“เทรนด์รักษาหุ่น” ด้วยวิธี “เลือกกิน” นั้น ปัจจุบันมีหลากหลายแนวทางให้ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีกระแส “กินคีโต” ติดอันดับ “เทรนด์ฮิต” ด้วย อย่างไรก็ตาม กับการ “กินคีโต” นั้น ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ-ลดน้ำหนักด้วยรูปแบบการกินวิธีนี้ ก็ จำเป็น “จะต้องศึกษา-ทำความเข้าใจ” ก่อนที่จะปฏิบัติ เช่นกัน เนื่องจากวิธีนี้ก็ “มิใช่ว่าจะเหมาะกับทุกคน” ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีกรณีหนุ่ม
คนหนึ่งถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลหลังจาก “กินคีโตลดน้ำหนัก” ซึ่งก็สะท้อนว่า…

กินเพื่อดูแลสุขภาพร่างกายนั้น “ต้องศึกษาให้ดี”

กรณีนี้กับบางคนอาจดี…แต่ “กับบางคนก็อาจแย่!!”

ต้องศึกษาว่า “กินคีโตให้ปลอดภัยนั้นต้องกินอย่างไร?”

ทั้งนี้ “คำแนะนำวิธีกินคีโตให้ปลอดภัย” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อในวันนี้นั้น… เรื่องนี้ ผศ.(พิเศษ) พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลคำแนะนำผ่านบทความที่เผยแพร่ทาง เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้ว่า… แนวทางการบริโภคเพื่อลดน้ำหนักในปัจจุบันมีหลายวิธี ส่วนใหญ่ก็มักเน้นกินอาหารจำพวกผัก ปลา และเลี่ยงไขมัน แต่ก็มีวิธีลดน้ำหนักอีกแบบที่ได้รับความนิยม นั่นคือ “การกินคีโต” ซึ่งเป็น “วิธีกินลดน้ำหนักแบบสวนกระแส” เนื่องจากยกให้ “ไขมันเป็นตัวเอก” ในทุก ๆ มื้ออาหาร

“หัวใจหลักของการกินคีโตคือการลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสุขภาพและการรักษาโรค เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานบางชนิดที่ต้องการให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำหนัก” …ทาง ผศ.(พิเศษ) พญ.พัชญาให้ข้อมูลไว้

พร้อมกับอธิบายถึง “การกินแบบคีโต” นี้ไว้อีกว่า… “คีโต” มาจากคำว่า… “คีโตเจนิก ไดเอต (Ketogenic diet)” หมายถึง การลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล และให้น้ำหนักกับการบริโภคไขมันและโปรตีน โดยหลักลดน้ำหนักด้วยการกินคีโตนั้นมีหลักสำคัญจากการที่คนเรานั้นเมื่อกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต อย่างพวกแป้ง หรือข้าว อาหารเหล่านี้จะถูกย่อยให้กลายเป็นน้ำตาลเพื่อเป็นพลังงานหลักของร่างกาย แต่ เมื่อลดการกินคาร์โบไฮเดรตลง ร่างกายก็จะหันไปเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้แทน กลายเป็น “สารคีโตนบอดี้ส์ (Ketone Bodies)” ซึ่งเป็น “ที่มา” ของ “ชื่อคีโต” นั่นเอง

“แล้วจะกินอย่างไร?” จึงจะสามารถ “ลดน้ำหนักได้ผล” เรื่องนี้ทางคุณหมอสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสมท่านเดิมอธิบายไว้ว่า… การกินแบบคีโตจะเน้นกินอาหารจำพวกไขมันและโปรตีนเป็นหลัก ควบคู่ไปพร้อมกับ ลดสัดส่วนการกินอาหารประเภทคาร์โบ ไฮเดรต เช่น แป้ง ข้าว น้ำตาล ให้เหลือเพียง 5% หรือเฉลี่ยกินแค่ 20-50 กรัมต่อวัน หรือแทบจะไม่มีอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในมื้ออาหารเลย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิด “ภาวะคีโตซิส (Ketosis)” หรือ ภาวะที่ร่างกายนำพลังงานจากไขมันในร่างกายมาใช้เป็นแหล่งพลังงานหลัก …เป็นคำอธิบายอีกส่วนเกี่ยวกับการกินวิธีนี้

