รายงานข่าวจากสำนักวิจัย กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ตลาดค้าปลีกออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) ในไทยหลังโควิด-19 คาดจะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจาก 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 7.5 แสนล้านบาทในปี 68 ซึ่งเฉพาะในปี 63 ที่ผ่านมาอี-คอมเมิร์ซไทย ขยายตัวถึง 80% จากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะข้อจำกัดล็อกดาวน์จากผลกระทบโควิด โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และหมวดอาหารและสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่การใช้จ่ายด้านการจองโรงแรมและการเดินทางหดตัวอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ภาครัฐสามารถสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เพื่อยกระดับผลิตภาพในภาคบริการ สร้างงานในภาคธุรกิจใหม่ และสร้างการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมแก่ธุรกิจรายย่อย ผ่านการส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานและลดขั้นตอนและกฎระเบียบ เช่น ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโลจิสติกส์ในประเทศ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการจัดตั้งคลังสินค้าสมัยใหม่แบบครบวงจร

ขณะเดียวกันสามารถสนับสนุนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และการจัดเก็บภาษีบนธุรกิจออนไลน์อย่างโปร่งใสและเป็นระบบ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกรรมค้าปลีกออนไลน์ในอนาคต และขยายตลาดค้าปลีกออนไลน์ให้ไปไกลกว่าตลาดในประเทศผ่านการลดขั้นตอนและกฎระเบียบระหว่างแดน เพื่อให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทย สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต 470 ล้านคนในอาเซียนได้

ทั้งนี้ในปัจจุบันตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย แต่มูลค่าใช้จ่ายต่อผู้ใช้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยอี-คอมเมิร์ซไทยและอาเซียนมีโอกาสเติบโตสูงต่อเนื่องจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80% ของประชากร, การใช้โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในกลุ่มเจนวาย และเจนแซด และบริการชำระเงินออนไลน์ที่แพร่หลายในอาเซียน โดยไทยเป็นประเทศที่มีการใช้บริการธนาคารผ่านมือถือ หรือโมบายแบงก์กิ้ง และการชำระเงินผ่านมือถือสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกตามลำดับ

ขณะที่รูปแบบค้าปลีกออนไลน์ในไทยเปลี่ยนไปเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซรวมของไทย ซึ่งธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้านสามารถปรับกลยุทธ์ไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และขยายโอกาสการเติบโตในคราวเดียวกัน ในภาวะที่สูตรสำเร็จของธุรกิจค้าปลีกเปลี่ยนจากการมีทำเลที่ตั้งที่ใกล้แหล่งผู้บริโภค, ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย และประสบการณ์หน้าร้าน ถูกแทนที่ด้วยการส่งสินค้าถึงบ้าน, คะแนนรีวิวและยอดขาย และการสอบถามและบริการผ่านการสนทนาออนไลน์