“ทีมข่าวอาชญากรรม” ชวนกะเทาะเปลือกพัฒนาการหลอก หลักการเล่นกับใจ และทำอย่างไรสังคมจะรับมือกับเชื้อหลอกนี้ได้ดีขึ้น กับ ร.ต.อ.กิตติภูมิ เกิดมั่น ที่ปรึกษาประจําคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการบังคับใช้และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเริ่มจากการสะท้อนว่าแชร์ลูกโซ่ไม่ใช่เรื่องใหม่
สังเกตจากกฎหมายที่มีตั้งแต่ปี 2527 แสดงว่าปัญหามีมาก่อนหน้านี้ เพียงแต่รูปแบบปรับตัว และมีความคล้ายกับธุรกิจขายตรง การจะแยกให้ออกจึงต้องสืบสวนสอบสวนเชิงลึกไปถึงเส้นทางการเงิน การบัญชี ว่าธุรกิจนั้นให้ความสำคัญกับการ “ชี้ชวนให้ลงทุน” หรือ “ให้ใช้สินค้า” ไปกระทั่งเงินที่ปันผลให้ผู้บริหารระดับบนว่า มาจากสมาชิกหรือผู้ลงทุนระดับล่างกว่าหรือไม่
การจะลดความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อได้ ต้องยกประโยคที่ว่า “Too good to be true” หรือ “ดีเกินกว่าจะเป็นเรื่องจริง” มาอธิบายว่า หากเกิดความคิดนี้ในหัวเมื่อใด ต้อง “เอ๊ะ” ไว้ก่อน แล้วค่อยไปมอง “จุดร่วม” อย่างการโชว์ภาพลักษณ์หรูหราของผู้เชิญชวน เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ รถยนต์ บ้าน ตัวเงินที่ได้ หรือตำแหน่งหน้าที่และสถานะในสังคม เมื่อเห็น “จุดร่วม” เหล่านี้ต้อง “อย่ารีบเชื่อ” และมองให้ลึกกว่าภาพลักษณ์ภายนอก
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งที่แชร์ลูกโซ่คงอยู่มาทุกยุคสมัยมีหลายปัจจัย โดยหลักคือปัจจัยจิตวิทยาและปัจจัยทางสังคม คือ “การเล่นกับความต้องการ” ที่อยากได้อยากมีของมนุษย์ บวกกับความอยากได้ “ผลลัพธ์” แบบเร็วๆ ลงทุน-ลงแรงน้อย รวมถึงการให้ข้อมูลทางเดียวแบบสังคม “กึ่งปิด” แล้วถูก “คอนเฟิร์ม” ด้วยบุคคลที่น่าเชื่อถือ
เหล่านี้คือส่วนผสมระหว่างความต้องการ ซึ่งมนุษย์มีติดตัวตามสัญชาตญาณ เสริมแรงด้วยปัจจัยทางสังคม อิทธิพลรอบข้าง หล่อหลอมให้ตัดสินใจทำบางอย่าง รวมถึงพฤติกรรมที่ปัจจุบันเรียกกันว่า FoMo : Fear of Missing Out คือ การกลัวจะพลาดโอกาส กลัวตกเทรนด์ ตามทฤษฎีอิทธิพลทางสังคม (Social Influence Theory)
“ทำให้หลายคนอยากมีชีวิตในฝัน อยากเปลี่ยนแปลงฐานะทางลัดโดยไม่ต้องเหนื่อย แบบที่เห็นตัวอย่างที่โชว์ จึงหลงเชื่อคำชักชวนที่อาจไม่ทันได้รู้ว่า มีความเสี่ยง และผลลัพธ์ที่อาจไม่เป็นอย่างที่ต้องการ”
หากให้เทียบแรงจูงใจผลตอบแทน-เชื่อถือบุคคล แบบใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน ร.ต.อ.กิตติภูมิ วิเคราะห์การจูงใจด้วยผลตอบแทนสูง บ้าน รถยนต์ สิ่งของหรูหรา ถือเป็นความต้องการปกติของคนทั่วไปอยู่แล้ว หากมีคนปกติมาชักจูง ชี้ชวน อาจยังคิดและตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุมีผล ตามทฤษฎี Rational Choice Theory แต่เมื่อใดมีบุคคล เช่น ศิลปิน ดารา ผู้มีอาชีพน่าเชื่อถือในสังคม รวมถึงบุคคลที่เคารพนับถือมาช่วยสนับสนุนและยืนยัน
