เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะ กมธ.การสวัสดิการสังคม พร้อมด้วย น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ คณะ กมธ.วิสามัญงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 สส.กทม. พรรคก้าวไกล รับหนังสือจากนางสุนี ไชยรส ประธานเครือข่ายขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และ คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กทั่วหน้า 450 องค์กร เรื่องงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม ในการขอติดตามงบประมาณสวัสดิการเด็กผู้ สูงอายุ คนพิการสตรี ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี พ.ศ. 2568 ตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

นางสุนี กล่าวว่า โดย ขปส. มีข้อเสนอการขับเคลื่อนยกระดับนโยบายสวัสดิการโดยรัฐ ด้านสวัสดิการกลุ่มเปราะบางโดยการบรรจุงบประมาณในร่างงบฯ 68 ดังนี้ 1. เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจำนวน 0-6 ปี ในปี 2567 มีจำนวน 3,267,293 คน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยเรื่อยเมื่อมีมติให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจำนวน 600 บาทต่อคนต่อเดือน จะใช้งบประมาณจำนวน 23,525 ล้านบาท ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ตั้งเงินอุดหนุนเด็กไว้แล้ว 16,846 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเพิ่มงบงบประมาณเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้ถ้วนหน้าตามมติเพียงประมาณ 6,679 ล้านบาทเท่านั้น

นางสุนี กล่าวต่ออีกว่า 2. เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ จำนวนสตรีมีครรภ์ประมาณการเบื้องต้นจากเด็กแรกเกิดโดยปี 2569 มีประมาณการเด็กแรกเกิด 475,874 คนจึงประมาณการสตรีมีครรภ์ในปี 2568 จำนวน 475,874 คนใน เบื้องต้น ดังนั้นตามมติที่ให้เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ห้าเดือน เดือนละ 3,000 บาทจะใช้งบประมาณปี 2568 ประมาณ 7,260 ล้านบาท 3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุในปี 2567 ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท จำนวน 11.38 ล้านคน เมื่อมีมติให้ปรับปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1000 บาทต่อคนต่อเดือนแบบถ้วนหน้าจะใช้งบประมาณปี 2568 จำนวน 136,560, ล้านบาท 4. เบี้ยคนพิการจำนวนคนพิการในปี 2567 ได้รับเบี้ยความพิการ 800 บาท จำนวน 2.14 ล้านคน เมื่อมีมติให้ปรับเพิ่มเบี้ยความพิการให้กับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทุกคน 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน แต่จะใช้งบประมาณปี 2568 จำนวน 25,680 ล้านบาท

นางสุนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเคยยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล และได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แต่มติในการประชุมงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2568 ที่เข้าสู่การประชุมสภาในวันนี้ ยังไม่มีทั้ง 4 ข้อเสนอที่ตนกล่าว วันนี้ตนจึงมายื่นหนังสือต่อประธานคณะ กมธ.การสวัสดิการสังคมให้ช่วยติดตาม เพราะทั้ง 4 ข้อเสนอ อยู่ในเรื่องของสวัสดิการสังคม 

ด้านนายณัฐชา กล่าวว่า ปัญหาในขณะนี้คือ เงินเด็กถ้วนหน้า 600 บาท ซึ่งจำนวนเด็ก 3.3 ล้านคน ที่ต้องได้รับ 600 บาททุกคนตั้งแต่อายุ 0 ถึง 6 ขวบ ในส่วนของความคืบหน้างบประมาณปี 2568 นั้น ยังไม่มีความคืบหน้าออกมา มีเพียงแค่ประกาศในงบประมาณประจำปี 2567 มีการจัดสรรงบประมาณ 17,000 ล้านบาท ให้เด็ก 2.5 ล้านคน แต่เรามีเด็กที่เข้าเกณฑ์รับเงิน 600 บาทต่อเดือนมากกว่า 4 ล้านคน หมายความว่า ตั้งแต่เริ่มอนุมัติงบประมาณ มีเด็กแรกเกิดตกหล่นอย่างแน่นอนถึง 1.5 ล้านคน องค์กรภาคประชาสังคมในหลายภาคส่วน ได้ทำการติดตามงบประมาณเงินเด็กถ้วนหน้าในปี 2568 ว่าจะสามารถประกาศให้ทราบถ้วนหน้าได้หรือไม่ 

น.ส.ศศินันท์ กล่าวว่า วันนี้คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. มีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ของกระทรวงกลาโหม จำนวน 200,293 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 5,179 ล้านบาท ในการประชุมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 หรือ 2568 ตนจะพูดเรื่องสวัสดิการสังคมทุกครั้ง ซึ่งเห็นได้ว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหม และงบประมาณของสวัสดิการมีความต่างกัน ตนก็ย้ำว่าไม่ใช่ประเทศเราไม่มีงบประมาณ เพียงแต่ว่าอาจขาดการจัดสรรที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม กมธ. ได้พิจารณาเกี่ยวกับงบประมาณฯ สวัสดิการไปแล้ว และทราบว่า พม. ได้รับการจัดสรรงบจำนวนน้อย ดังนั้น กมธ. จะขอติดตามและเร่งผลักดันงบสวัสดิการเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้รับงบประมาณอุดหนุนโดยถ้วนหน้าต่อไป ส่วนข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ ตนเคยถามในที่ประชุมสภาอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วาระแรก แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบมากลับมา.