วันที่ 10 ก.ค. รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการกำหนดราคาดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไปภายหลังครบกำหนดกรอบราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตามมติ ครม.กำหนดตรึงราคาตั้งแต่ 20 เม.ย. 67 ครบกำหนด 31 ก.ค.ว่า เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน จะมีการพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นราคาดีเซลแบบทยอยขึ้นกรอบ 1 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาปลายทางระดับไม่เกิน 34 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันฐานะ ณ วันที่ 7 ก.ค. 67 ติดลบ 111,595 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 63,944 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 47,651 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังมีความผันผวนสูง ช่วงเดือนที่ผ่านมาแนวโน้มลดลงบ้างจนกองทุนน้ำมันฯ ลดอุดหนุนระดับ 4 บาทต่อลิตร จนสามารถเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำเร็จ แต่ขณะนี้แนวโน้มกลับมาขึ้นอีกครั้ง ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องอุดหนุนกว่า 2 บาทต่อลิตร สถานการณ์ดังกล่าวหากไม่ปรับราคาหลังวันที่ 31 ก.ค. อาจทำให้กองทุนน้ำมันฯ สถานการณ์ยิ่งแย่

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะพิจารณาแนวทางปรับราคา ตลอดจนเดือน มิ.ย.จนถึงปัจจุบันได้พยายามดำเนินการอีก 2 แนวทางเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาขายปลีก แต่ด้วยสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ พบว่าไม่น่าจะดำเนินการได้ ประกอบด้วย แนวทางแรกการส่งหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบกลางปี 67 วงเงิน 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ดีเซล 6,000 ล้านบาท และแอลพีจี 500 ล้านบาท เป็นตามที่ ครม.อนุมัติไว้ภายใต้เงื่อนไขให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ดูแลราคาน้ำมันและแอลพีจีก่อน แต่เบื้องต้นได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการว่างบกลางฯ มีจำกัด อาจไม่สามารถนำมาดูแลราคาดีเซลและแอลพีจีได้

ส่วนอีกแนวทางต้องเสนอกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลลงในอัตราที่เหมาะสม เบื้องต้นจากท่าทีของกระทรวงการคลังไม่ตอบรับการลดภาษีดังกล่าว เพราะจำเป็นต้องจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด