“ความปกติใหม่” หรือ New Normal” ในวันนี้อาจไม่ได้หมายถึง “โลก”ที่เราต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับ “โรค” อย่าง Covid-19 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการปรับตัวกับสภาวะ VUCA world” ที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน มีความสลับซับซ้อน และความคลุมเครือ จนยากที่ศาสตร์หรือองค์ความรู้ในปัจจุบันจะพยากรณ์หรือคาดเดาได้

ด้วยเหตุนี้คำว่า “EF” หรือ “Executive Function” จึงได้ถูกพูดถึง และมีข้อสรุปที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็น “ทักษะ” ที่มีความสำคัญที่สุดในการสร้างให้มนุษย์คนหนึ่งๆ ให้มีคุณสมบัติและมีศักยภาพที่พร้อมจะรับมือและอยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้

แล้ว “EF” หรือ “ทักษะการคิดในเชิงบริหาร” นั้นจะสร้างได้อย่างไร คำตอบนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง นั่นก็คือ… “การเล่น”

สร้างคนรุ่นใหม่ด้วยการ “เล่น”

“วันนี้มีข้อมูลว่าเด็กไทยเกิดน้อยลง โดยในปี2564ลดลงเหลือเพียง 5.4 แสนคนเท่านั้น และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ  ในขณะที่สังคมไทยก็ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กไทยที่มีน้อย ได้เกิดขึ้นมาอย่างมีคุณภาพและมีศักยภาพ”   

นพ.อุดม อัศวุตมางกูร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย ได้กล่าวสรุปไว้ใน งานประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการเล่นเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพ พร้อมกับระบุอีกว่า

“วันนี้เราทุกคนสามารถออกแบบได้ว่าเด็ก 5.4 แสนคนที่เกิดมานั้น เราอยากให้เขาเป็นอย่างไร เพราะเด็กในวัย 0-5 ปี เขาจะเป็นอะไร ล้วนเกิดจากการที่เราทุกคนหยิบยื่นให้กับเขาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เราจะช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างไรเพื่อให้เด็กรุ่นต่อไปได้เติบโตขึ้นมาอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจากการวิจัยในกลุ่มเด็กอายุ 2-6ปี ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ราชบุรี และนครศรีธรรมราช เราพบว่า การเล่นนั้นสามารถส่งเสริมพัฒนาการ และทักษะการคิดในเชิงบริหารได้ ดังนั้นหน้าที่ของเราในวันนี้ก็คือ การช่วยกันสร้างโลกของเด็กๆ ให้โลกของเขาน่าอยู่”

“โครงการวิจัยนวัตกรรมรูปแบบการส่งเสริมการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและทักษะเด็กไทยในศตวรรษที่ 21” จึงเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.), มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.), สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ในการร่วมมือกันดำเนินงานพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านการเล่น ภายใต้การขับเคลื่อน “โครงการเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในระหว่างการเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมว่า เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกเป็นการทำงานที่จะเกิดผลลัพธ์ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า โดยจะเกิดขึ้นเป็นคุณภาพของประชากร และคุณภาพของประเทศในอนาคต

“หัวใจสำคัญของการเล่นเปลี่ยนโลกนั้นประกอบไปด้วย 4P ได้แก่ Play space, Play worker, Play process และ Play management unit ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเรื่องของการเล่นไปสู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคุณภาพของเด็กปฐมวัยในทุกพื้นที่ ด้วยการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นกับ ครอบครัว ผู้ปกครอง ให้เกิดการมีส่วนร่วมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพราะช่วงเวลา 0-6 ปีนั้นเป็นเวลาทองของชีวิตที่สมองจะมีการพัฒนามากที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ จะได้สั่งสม เรียนรู้ และพัฒนาการไปพร้อมกับการเลี้ยงดู โดยการเล่นนั้นจะก่อให้เกิดการพัฒนาครบทุกมิติทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา”

เรื่องเล่นๆ สร้างทักษะการคิดเชิงบริหาร

“การเล่นคืองานของเด็ก และการเล่นคือหน้าที่ของเด็กปฐมวัย โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF ของเด็กคือ 3-6 ปี ที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาทองที่สมองจะมีการเติบโตและพัฒนามากที่สุด โดย EF เป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่จะพัฒนา EF นั้นจะต้องลงมือทำผ่านการเรียนรู้จากกิจกรรมที่หลากหลาย(Active learning) เรียนรู้ผ่านการเล่นที่มีกฎกติกา(Sports & Play) เรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างอิสระ(Free play) เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ(Do It Yourself) และเรียนรู้ผ่านการแก้ไขปัญหา(Problem-based learning)”

ผศ.ดร.กันนิกา เพิ่มพูนวัฒนา จาก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึงแนวทางของการเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงบริหารหรือ EF ที่สามารถทำได้ด้วยการออกแบบกระบวนการเล่นที่ให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วม

โดยแนวคิดในเรื่องของการ “เล่น” เพื่อเสริมสร้างทักษะและพัฒนาการให้กับเด็กปฐมวัยนั้น แม้ว่าในปัจจุบันอาจจะยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนัก ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยของโรงเรียนอนุบาลราชบุรี

“ที่โรงเรียนของ เราไม่เอาเรื่องอ่านเขียนมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย แต่เราเน้นในเรื่องของพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน เราไม่เร่งเรียนเขียนอ่าน แต่เน้นการเจริญเติบโตพัฒนาการสมวัย โดยแนวทางการออกแบบกระบวนการเล่นเปลี่ยนโลกของทางกรมอนามัยนั้นตอบโจทย์ของโรงเรียน  และทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราคิดนั้นมาถูกทาง การเล่นนั้นใช้ในการเสริมสร้างพัฒนาของเด็กๆ ได้จริง”

คำยืนยันของ จักรพงษ์ พระไชยบุญ รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลราชบุรี ที่สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่ถึงแม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องหยุดอยู่บ้านเรียนออนไลน์ แต่เมื่อทำความเข้าใจร่วมกับผู้ปกครอง ก็สามารถสร้างพื้นที่เล่นและพื้นที่เรียนรู้ขึ้นได้ภายในบ้านเพื่อให้สมองและพัฒนาการของเด็กๆ ไม่จำเป็นหยุดไปด้วย

“การเล่นแบบอิสระที่เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมช่วยกันคิดช่วยทำ ออกแบบการเล่นของตัวเองและเพื่อนๆ เห็นผลชัดเจนมากในเรื่องของพัฒนาการ ช่วงที่โรงเรียนปิด ต้องเรียนออนไลน์ แต่เด็กๆ ยังได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่บ้าน โดยเราได้ทดลองแนวคิดของการเล่นเปลี่ยนโลกกับเด็ก 3 กลุ่มคือกลุ่มที่อ่อน ปานกลาง และเก่ง ซึ่งพบว่าเด็กกลุ่มแรกนั้นมีพัฒนาการทางด้านร่างการที่ดี คล่องแคล่ว มีความคิดและความอยากที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถออกแบบการเล่นได้ด้วยตนเอง”  ปิยรัตย์  โลดโดด ครูจากโรงเรียนอนุบาลราชบุรีระบุถึงผลดีของการเล่น

“ความสุข” คือกุญแจเปิดประตูสู่การเรียนรู้

โดยแนวคิดของการเล่นเปลี่ยนโลกถูกพัฒนาขึ้นมาโดยใช้ Concept 3F ซึ่งประกอบไปด้วย Family คือการเล่นกับครอบครัว เพื่อน ผู้เลี้ยงดูเด็ก ที่มีทักษะสร้างแรงจูงใจในการเล่น  Free คือการเปิดโอกาสให้เด็กเล่นอิสระตามความต้องการอยากจะเล่น โดยมีมุมเล่น ลานเล่น สนามเด็กเล่น ที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน ให้เด็กได้เล่นที่ไหนก็ได้อย่างปลอดภัย และ Fun คือการเล่นให้มีความสุข สนุก โดยมีกิจกรรมและสื่อของเล่นหลากหลาย หาง่าย ไม่ซับซ้อนเป็นไปตามวัยเน้นธรรมชาติ

“เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกเป็นโครงการที่เราใช้การเล่นในการขับเคลื่อนเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วการเล่นถือว่าเป็นประเด็นในการพัฒนาเด็กที่หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญ มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ผลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเห็นตรงกันว่า กระบวนการเล่นโดยเฉพาะการเล่นแบบอิสระ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้จริง รวมถึงยังทำให้เด็กมีความสุขและมีทักษะในด้านต่างๆ ตามมา”

ทัตติยา ลิขิตวงษ์ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวถึงสถานการณ์ของการทำงานกับเด็กปฐมวัยเพื่อสร้างเสริมพัฒนาการต่างๆ ด้วยการเล่นในปัจจุบัน พร้อมกับอธิบายว่าในอดีตเรามักใช้การเรียนรู้ กิจกรรม และการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กๆ ให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนเก่งที่มีทักษะและความรู้ ต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือความสุขที่หายไปของเด็กๆ

“แต่ถ้าเราเอาการเล่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เด็กๆ ก็จะได้ในเรื่องของความสุข ได้เห็นความต้องการของตนเองว่าอยากจะเล่นอะไร เล่นแบบไหน ได้ออกแบบการเล่นด้วยตัวเอง ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเด็กมีความสุขเพิ่มขึ้น แล้วก็มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้ศึกษาพัฒนาการทางสมองและพบว่า ถ้าเด็กๆ มีความสุขในการเล่น สมองจะเปิด พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การสอน ทักษะชีวิต ดังนั้นถ้าเราใช้กระบวนการเล่นโดยเฉพาะในช่วงเวลาทองของเด็ก ก็จะช่วยให้เด็กๆ มีความสุข ใยสมองของเด็กจะแตกแขนงและขยายตัว และพร้อมที่จะเรียนรู้”

ด้าน ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่าในโลกยุคใหม่ ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเรากำลังอยู่ในโลก VOCA World ความรู้ที่มีในวันนี้อาจจะใช้ไม่ได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เรื่องของการเล่น เข้ามาเป็นวิธีการหลักของการเรียนรู้และทำให้เกิดความสุขควบคู่ไปด้วย โดยความสุขนั้นเป็นพื้นฐานของจิตใจที่เข้มแข็งเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ ความผันผวน และความไม่แน่นอน ความเข้มแข็งของจิตใจที่ถูกสั่งสมเอาไว้ในวัยเด็กจะช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น

“สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความสุขคือความเครียด ความเครียดจะทำลายสมองของเด็ก ทำให้สมองไม่ไม่พัฒนา เราจึงจำเป็นต้องมาขับเคลื่อนเรื่องของการเล่น โดยเฉพาะการเล่นโดยให้เขามีอิสระหมายถึงการไม่ไปกำหนดบังคับ ให้อิสระในการเลือกว่าจะเล่นอะไร อยากเรียนรู้เรื่องอะไร ทดลองทำอะไร ผิดแล้วก็ทำใหม่ได้ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้ จะทำให้เด็กจะได้ทั้งความรู้ ความสุข ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญของการที่จะอยู่ในโลกยุคใหม่ได้”

รวมพลังร่วมพัฒนาศักยภาพเด็กไทย

ซึ่งการเล่นอย่างอิสระตามแนวทางของการเล่นเปลี่ยนโลกนั้น ไม่ได้เป็นแนวคิดที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินและงบประมาณแต่อย่างใด แต่เป็นแนวคิดที่เพียงต้องอาศัยความเข้าใจในการสร้างหรือออกแบบพื้นที่ของการเล่นอิสระให้กับเด็กๆได้อย่างเหมาะสม ของใกล้ตัวทุกชนิดรวมไปถึงวัสดุในธรรมชาติสามารถนำมาเป็นของเล่นเพื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กได้ โดยไม่ต้องซื้อหา

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการผลักดันและขยายผลในเรื่องของความรู้และความเข้าในเรื่องของการเล่นอย่างอิสระเพื่อเสริมสร้างทักษะและพัฒนาเด็กปฐมวัยออกไปสู่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งครอบครัว สถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมไปถึงฝ่ายนโยบายของภาครัฐ

“สสส.จะผลักดันใน 3 เรื่องคือ การเล่นอิสระ กิจกรรมทางกาย และการพัฒนามนุษย์ตัวน้อยๆ ให้มีทักษะและความพร้อมสำหรับการเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นและวัยทำงานในอนาคต โดยมีแนวคิดที่จะแสวงหาความร่วมมือกับภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ ในการมาร่วมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาเด็กๆ เพื่อให้เกิดเป็นความร่วมมือแบบพหุภาคีในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้มีนโยบายที่เอื้อและเป็นมิตรต่อการที่พ่อและแม่จะสามารถดูแลครอบครัวและลูกหลานของเขาได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการเล่นเปลี่ยนโลกในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เกิดพื้นที่เล่นและเรียนรู้ที่ดีขึ้นแล้ว ในระยะยาวความยั่งยืนของโครงการจะอยู่ตรงที่เราจะสามารถทำให้พ่อและแม่สามารถดูแลลูกอย่างมีคุณภาพด้วยตัวเขาเองได้อย่างไร ซึ่งงานวิจัยของกรมอนามัยระบุชัดว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กสูงขึ้น เมื่อมีการนำเอาเรื่องของการเล่นเปลี่ยนโลกไปใช้ที่บ้าน  ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้ใหญ่ในบ้านที่ต้องมีเวลาและมีความเข้าใจในเรื่องนี้” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวสรุป

เพราะการเล่นคือความสุขของเด็ก  ดังนั้นต้องทำ“เรื่องเล่น” ให้เป็น “เรื่องใหญ่”