โดยหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงทบทวนและร่วมกันแก้ไขปัญหา ทำข้อตกลงร่วมกันถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)หรือ CEA โดยศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center) จัดแสดงวัสดุ “Road to Net Zero : Low Carbon Material มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยวัสดุคาร์บอนตํ่า” นำเสนอนวัตกรรมวัสดุคาร์บอนตํ่าให้กับนักออกแบบ ผู้ประกอบและผู้สนใจ
ดร.ดารารัตน์ เมฆเกรียงไกร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยวัสดุจาก TCDC และผู้ดูแลศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ Material & Design Innovation Center และ Material ConneXion Bangkok กล่าวว่า จากการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป “Storytelling for Sustainable Design and Products” กิจกรรมอบรมองค์ความรู้การบริหารจัดการคาร์บอน เพื่อพัฒนาวัสดุและผลิตภัณฑ์สู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โดยนำวัสดุของผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปเข้าฐานข้อมูลและจัดแสดงวัสดุในงาน Road to Net Zero: Low Carbon Material แสดงนวัตกรรมวัสดุและกระบวนการที่สามารถพัฒนาวัสดุคาร์บอนตํ่าจากเศษวัสดุ และวัสดุธรรมชาติที่มีแนวทางการพัฒนาไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นวัสดุทางเลือกให้แก่ ผู้สนใจสามารถนำไปใช้ ทั้งเป็นแรงบันดาลใจพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน
“การแสดงผลงานเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัสดุและนวัตกรรมวัสดุ ฯลฯ โดยปีนี้ในธีมของ Road to Net Zeroเราจัดอบรมให้ความรู้การบริหารจัดการคาร์บอน โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบ 23 รายเข้าร่วมกิจกรรมและนำผลงานจัดแสดง ส่วนครั้งที่ 2 ขณะนี้เปิดรับสมัครผู้สนใจร่วมกิจกรรม Incubation & Material Showcase : Road to Net Zero กิจกรรมบ่มเพาะองค์ความรู้การบริหารจัดการคาร์บอนเพื่อพัฒนาวัสดุและผลิตภัณฑ์สู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 ก.ค. นี้ ร่วมเรียนรู้เนื้อหาหัวข้อต่าง ๆ อาทิ องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการคาร์บอน การชดเชยคาร์บอน ทั้งมีโอกาสนำเสนอวัสดุเข้าฐานข้อมูลวัสดุไทยและจัดแสดงผลงานและเล่าเรื่องนวัตกรรมวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการจัดแสดงครั้งต่อไป ณ ห้อง Material & Design Innovation Center”
นวัตกรรมวัสดุและกระบวนการที่สามารถพัฒนาวัสดุคาร์บอนตํ่าไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้เข้าร่วมในกิจกรรมที่จัดแสดง ชิ้นงานแสดงถึง แนวคิด waste การนำมาใช้เพื่อลดปริมาณขยะ โดยมีความพยายามหมุนเวียนวัสดุให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุดในกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานตํ่า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ธรรมชาติ อย่างเช่น waste จากขยะอาหาร จากโลหะเหลือจากการหลอมเหลือทิ้ง วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ฯลฯ
อีกส่วนหนึ่ง แสดงถึงวัสดุที่นำมาใช้ เทคโนโลยี อาทิ ไบโอเรซินเพื่องานย้อมผ้า วัสดุทางเลือกที่ได้จากยางไม้ เป็นนวัตกรรมที่ใช้ร่วมกับการออกแบบกระบวนการย้อมผ้ากับแอลกอฮอล์เพื่อลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลพิษทางนํ้าหลังจากสิ้นสุดกระบวนการย้อมผ้า อีกทั้งแอลกอฮอล์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในการย้อมผ้าครั้งต่อไปได้ เป็นกระบวนการย้อมผ้าตามธรรมชาติที่ไม่ต้องอาศัยนํ้าและพลังงานความร้อน
พลาสติกกัญชงชีวภาพ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกแบบธรรมชาติทำจากแกนของกัญชงซึ่งมีปริมาณเซลลูโลสสูงเพียงพอที่จะทำพลาสติกได้ มีความทนทานและแข็งแรง ฟิล์มรับประทานได้ ผลิตจากวัตถุดิบในส่วนที่รับประทานได้ทั้งหมดฯลฯ รวมทั้งจัดแสดงตัวอย่าง นวัตกรรมวัสดุคาร์บอนตํ่าจากต่างประเทศ เป็นทางเลือกการนำไปใช้การเข้าถึงวัสดุใหม่ ๆ ร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืน.