มีผู้มายื่นร้องกับกกต. ทางกกต.ก็ต้องรับเรื่องไว้พิจารณา เพราะคงเคารพความคิดเห็นของทุกฝ่าย ส่วนที่ในข่าวระบุว่ามีมูลจึงรับเรื่อง และสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้น ก็ต้องไปพิจารณากันอีกว่ามีมูลนั้น อยู่ในระดับมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ต้องพิจารณาองค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆ อย่างละเอียด ต้องดูเหตุและผล ไม่ใช่ใช้เพียงแค่ความรู้สึก
“การที่ไปร้องว่าแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ไปร่วมประชุมกับนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ หลังศาลรธน. วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงนั้น จะเห็นว่าตามข่าวที่ออกมาระบุว่าคนที่จะได้เป็นนายกฯ คือนายชัยเกษม นิติสิริ แต่สุดท้ายกลับเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดังนั้นหากผู้ร้องคิดว่ามีการคุยกันเรื่องนี้จริง ก็แสดงว่าไม่ได้มีผลอะไรเกิดขึ้น แล้วแบบนี้จะเรียกว่าครอบงำได้อย่างไร” นายสุทิน กล่าว
ต้องรอดูว่า ในที่สุด พท. และพรรคร่วมรัฐบาลจะฝ่าคำร้อง ปม “นายทักษิณ ชินวัตร” เข้ามาครอบงำทางการเมืองได้หรือไม่ แม้จะมีความมั่นใจโดยบุคคลที่เป็นนายกฯคือ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ไม่ใช่ “นายชัยเกษม นิติสิริ” แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ก็ประมาทไม่ได้ ระหว่างคนตั้งรับกับคนชอบร้อง การเตรียมข้อมูลแตกต่างกัน.