สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ว่านายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ผู้นำบังกลาเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งอาศัยอยู่รวมกันอย่างแออัด ที่ค่ายผู้ลี้ภัย ในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ตั้งแต่ปี 2560 “ต้องเดินทางกลับมาตุภูมิ” เนื่องจาก “กลุ่มคนเหล่านี้คือชาวเมียนมา”
อย่างไรก็ตาม นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ด้านความมั่นคงตามแนวพรมแดนระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศบ่งชี้ว่า “ยังไม่ปลอดภัยและเหมาะสมเพียงพอ” ที่จะให้ชาวโรฮีนจาจำนวนมากเดินทางกลับไป และกล่าวด้วยว่า ยูเอ็นมีความวิตกกังวลต่อกระแสต่อต้านโรฮีนจา ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในบังกลาเทศ แม้ในระหว่างลงพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่เมืองค็อกซ์ บาซาร์ มีรายงานว่า ชาวโรฮีนจาจำนวนหนึ่งต้องการให้สหประชาชาติ “รับประกันความปลอดภัย” ในการเดินทางกลับเมียนมา
ทั้งนี้ รัฐบาลและกองทัพบังกลาเทศย้ายชาวโรฮีนจาหลายพันคน ออกจากเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ไปยังเกาะบาซัน หรือเธนการ์ ตั้งอยู่นอกชายฝั่ง บริเวณปากแม่น้ำเมฆนา ในอ่าวเบงกอล ระหว่างปี 2563-2564 โดยเป็นไปตามแผนการที่รัฐบาลบังกลาเทศ ซึ่งประกาศครั้งแรกเมื่อปี 2558 เพื่อระบายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาออกจากเมืองค็อกซ์ บาซาร์ เนื่องจากศูนย์พักพิงเริ่มรองรับไม่ไหว
กระนั้น ยูเอ็นและหลายฝ่ายวิจารณ์อย่างหนัก เกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ของเกาะแห่งนี้ ซึ่งเพิ่งโผล่ขึ้นสู่ผิวน้ำ เมื่อปี 2549 โดยสภาพพื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินตะกอน มีขนาดเพียง 52 ตารางกิโลเมตร และเผชิญกับอุทกภัยบ่อยครั้ง.
เครดิตภาพ ; GETTY IMAGES