“เหตุใดการกินคีโตจึงเน้นกินอาหารประเภทไขมันและโปรตีน??” กับปุจฉานี้ทางคุณหมอพัชญาได้อธิบายไว้ว่า… เพราะ ไขมันและโปรตีนมีส่วนทำให้รู้สึกอิ่มนาน และ สารคีโตนบอดี้ส์มีคุณสมบัติช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้เกิดการจำกัดปริมาณแคลอรีในแต่ละมื้อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม คุณหมอเน้นย้ำไว้ว่า… แม้การกินคีโตจะเน้นบริโภคไขมัน ทว่าก็ไม่ใช่จะสามารถกินไขมันได้ทุกประเภท แต่ต้องเลือกบริโภคไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

“ไขมันในอาหาร” นั้น…แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว หรือ “ไขมันดี” ซึ่งส่วนใหญ่พบได้ใน ปลาที่มีไขมันมาก และพืชผัก เช่น ปลาทะเล แซลมอน อโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน ถั่วเหลือง น้ำมันงา เป็นต้น กับ 2.อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ที่จะ “มีทั้งไขมันดีและไขมันเลวอยู่ด้วยกัน” ที่ส่วนใหญ่จะพบใน เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และพืชบางชนิด พบได้ในเนื้อสัตว์ ไก่ น้ำมันหมู โยเกิร์ต เนย ชีส กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น โดยแม้ไขมันทั้ง 2 ประเภทก็มีประโยชน์ แต่ หากกินมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกาย มากกว่า…

ที่สำคัญ…แม้กินคีโตจะดีต่อสุขภาพ แต่ก็ “มีผลข้างเคียง” และ “ไม่ได้เหมาะสมกับทุกคน” โดยเฉพาะกับ ผู้มีโรคประจำตัว…จะต้องระวังเป็นพิเศษ และควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจาก อาจเกิดอันตรายจากการกินคีโตได้ ทั้งนี้ กินคีโตเป็นการกินที่มีความเฉพาะเจาะจง เน้นลดสารอาหารบางประเภท ดังนั้น ถ้ากินไม่ถูกต้องก็อาจจะเกิดผลข้างเคียง ดังนี้…

เกิด ไข้คีโต (Keto Flu) จากการเกิดภาวะคีโตซิสมากไป โดยจะรู้สึกเหมือนเป็นไข้ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย, ขาดสารอาหาร จากการลดปริมาณอาหารบางประเภทมากเกินไป, ท้องผูก ขาดน้ำและแร่ธาตุ จากการขับสารคีโตนบอดี้ส์ออกทางปัสสาวะ อีกทั้งการกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่ต่ำนั้น ทำให้ได้รับกากใยไม่เพียงพอ จนเกิดอาการท้องผูกได้, สมองล้า จนทำให้ความจำสั้น และไม่ค่อยมีสมาธิ, ผิวมัน-เป็นสิว อันเนื่องจากการกินไขมันบางชนิดมาก

และอีกผลข้างเคียงที่มีการระบุไว้คือ… โยโย่เอฟเฟกต์เมื่อหยุดกินคีโต ที่ถึงแม้กินคีโตแล้วน้ำหนักจะลดลงรวดเร็ว แต่เมื่อหยุดกินแล้วใช้ชีวิตแบบเดิม หรือกินอาหารที่ไม่ใช่การกินคีโตเต็มรูปแบบ น้ำหนักก็อาจเพิ่มกลับขึ้นมา …เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปจากที่
ผศ.(พิเศษ) พญ.พัชญา อธิบายไว้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจดูแลร่างกายด้วย “วิธีกินแบบคีโต” นำไปใช้…

เป็น “แนวทาง” ในการ “กินเพื่อสุขภาพที่ปลอดภัย”

ย้ำว่า “คีโต” แม้ “กินแล้วดี…แต่ก็ไม่ใช่กับทุกคน” …

และ “ไม่ศึกษาก่อนกิน” บางคนก็ “กินแล้วแย่!!” .