สำนักข่าวรอยเตอร์และเอพี รายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ว่า นายโนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น เดินทางพร้อมด้วยเครื่องเซ่นไหว้ เข้าสักการะดวงวิญญาณชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงคราม ภายในศาลเจ้ายาสุคุนิ ย่านใจกลางกรุงโตเกียว เมื่อวันศุกร์ การเยือนศาลของนายคิชิ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนแรก นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 เกิดขึ้น 2 วัน ก่อนถึงวันครบรอบ ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ ในสงครามโลกครั้งที่ 2

นายคิชิซึ่งเป็นน้องชายของอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังเสร็จพิธีการไหว้ ว่า เป็นเรือ่งปกติที่ประชาชนของทุกประเทศ จะเคารพกราบไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะผู้ที่เสียสละชีวิตในการสู้รบเพื่อประเทศชาติ

Japan’s Economy Minister Yasutoshi Nishimura, center, visits Yasukuni shrine in Tokyo, Friday, Aug. 13, 2021. Economy and fiscal policy minister Yasutoshi Nishimura, in charge of pandemic measures, visited the shrine separately on Friday. (Kyodo News via AP)

ในช่วงบ่าย นายยาสึโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและนโยบายการคลังญี่ปุ่น ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 เดินทางพร้อมด้วยคนสนิท เข้าไหว้สักการะศาลเจ้ายาสุคุนิเช่นกัน โดยนิชิมูระกล่าวว่า ที่เลือกมาไหว้วันนี้ก็เพราะ ต้องการหลีกเลี่ยงการเบียดเสียด ในวันครบรอบ 15 ส.ค.

ในช่วงเย็นวันศุกร์ กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ในกรุงโซล ได้เชิญนายนาโอกิ คุมาไก อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเกาหลีใต้ เข้าพบ เพื่อประท้วงการเยือนศาลเจ้าอื้อฉาวของ 2 รัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลญี่ปุ่น ที่โซลระบุว่า “เกินกว่าน่าตำหนิ” ส่วนแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ระบุว่า เกาหลีใต้รู้สึกเสียใจและวิตกอย่งายิ่ง ที่รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นเข้าไหว้สักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ แม้รัฐบาลเกาหลีใต้จะกล่าวย้ำอย่างต่อเนื่อง ถึงความจำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์ เกาหลี-ญี่ปุ่น แบบใหม่และมีอนาคต

ความสัมพันธ์ระหว่างโซลกับโตเกียว ยังอยู่ในระดับต่ำนานหลายปี จากหลายปัญหาขัดแย้ง ที่เกี่ยวพันกับการยึดครองคาบสมุทรเกาหลีของกองทัพญี่ปุ่น ระหว่างปี พ.ศ. 2453 – 2488

เกือบ 8 ทศวรรษหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาลเจ้ายาสุคุนิยังคงเป็นสัญลักษณ์โดดเด่น ของตำนานสงครามในเอเชียตะวันออก และเป็นชนวนตึงเครียดยืดเยื้อกับจีนและ 2 เกาหลี ศาลยาสุคุนิเป็นที่เก็บอัฐิและบันทึกรายชื่อ ชาวญี่ปุ่นเกือบ 2.5 ล้านคน ที่เสียชีวิตในสงครามในอดีต รวมถึงผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพญี่ปุ่น 14 คน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกศาลสัมพันธมิตร พิพากษาในปี 2491 ให้เป็น “อาชญากรสงคราม” ระดับหัวแถว (Class A).

เครดิตภาพ – REUTERS, AP
เครดิตคลิป – Arirang Issue