นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำยางในตลาดที่มีความผันผวนในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำยางสดลดลงร่วม 16 บาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความกังวลใจ และตั้งคำถามว่าทำไมราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลง โดยปกติราคาน้ำมันสูงราคายางจะสูงตามไปด้วย และตั้งข้อสังเกตว่าค่อนข้างผิดปกติ เกษตรกรได้รับผลกระทบ เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น ทั้ง เนื้อหมู ไก่ สินค้าอุปโภคต่างๆ รวมถึงปุ๋ยที่นำมาใส่ต้นยางพารา แต่ราคายางกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงกลายเป็นที่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้เร่งด่วน เพราะกระทบต่อปากท้องชาวสวนยาง

“ จากสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ อยากขอทำความเข้าใจ ราคาที่เกษตรกรขายได้ในขณะนี้นั้น ยังสูงกว่าราคาประกันของรัฐบาล และราคายางที่มีปัญหาในขณะนี้ คือ ราคาน้ำยางสดเท่านั้น โดยลดต่ำกว่าเดิม โดยการที่ราคาน้ำยางสดในช่วงก่อนนี้ที่มีราคาสูงขึ้น ต้องถือว่า เป็นเรื่องที่ผิดปกติ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ของ กยท. พบว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ผู้ส่งออก ต้องมีการเร่งส่งสินค้าตามสัญญาล่วงหน้า ทำให้ต้องไล่ซื้อผลผลิต ดังนั้นจากสถานการณ์โดยรวมแล้ว ตอนนี้ชนิดของยางพาราที่มีปัญหาด้านราคาคือ น้ำยางสด ซึ่งมีราคาลดลงจากช่วงก่อน ตามสาเหตุที่กล่าว ทั้งนี้น้ำยางสดนั้น ถือว่าเป็นสัดส่วนสินค้าเพียงร้อยละ 10 ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งในภาพรวมแล้ว ต้องถือว่าเป็นการปรับฐานด้านราคาเข้าสู่ภาวะปกติเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ของทุกปีที่ผ่านมา”

นายณกรณ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญขณะนี้ คือ ขอให้เกษตรกรได้เข้าใจถึงสภาวการณ์ด้านราคายางที่เกิดขึ้นว่า เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ ดังนั้นจึงต้องตั้งสติ อย่าตกใจ อย่าตื่นตระหนักและนำมาสู่การแย่งกันขาย จะส่งผลทำให้เกิดการใช้โอกาสจากความตื่นตระหนก จากการที่เกษตรกรได้เร่งเทขายผลผลิต กลายเป็นช่องว่างในการฉวยโอกาสทำให้เกิดการกดราคา ซึ่งในช่วงจากนี้มีปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยเสริมทำให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้น อาทิ การเกิดพายุตามคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่จะทำให้การกรีดยางได้น้อยลง เป็นต้น”

นายณกรณ์ กล่าวนายณกรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขอให้เกษตรกรมั่นใจกับมาตรการ และการทำงานของ กยท. เพราะได้มีแนวทาง และแผนงานการแก้ไขและช่วยเหลือไว้อย่างพร้อมเพียง ตามมาตรการต่างๆ ไม่ว่า โครงการชะลอขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นโครงการรองรับเมื่อเกิดภาวะราคาผันผวน โดยเกษตรกรสามารถเก็บรวบรวมยางไว้ขายในเวลาที่ราคาเหมาะสมได้ ซึ่งที่ผ่านมายางก้อนถ้วยที่เข้าร่วมโครงการสามารถทำกำไรเพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาตลาดเฉลี่ย 4.30 บาทต่อกิโลกรัม โครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ(ยางแห้ง)วงเงิน 20,000 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี เพื่อช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต เป็นต้น

“ สิ่งที่ กยท.ขอเน้นย้ำกับเกษตรกรชาวสวนยางพารา เพื่อเป็นทางออก สร้างความยั่งยืน คือ ต้องมีการบริหารผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยเกษตรกรชาวสวนยางใช้โอกาสนี้ ในการหันมาปรับเปลี่ยนการผลิตยางชนิดอื่นนอกเหนือจากการขายน้ำยางมากขึ้น โดยดูความต้องการของตลาดในแต่ละห้วงเวลา ซึ่งมีหลายกลุ่ม หลาย สหกรณ์ได้ประสบความสำเร็จให้เห็นตัวอย่างแล้วตลอดช่วงที่ผ่านมา” นายณกรณ์ กล่าวในที่สุด