จุดนี้ยิ่งทำให้เกิด “อคติ” บดบังวิธีคิดที่มีเหตุมีผล ทำให้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้าร่วม ตามทฤษฎีจิตวิทยา Confimation Bias คือ อคติในการยันสิ่งที่เชื่ออยู่แล้ว ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อขึ้นกว่าการโชว์ชีวิตหรูหรา หรือผลตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว
พร้อมมองมิติกฎหมายที่ต้องปรับตัว เนื่องจากคดีบางอย่างในทางกฎหมาย “ข้อหาเดิม” แต่เป็นการกระทำ “รูปแบบใหม่” เป็นความเปลี่ยนแปลงที่วงการอาชญาวิทยา เรียกว่า “อาชญากรรมอุบัติใหม่” (Emerging Crimes) ซึ่งแนวโน้มซับซ้อนขึ้น ทำเป็นขบวนการ มีเทคโนโลยีสนับสนุนการกระทำหรือปกปิด ทำให้เกิดช่องว่างที่ไม่สามารถป้องกันตั้งแต่ “ก่อน” เกิดเหตุได้อย่างมีประสิทธิผล
ดังนั้น มอง 2 มิติกฎหมายที่ต้องพิจารณาคือ 1.ประสิทธิผลกฎหมาย ว่าเพียงพอช่วยลดอาชญากรรมอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เช่น พิจารณาประเด็นเรื่องโทษ เบาไปหรือไม่, ทำให้ผู้ที่จะก่อเหตุไม่มีความเกรงกลัว, ข้อความในกฎหมายชัดเจนหรือไม่ ยกตัวอย่าง ความคลุมเคลือ ในกรณีที่ต้องมีการตีความ เมื่อมีความ “ก้ำกึ่งระหว่างผิดกับไม่ผิด” เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายก็เกรงว่าจะใช้อำนาจเกินขอบเขตแล้วถูกฟ้อง ทำให้ไม่กล้าดำเนินการ เป็นต้น
2.ประสิทธิภาพ คือ การบังคับใช้กฎหมายต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่เข้มงวดเพียงพอหรือไม่, ขาดความร่วมมือ บูรณาการระหว่างหน่วยงานหรือไม่, ขาดแคลนบุคลากร อุปกรณ์ หรือการฝึกอบรม หรือมีการให้ความรู้ประชาชน เพื่อป้องกันเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ เสนอแก้ไข 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ประเด็นกฎหมาย หากมีส่วนที่ต้องทำให้ชัดเจน หรือออกกฎหมายใหม่ก็ควรดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขนาดใหญ่ซ้ำรอย 2.ประเด็นทางอาชญาวิทยา เห็นควรมีมาตรการควบคุมอาชญากรรมอุบัติใหม่ เช่น การแต่งตั้ง “คณะกรรมการป้องกันอาชญากรรมอุบัติใหม่” หรือกำหนดเพิ่มหน้าที่ใน “คณะกรรมการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ที่อาจกำลังจะปรากฏในกฎหมายใหม่ ให้บทบาทกำหนดนโยบาย เฝ้าระวัง ควบคุม และพิจารณาข้อร้องเรียนที่เกิดความเสียหาย หรือมีแนวโน้มเสียหายรุนแรง
3.ประเด็นนวัตกรรมทางสังคม เพื่อสร้างเป้าหมายสู่ “สังคมแห่งการฟื้นคืนความเข้มแข็ง” ผ่านการติดกระดุมเม็ดที่ 1 คือ สังคมแห่งความตระหนักรู้ เมื่อมีเหตุความเสียหาย ผู้คนในสังคมช่วยกันแจ้ง ช่วยกันแชร์ ช่วยกันให้ความรู้ เม็ดที่ 2 คือ สังคมแห่งภูมิคุ้มกัน เมื่อเจอเหตุที่เคยเตือนมาก่อนก็ไม่ตกเป็นเหยื่อ ไม่โดนหลอก หรือโดนหลอกแล้ว ไม่เชื่อ ไม่จ่าย ไม่เสียหาย และเม็ดที่ 3 สังคมแห่งการฟื้นคืนความเข้มแข็ง คือ เมื่อเกิดเหตุเสียหายใหม่ๆ ที่ไม่มีการคาดคิดมาก่อน จะพร้อมปรับตัว ฟื้นฟูกลับมาเข้มแข็งได้อย่างรวดเร็ว.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน